รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าส่งเสริมและผลักดันการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมร่วมเป็นประธานเปิดงานเสวนาเชิงนโยบายประจำปี “GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า” ซึ่งจัดขึ้นโดย แกร็บ ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านกลยุทธ์ “T.R.A.V.E.L.” พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน อันได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “การทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถือเป็นเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปีนี้ ซึ่งนอกจากการที่กระทรวงต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Tourism Hub หรือศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค เรายังต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็น Aviation Hub ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 ตามนโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ทำให้ทางกระทรวงมีการตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท
โดยการที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งทางกระทรวงต้องขอขอบคุณ แกร็บ ประเทศไทย ที่จัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุน ผลักดัน การเดินทางท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทยด้วยดีเสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่างๆ จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง
ในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนำพาเศรษฐกิจไทยให้เจริญรุดหน้าต่อไป”
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐบาลเร่งผลักดันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญคือการพลิกฟื้นการท่องเที่ยว และตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจ แกร็บจึงได้จัดงาน GrabNEXT เพื่อนำความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี และความแข็งแกร่งของอีโคซิสเต็มของแกร็บที่ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเติมเต็มและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไร้รอยต่อ ผ่านกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมายังประเทศไทย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและมหภาค และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน”
ทั้งนี้เพื่อเป็นการสานต่อแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการยกระดับการท่องเที่ยวให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ แกร็บจึงได้เผยกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
•Technological Integration การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว:
นักท่องเที่ยวในกลุ่ม F.I.T. (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ แกร็บ จึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางไปจนถึงการอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยว อาทิ หน้าจอต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจ และวางแผนการเดินทางบนแอปพลิเคชัน Grab ตั้งแต่ก่อนมาถึงประเทศไทย การพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีหลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี หรือ การเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันชั้นนำให้สามารถใช้บริการเรียกรถของ Grab ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง WeChat Booking.com และ Trip.com ได้ รวมถึง การขยายช่องทางการชำระเงินดิจิทัลผ่าน Alipay และ Kakao Pay
•Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว:
ความปลอดภัยเป็นปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พัก หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่างๆ ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว แกร็บ จึงได้ยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย อาทิ ฟีเจอร์ Safety Centre สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือ หรือ ฟีเจอร์ Audio Protect เพื่อบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง มาตรการด้านความปลอดภัย ด้วยการคัดกรองและอบรมพาร์ทเนอร์คนขับ การกำหนดมาตรฐานกาให้บริการที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัย และการทำประกันเพื่อคุ้มครองทั้งผู้โดยสารและพาร์ทเนอร์คนขับ และสุดท้ายกับการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย ที่ล่าสุด แกร็บได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
•Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง:
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากรายได้จากการท่องเที่ยวเมืองรองในปีที่ผ่านที่เติบโตขึ้นถึง 38% ดังนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังจังหวัดในเมืองหลักและเมืองรองได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แกร็บ จึงได้มุ่งสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อด้วยบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันที่มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ทั้งยังได้ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ
•Valuable Experiences การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ:
ความเป็นเลิศในด้านการบริการที่สอดแทรกเสน่ห์ของความเป็นไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดและพิชิตใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวในทุกเที่ยวการเดินทาง แกร็บ จึงได้พัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ทเนอร์คนขับผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ GrabAcademy ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการ การสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการ GrabCar Premium ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมอบความสะดวกสบายสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับนักท่องเที่ยวในทุกการเดินทาง
•Environmentally Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก:
การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน แกร็บ จึงได้มุ่งพัฒนาและนำเสนอตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น การริเริ่มโครงการ Grab EV ที่ส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการเรียกรถ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร และการพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น
•Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น:
การดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่า 65% ของนักท่องเที่ยวให้ความสนใจที่จะมาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การไปเทศกาลประจำจังหวัดต่างๆ การได้ลิ้มลองอาหารพื้่นบ้าน หรือการอุดหนุนสินค้าชุมชน ดังนั้น แกร็บ ในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อย และพาร์ทเนอร์คนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่น และวัฒนธรรมไทยในมิติต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านการทำหนังสือไกด์บุค Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การโปรโมทอาหารไทยเมนูเด็ดจากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นต้น
ภายในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “พลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ทเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือถึงแนวทางในการผลักดันท่องเที่ยวให้ตอบรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ทิศทางและอนาคตการท่องเที่ยวของประเทศไทย การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยของการท่องเที่ยว การสนับสนุนประสบการณ์ท้องถิ่นชูจุดเด่นซอฟต์พาวเวอร์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม