สร้างความประหลาดใจ เซอร์ไพรส์ กันไปทั่ว

สำหรับ กรณีที่ “ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย” มี “ประกาศิต” เสนอชื่อ “นายอันเดร เบลูซอฟ”ให้ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย” คนใหม่ เมื่อช่วงกลางสัปดาห์นี้ แทนที่ “พล.อ.อาวุโส เซอร์เก ชอยกู” ซึ่งนั่งเก้าอี้ “เจ้ากระทรวงที่ดูแลการทหารทั้งปวงของรัสเซีย” มาอย่างยาวนานร่วมรอบนักษัตร หรือ 12 ปี ชนิดที่กล่าวได้ว่า “ผูกขาด” ตำแหน่ง “พี่บิ๊กของเหล่าทหารหาญแห่งกองทัพรัสเซีย” นี้มาแต่เพียงผู้เดียว แบบ “เก้าอี้นี้ข้าจอง” ผูกขาดมาโดยนับตั้งแต่ปี 2012 – 2024 (พ.ศ. 2555 - 2567)

ประธานาธิบดวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย แถลงกับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่ทำเนียบเครมลิน กรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย (Photo : AFP)  

ส่วน “พล.อ.อาวุโส ชอยกู” วัย 68 ปี ที่ทางประธานาธิบดีปูติน สับเปลี่ยนโยกย้ายให้ไปนั่งเก้าอี้ “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย” แทน “นายนิโคไล พาตรูเชฟ” ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ปี 2008 (พ.ศ. 2551)

ขณะที่ นายพาตรูเชฟ ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย มานานเกือบ 17 ปีนั้น ก็ไปนั่งเป็นหนึ่งในทีมปรึกษาของประธานาธิบดีปูติน

ดังนั้น เบื้องต้นผลพวงจากคำสั่งประกาศิตของประธานาธิบดีปูติน ก็บังเกิดขึ้นกับนายเบลูซอฟ และพล.อ.อาวุโส ชอยกู ตลอดจนนายพาตรูเชฟ

นายนิโคไล พาตรูเชฟ ผู้กลายเป็นอดีตเลขาธิสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย (Photo : AFP)

ท่ามกลางความฉงนฉงาย คลางแคลงใจ ว่าเพราะเหตุใดกันแน่ที่ทำให้ประธานาธิบดีปูติน ต้องขยับปรับทัพด้านทางการทหาร ความมั่นคง กันครั้งใหญ่

ทั้งนี้ เพราะเมื่อกล่าวถึงที่มาที่ไปและความเกี่ยวข้องของทั้งสามคนต่อประธานาธิบดีปูตินแล้ว ก็ต้องถือว่า ผิดแผกแตกต่างกันออกไป

ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของนายพาตรูเชฟ วัย 73 ปี ที่เหล่านักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า ถูก “ลดชั้น” กันแบบ “ลงแรง” เมื่อเปรียบเทียบกับพล.อ.อาวุโส ชอยกู

เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายพาตรูเชฟกับประธานาธิบดีปูตินแล้ว ก็ต้องบอกว่า รู้จักกับประธานาธิบดีปูตินมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 สมัยที่ทั้งคู่เคยเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยสืบราชการลับ “เคจีบี” อดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย

และเมื่อนายปูตินก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ของประเทศรัสเซีย หลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย เขาก็ดึงนายพาตรูเชฟ ให้มาทำงานด้านความมั่นคงที่เขาถนัด จนก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้อำนวยการของหน่วยงานความมั่นคงกลาง” หรือ “เอฟเอสบี” และนั่งเก้าอี้ “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย” ตามลำดับ ซึ่งในระหว่างนี้ เขามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการทำสงครามกับ “ยูเครน” ใน “ภูมิภาคตะวันออก” จนสามารถผนวก “ภูมิภาคไครเมีย” เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของรัสเซีย เมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) และสงครามรุกรานยูเครน ที่เริ่มเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) ที่การสู้รบยังคงดำเนินมาถึง ณ ปัจจุบัน

ในส่วนของ พล.อ.อาวุโส ชอยกู กับประธานาธิบดีปูตินนั้น ก็นับเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีความสนิทใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูตินเป็นอย่างมาก โดยพล.อ.อาวุโส ชอยกู ก็ยังเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซีย ที่มีความภักดีต่อประธานาธิบดีปูติน ในทางกลับกันที่ผ่านมาประธานาธิบดีปูติน ก็ไว้เนื้อเชื่อใจต่อ พล.อ.อาวุโส ชอยกู เป็นอย่างมากอีกด้วย

