เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 พ.ค. 67 นายสัญญา เนื้อนุ่ม หัวหน้าสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดชุมพร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดชุมพร สำนักงานสาขาชั่งตวงวัดชุมพร  ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรหลังสวน ร.ต.ท. โชคชัย รัตนพันธ์ รอง สว. (ป.) สภ.หลังสวน หัวหน้าชุดปฏิบัติการ (ร้อยเวร20) ส.ต.อ. ธวัชชัย สุขสานติ์ และด.ต.สมเจตต์ ศรัทธาธรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้าขายทุเรียนริมทาง ถนนเอเชีย 41 (ขาขึ้น กทม.) ตรงข้ามโลตัสหลังสวน ต.ขันเงิน อ.หลังสวน จ.ชุมพร
       

เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนผ่าน กรมการค้าภายในกรณีซื้อทุเรียนหมอนทองจากแผงทุเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่อำเภอหลังสวน จำนวน 2 ลูก ราคากิโลกรัมละ 100 บาท โดยทางร้านได้ชั่งน้ำหนักทุเรียน 2 ลูกรวมกันได้ 16.4 กก. ซึ่งมีการแสดงน้ำหนักที่ชั่งให้เห็นชัดเจน จึงไม่ได้ติดใจและชำระเงินให้กับร้านค้า รวมราคา 1,640 บาท ด้วยการโอนเงินผ่านระบบธนาคาร
         

จากนั้นจึงได้นำทุเรียนไปส่งให้แม่ที่อยู่ต่างจังหวัด กับบริษัทขนส่ง ก่อนพบข้อมูลการส่งพัสดุของบริษัทขนส่ง ปรากฏน้ำหนักของทุเรียนรวมกล่องบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 11.68 กิโลกรัม ซึ่งไม่ตรงกับตาชั่งที่ร้านทุเรียนจึงขอให้ตรวจสอบตาชั่งร้านขายทุเรียนดังกล่าวด้วย 
         

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปซื้อทุเรียนร้านค้าที่ถูกร้องเรียน พร้อมถ่ายคลิปวิดีโอไว้ทั้งหมดว่าแม่ค้ามีพฤติกรรมอย่างไร ซึ่ง ทราบชื่อภายหลังคือ น.ส.สุภาพร (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 43 ปี บ้านเลขที่ 124/113 ต.ประสงค์ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และพบว่าแม่ค้ารายนี้ จะใช้สก็อตเทปสีดำปิดที่เครื่องชั่งดิจิตอลตรงส่วนที่เป็นการแสดงน้ำหนักและส่วนที่เป็นราคาต่อหน่วยจะโชว์แค่ส่วนที่เป็นราคารวม 
         

สมมุติว่าลูกค้านำทุเรียนวางที่ตาชั่ง 1 กก. แม่ค้าก็จะกดราคาไว้ที่ประมาณ 1.3 บาท พอคูณกับ 1 กก. ก็จะเป็นราคาที่ลูกค้าต้องจ่าย ซึ่งถ้าเราไม่สังเกตก็จะคิดว่าตัวเลขที่เห็นบนตาชั่งเป็นน้ำหนักของทุเรียน ก็จะนำไปคูณกับราคาทุเรียนอีก 100 บาท ซึ่งเป็นเทคนิคของแม่ค้าที่ทำให้เราสับสน นอกจากนี้จากการสอบถามแม่ค้าทุเรียน ทราบว่าทุเรียนที่จำหน่ายนั้นมาจากนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ไม่ใช่ทุเรียนชุมพรแต่อย่างใด
         

โดยนายสัญญา เนื้อนุ่ม ได้เปิดเผยว่า จากกรณีร้องเรียนนั้น เราได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าร้านค้าทุเรียนดังกล่าวมีการทำความผิดเรื่องการใช้ตาชั่งที่ไม่ถูกต้องจริงหรือไม่ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้ค้าทุเรียนมีพฤติกรรมโกงตาชั่งตามที่มีผู้ร้องเรียนไป ซึ่งจะมีโทษตาม พ.ร.บ.ชั่งตวงวัดพ.ศ.2542 มาตรา 70 ซึ่งใช้เครื่องชั่งที่ไม่มีเครื่องหมายการรับรอง มาตรา 79 ใช้เครื่องชั่งที่ผิดอัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดและมาตรา 75/1 มีการดัดแปลงแก้ไขเครื่องชั่ง รวมถึงกฎหมายอาญามาตรา 271 ขายของโดยหลอกลวงประชาชนโทษสูงสุดคือ จำคุก 7 ปี ปรับเงิน 280,000 แสนบาท ซึ่งก็ได้นำตัวผู้ต้องหา ส่งมาที่สถานีตำรวจภูธรหลังสวนเพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อไป