โฆษกรัฐบาล ระบุ 9 เดือนแรกปี 67 ต่างชาติแห่ลงทุน 636 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท ธุรกิจแพลตฟอร์ม-ซอฟแวร์ ญี่ปุ่น มาอันดับ 1  เผ่าภูมิเผยเศรษฐกิจไทยผงกหัวขึ้น คาดการณ์ปี 68 จีดีพีไทยโตกว่า 3% 

         
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.67 นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงตัวเลขนักลงทุนต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย ว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้น แสดงถึงศักยภาพของไทยที่ได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน โดยพบว่าตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน ที่อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 636 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 143 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 493 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 134,805 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานคนไทยจากนักลงทุนที่ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 2,505 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 143 ราย คิดเป็นร้อยละ 29 มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 50,792 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 60
        
 นายจิรายุ กล่าวว่า ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก 1.ญี่ปุ่น 157 ราย (25%) เงินลงทุน 74,091 ล้านบาท 2.สิงคโปร์ 96 ราย (15%) ลงทุน 12,222 ล้านบาท 3.จีน 89 ราย (14%) ลงทุน 11,981 ล้านบาท 4.สหรัฐอเมริกา 86 ราย (13%) ลงทุน 4,147 ล้านบาท และ 5.ฮ่องกง 46 ราย (7%) ลงทุน 14,116 ล้านบาท โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
       
  สำหรับการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ของนักลงทุนต่างชาติช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติลงทุน 207 ราย (33% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตในปีนี้) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 108 ราย (109%) มูลค่าการลงทุน 39,830 ล้านบาท (30% ของเงินลงทุนทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 23,690 ล้านบาท (147%) โดยเป็นนักลงทุนจาก ญี่ปุ่น 67 ราย เงินลงทุน 13,191 ล้านบาท จีน 54 ราย ลงทุน 7,227 ล้านบาท ฮ่องกง 18 ราย ลงทุน 5,219 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ 68 ราย ลงทุน 14,192 ล้านบาท
       
  ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศคือ ธุรกิจ แพลตฟอร์ม และซอฟต์แวร์ ที่ช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และสนับสนุนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยมีสัดส่วนการลงทุนมูลค่า 28,397.26 ล้านบาท คิดเป็น 7.27% (กลุ่มแพลตฟอร์ม 11,721.44 ล้านบาท กลุ่มซอฟต์แวร์ 16,675.82 ล้านบาท) โดยต่างชาติที่มาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ สิงคโปร์ ลงทุน 9,814.28 ล้านบาท ไต้หวัน 5,953.63 ล้านบาท และ มาเลเซีย 2,237.63 ล้านบาท
        
 นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า ตัวเลขการลงทุนดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนชาวต่างชาติให้ความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ควรแก่การมาลงทุน เป้าหมายของรัฐบาล คือการหาตลาดการลงทุนใหม่ รักษาตลาดเก่า ขยายการลงทุนให้เป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ที่กระตุ้นให้เกิดการลงทุน โครงสร้างพื้นฐานที่ดี วัตถุดิบที่เพียงพอ และมีอุตสาหกรรมที่พร้อมสนับสนุนแผนการลงทุน ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทย
       
  ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง เปิดเผยในงาน BetterTrade2024 "The Next Wealth Oppertunities" มองอนาคต จับโอกาส สร้างความมั่งคั่ง จัดโดยสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย ระบุ เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วง "ผงกหัวขึ้น" คาดว่า GDP จะเติบโต 2.7-2.9% เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และมองปี 68 เศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่า 3%
       
  ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อรถกระบะ รถจักรยานยนต์ อย่างเหมาะสม เพราะหนี้ครัวเรือนระดับสูงยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล หากดูหนี้เสียของรถกระบะและจักรยานยนต์ การกระตุ้นก่อให้เกิดหนี้เสียได้ แต่การไม่กระตุ้นก็อาจทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่ฟื้นตัว สำหรับมาตรการจัดการกับหนี้ครัวเรือนที่จะออกมานั้น แม้ไม่ได้ทำให้หนี้ลดลง แต่จะช่วยลดภาระดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามขอให้รอประกาศอย่างเป็นทางการ
       
  สำหรับเศรษฐกิจไทยควรเติบโตใกล้เคียง 3% แต่มี 2 ปัจจัยหลักที่เข้ามากระทบคือ น้ำท่วมและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในช่วงไตรมาส 3/67 แม้จะเป็นพรรคเดียวกันความต่อเนื่องนโยบายไม่มีปัญหา แต่ในมิติของการทำงาน มีปัญหาในช่วงรักษาการทำให้ไม่สามารถลงนามได้ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตในไตรมาสสามออกมาต่ำกว่าคาดเล็กน้อย
        
 ส่วนเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/67 ขยายตัวได้สูงกว่า 4% หรืออยู่ในช่วง 4.0-4.5% และ ส่งผลให้ทั้งปี GDP เติบโต 2.7-2.9% จากปัจจัยที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นผ่านโครงการ 10,000 บาท
         คาดว่าในปี 68 จีดีพีจะขยายตัวได้สูงกว่า 3.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อในระดับปัจจุบันของไทยมีปัญหา เพราะต่ำกว่าเป้าหมายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายหลังการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ข้อสรุปของเงินเฟ้อในระยะต่อไปคือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1.0-3.0% มีค่ากลางที่ระดับ 2.0% มีข้อตกลงร่วมกันเพื่อพยายามผลักดันให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย หรือให้เข้าใกล้ 2.0% ซึ่งเป็นค่ากลาง มีมาตรการร่วมกัน ระหว่างกระทรวงการคลัง และธปท. เพื่อให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย
       
  นายเผ่าภูมิ ยังกล่าวด้วยว่า เสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อไทยเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยนโยบายการคลังและการเงินของไทยต้องเป็นในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก มิเช่นนั้นไทยจะได้รับผลกระทบเรื่องของค่าเงิน การส่งออก อัตราเงินเฟ้อ และกดดันภาพรวมของเศรษฐกิจ