พล.อ.อาวุโส เซอร์เก ชอยกู ผู้กลายเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย โดยถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย (Photo : AFP)

ดังจะเห็นได้จากการที่ พล.อ.อาวุโสผู้นี้ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซียมาอย่างยาวนาน

นอกจากนี้ ก็ยังมีภาพที่ทั้งสองถ่ายร่วมกันในการท่องเที่ยวแบบส่วนตัวในสถานที่ต่างๆ เช่น การเดินทางท่องเที่ยวแคว้นไซบีเรีย ที่ประธานาธิบดีปูติน กับ พล.อ.อาวุโส ชอยกู รวมตกปลาด้วยกันที่ลำธารแห่งหนึ่ง

พล.อ.อาวุโส เซอร์เก ชอยกู (ซ้าย) ไปตกปลากับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่ลำธารแห่งหนึ่งในแคว้นไซบีเรีย (Photo : AFP)

ขณะที่ ผลงานในฐานะเจ้ากระทรวงกลาโหม ทาง พล.อ.อาวุโส ชอยกู ก็มีบทบาทสำคัญในการทำสงครามแบ่งแยกดินแดนภาคตะวันออกของยูเครน ในช่วงปี 2014 จนถึงการสงครามรุกรานยูเครน ตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมา ถึง ณ ชั่วโมงนี้

รวมถึงบทบาทสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ยืนเคียงข้างประธานาธิบดีปูติน ในวันที่ประเทศเผชิญหน้ากับการกระด้างกระเดื่องจากกลุ่มนักรบจ้างวากเนอร์ที่กรีธาทัพยกข้ามพรมแดนยูเครนเข้ามายังรัสเซียเมื่อปีก่อน

ทว่า ประธานาธิบดีปูติน ก็ขยับปรับให้นายพลผู้นี้ไปนั่งเก้าอี้ “เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย” แล้วให้นายเบลูซอฟ วัย 65 ปี ดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงกลาโหมรัสเซียแทนที่เขา จนสร้างความประหลาดใจ เซอร์ไพรส์ไปตามๆกัน

โดยนายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน อันเป็นทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ในกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซีย เปิดเผยว่า เป็นความเหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบันในสงครามรัสเซียยูเครน จึงทำให้ประธานาธิบดีปูติน ตัดสินใจเลือกพลเรือนที่มีความรู้ ความสามารถ มาเป็นเจ้ากระทรวงกลาโหม

โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ยังบอกด้วยว่า ณ วันนี้ กระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ต้องการรัฐมนตรีที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจด้วย จากการที่สถานการณ์ของงบประมาณกลาโหมในปีนี้ มีความใกล้เคียง คล้ายคลึงกับกระทรวงกลาโหมครั้งอดีตสหภาพโซเวียตรัสเซีย ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ที่ปรากฏว่า มีสัดส่วนตัวเลขเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี ซึ่งทางการัสเซีย ณ ปัจจุบันต้องการปรับเปลี่ยนสถานการณ์งบฯ กลาโหม ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ อันจะทำให้การทำสงครามของรัสเซียต่อยูเครน มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น หากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไม่เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ โฆษกทำเนียบเครมลิน ยังเปิดเผยว่า กองทัพรัสเซีย ต้องการนวัตกรรมทางทหารใหม่ๆ ที่ทรงประสิทธิภาพในการทำสงครามสู้รบกับยูเครน ซึ่งการสงคราม ณ ปัจจุบันนี้ ความล้ำสมัยด้านนวัตกรรมทางทหารเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ได้รับชัยชนะ ซึ่งนายเบลูซอฟ ถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ของรัสเซีย

นายทิมูร์ อีวานอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชัน (Photo : AFP)

ขณะเดียวกัน ทางด้านบรรดานักวิเคราะห์แสดงทรรศนะ ที่นอกจากจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่โฆษกทำเนียบเครมลินมาเปิดเผยแล้ว ก็ยังมีเรื่องทีมงานรัฐมนตรีชุดเก่า มีปัญหาเรื่องคอร์รัปชัน เช่นกรณีของคนระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นคนสนิทของ พล.อ.อาวุโส ชอยกู คอร์รัปชัน จนกลายเป็นหนึ่งในปัญหาของกองทัพรัสเซีย ที่ทำให้รัสเซียไม่สามารถได้รับชัยชนะเหนือยูเครนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง ประธานาธิบดีปูติน หารัฐมนตรีคนใหม่ที่มาช่วยดูแลเงินของกระทรวงกลาโหมไม่ให้มาขโมยไปง่ายๆ เฉกเช่นแต่ก่อน