“ธนพันธุ์“ จี้ “กสทช.” บรรจุวาระที่ “วุฒิสภา” ขอให้เร่งรัดสรรหา “เลขาธิการ กสทช.” โดยเร็วที่สุด เข้าที่ประชุมบอร์ด 23 พ.ค.นี้ ระบุ “รักษาการเลขาฯ” ที่ถูกตีตกสรรหาเลขาฯ ไม่เหมาะทำหน้าที่ต่อ
วันที่ 16 พ ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง ได้แจ้งในที่ประชุมฯ ถึงข้อห่วงใย เนื่องจากได้รับการสอบถามจากทางวุฒิสภา ว่า “คณะกรรมการ กสทช. ได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะที่ทางวุฒิสภาได้มีหนังสือ เรียน เลขาธิการ กสทช. ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.67 ที่ส่งรายงานพร้อมข้อสังเกตและข้อเสนอแนะเพื่อเสนอคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาดำเนินการต่อไปนั้น ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว?” เนื่องจากจนบัดนี้ พล.อ.ท.โท ธนพันธุ์ ยังไม่ได้รับหนังสือรายงานดังกล่าวแต่อย่างใด
ขณะที่ทางสำนักงาน กสทช.ชี้แจงว่าได้ส่งให้สำนักบุคคลฯ เตรียมความพร้อมอยู่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ เห็นว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากทางวุฒิสภาต้องการเสนอให้คณะกรรมการ กสทช.พิจารณา โดยในรายงานดังกล่าว ได้มีข้อสังเกตถึงแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายร่วมกันในฐานะที่ กสทช. เป็นองค์กรกลุ่ม ที่ต้องตัดสินใจหรือพิจารณาร่วมกันในลักษณะของ “มติคณะกรรมการ” รวมทั้งมีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับ กรณีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. จึงได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้ กสทช.พิจารณาดำเนินการ 2 ข้อ ดังนี้
1. กสทช.ในฐานะเป็นองค์กรกลุ่ม ซึ่งมีความรับผิดชอบร่วมกัน ควรเร่งรัดดำเนินการ คัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
และ 2. จำเป็นต้องมีการกำหนดระเบียบเพิ่มเติมให้รักษาการเลขาธิการ กสทช. อยู่ภายใต้การตรวจสอบ ประเมินผล และกำกับการปฏิบัติหน้าที่โดยคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎหมาย
ทั้งนี้ได้มีการถอดบทเรียนเกี่ยวกับกรณีการยินยอมให้รักษาการเลขาธิการ กสทช.เข้ารับการคัดเลือกเลขาธิการ กสทช. แต่กระบวนการคัดเลือกไม่ประสบความสำเร็จ เท่ากับว่าคณะกรรมการ กสทช.ได้พิจารณาแล้วว่า รักษาการเลขาธิการ กสทช. ไม่เหมาะสมจะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. โดยปริยายด้วยแล้ว จึงควรต้องมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลผู้ทำหน้าที่รักษาการเลขาธิการ กสทช.
หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง บุคคลนั้นยังมีอำนาจบริบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์กร เช่น การปฏิบัติงานหรือภารกิจใดๆ ของกรรมการ กสทช.ที่มิได้ลงคะแนนเสียงให้ อาจไม่ได้รับการสนับสนุนหรือขัดขวางการปฏิบัติงาน เหล่านี้อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่องค์กรและประเทศชาติอย่างคาดไม่ถึง ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับองค์กร กสทช.
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ จึงขอเสนอให้เป็นมติ กสทช. เพื่อเร่งรัดดำเนินการตามข้อเสนอแนะทั้ง 2 ข้อ ที่ทางวุฒิสภาเสนอโดยด่วน โดยให้บรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุม กสทช. ในการประชุมครั้งหน้า วันที่ 23 พ.ค.67
อย่างไรก็ตาม นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ชี้แจงว่า “มติของคณะอนุกรรมาธิการฯ (วุฒิสภา) ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมาย แล้วก็ไม่รู้ว่าผูกพันกับเรามากน้อยขนาดไหน ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องอีกประเด็นว่าการรับมาแล้วจะบรรจุในวาระเมื่อไร อย่างไร ตามสมควร ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องฟังครับ”
ท้ายที่สุด พล.อ.ท.ธนพันธุ์ จึงขอให้บันทึกเหตุผลที่ประธาน กสทช. ที่ไม่ยอมเร่งรัดให้มีการบรรจุเรื่องดังกล่าวให้ กสทช. พิจารณา ไว้ในรายงานการประชุมฯ ครั้งนี้ด้วย.