วันที่ 17 พ.ค.2567 ที่สหกรณ์ออมทรัพย์กรมป่าไม้ ถ.พหลโยธิน กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งที่ 3 ของปี 2567 ซึ่งฝ่ายนายจ้างแสดงความไม่เห็นด้วยและไม่พอใจที่มีการแทรกแซงจากรัฐบาล ว่า เรื่องนี้มีการประชุมร่วมกันของไตรภาคี (คณะกรรมการค่าจ้าง) ที่ประกอบด้วยนายจ้าง ลูกจ้างและรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล ทั้งนี้นโยบายของรัฐบาลก็อยากจะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงาน แต่เรื่องการกำหนดเรามีไตรภาคีร่วมพิจารณาอยู่แล้ว เมื่อมติออกมาค่อยมาว่ากัน และไม่ควรมีฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ
“เขาถึงมีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคี รัฐบาลฝ่ายเดียว จะขึ้นค่าแรงก็บอกเป็นนโยบาย แต่ในการปฏิบัติต้องขึ้นอยู่กับการตกลงกันของไตรภาคี” นายอนุทิน กล่าว
เมื่อถามว่าสังคมมองว่านายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน แทรกแซงการทำงานและไม่ฟังความเห็นของไตรภาคี นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐมนตรีคนไหนไม่สนใจภาคส่วนไหนได้ ต้องสนใจทุกภาคส่วน นี่เป็นความเข้าใจของนักข่าว ส่วนนายพิพัฒน์ จะไม่สนใจไตรภาคีได้อย่างไร เพราะจะขึ้นค่าจ้างได้หรือไม่ ก็ต้องขึ้นอยู่กับไตรภาคี รัฐมนตรีคนเดียวไม่มีสิทธิจะประกาศขึ้นค่าแรงได้
เมื่อถามถึงความกังวลกรณีหากมีการขึ้นค่าจ้างอีกครั้งจริง อาจมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองโดยฝ่ายผู้ประกอบการ นายอนุทิน กล่าวว่า ทุกอย่างกว่าจะประกาศได้ จะต้องผ่านขั้นตอน เหมือนที่เวลารัฐมนตรีจะประกาศเรื่องใด ก็ต้องมีการนำเสนอโดยคณะกรรมการตามกฎหมาย อย่างสมัยที่ตนเป็น รมว.สธ. ที่ออกประกาศปลดล็อกกัญชา ก็ต้องผ่านความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ซึ่งเขียนไว้ในประกาศด้วย กรณีค่าจ้างขั้นต่ำก็เช่นกัน หากจะประกาศ รมว.แรงงานจะประกาศ ก็จะต้องเขียนว่า โดยมติของที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคี