"ศ.ดร.สุชาติ" การทำให้เศรษฐกิจเติบโต 5-6% รัฐบาลควรตั้งกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็น 3-4% โดยเพิ่มปริมาณเงิน, ลดดอกเบี้ย ทำให้การลงทุนเพิ่มขึ้นและทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงแข่งขันได้, จะทำให้การส่งออกการท่องเที่ยว และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้น
วันที่ 20 พ.ค.67 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญ Macro-econometrics ได้นำเสนอว่า
1.หากรัฐบาลต้องการให้ระบบเศรษฐกิจไทยเติบโตสูงขึ้น มีความสามารถในการผลิต (Potential GDP) เป็น 5-6% นั้น อัตราดอกเบี้ย, อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน นับเป็นตัวแปรที่สำคัญ
2.อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุด หากเทียบ 10 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ค่าเงินบาทแข็งกว่าเกือบทุกประเทศในโลก เช่น แข็งกว่าสหรัฐ15%, ญี่ปุ่น45%, เวียดนาม44%, มาเลเซีย25%, อินเดีย60% และแข็งกว่าจีน, เกาหลี, อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้การส่งออกไม่เติบโต, การลงทุนจากต่างประเทศ(FDI) บินไปที่อื่นเพราะเขาซื้อค่าแรงงาน, ค่าไฟฟ้า ได้ถูกกว่า..
3.ค่าเงินบาทแข็งเกินไป เพราะปริมาณเงิน (M2)เพิ่มน้อยไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ) ของทางการสูงไปในตลอด 10 ปีทึ่ผ่านมา ทำให้เงินเฟ้อต่ำไป ค่าเงินแข็งไป ทำให้รายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวต่ำไป มีผลให้ความเจริญเติบโตของ GDP ต่ำ ซึ่งไปลดกำลังการผลิต(Capacity utilization rate) และลดความสามารถในการผลิต (Potential GDP) ให้อยู่ในระดับต่ำเพียง 2-3%
4.ผู้ว่าแบงค์ชาติต้องการให้รัฐบาลไปเพิ่ม Potential GDP โดยตรงเลย โดยให้รัฐบาลเพิ่มโครงสร้างบริการพื้นฐาน (Infrastructure) ให้เอกชนเพิ่มการลงทุนใช้เทคโนโลยี่ใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาและไม่ง่าย เพราะเครื่องมือเครื่องจักรเกือบทั้งประเทศ ยังใช้ไม่เต็มที่เลย ยังไม่มีเงินกำไรมากพอซื้อเทคโนโลยีใหม่
5.รัฐบาลต้องการเพิ่มความเจริญเติบโตของ GDP ด้วยการเพิ่มเงินใหม่ โดยโครงการ Digital wallet 500,000 ล้านบาท นอกจากจะติดขัดด้านกฎหมายแล้ว หากแบงค์ชาติไม่ยอมให้ปริมาณเงิน (M2) เพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ก็เท่ากับว่า รัฐบาลไปกู้หรือไปเก็บภาษีมามากขึ้น ในขณะที่ M2 มีเท่าเดิม ซึ่งจะทำให้ปริมาณเงินที่เอกชนและประชาชนใช้อยู่ลดน้อยลง จึงอาจเกิดปัญหาการแย่งเงินกัน (Clouding out effect) ซึ่งจะทำให้ความเจริญเติบโตของ GDP แทบไม่เพิ่มขึ้น โดยยังมีข้อดีคือ เกิดการกระจายรายได้ดีขึ้น
6.กระผมขอเสนอให้กระทรวงการคลังและแบงค์ชาติปรับกรอบเงินเฟ้อจาก 1-3% ในปัจจุบัน เป็น 3-4% และให้แบงค์ชาติรับผิดชอบ(Accountable) โดยดูค่าเฉลี่ยในช่วง 3 เดือนล่าสุด
7.หากตกลงกันเช่นนี้แล้ว แบงค์ชาติก็ต้องไปเพิ่มปริมาณเงิน (QE), และไปลดดอกเบี้ยทางการ เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 3-4% ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลงแข่งขันได้ดีขึ้น, การส่งออกและท่องเที่ยว, การลงทุน และ FDI ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งไปเพิ่ม GDP growth มีผลให้การใช้กำลังการผลิต (Capacity utilization) เพิ่มขึ้น มีการซื้อเครื่องมือเครื่องจักรเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งจะไปเพิ่มความสามารถในการผลิต (Potential GDP) ให้สูงขึ้นในระยะยาว
8.ความจริงประเทศกำลังพัฒนา ควรมีเงินเฟ้อ 3% กว่าๆ เพื่อให้ไปเพิ่มอัตราความเจริญเติบโตของ GDP, เพิ่มการจ้างงาน และเพิ่มค่าแรงงาน ประเทศใน ASEAN ส่วนใหญ่เงินเฟ้อเกิน 3%