รายงานออกมาเป็นที่เรียบร้อย สำหรับ ผลการสำรวจคะแนนนิยมของชาติต่างๆ ที่มีต่อประเทศชั้นนำของโลกครั้งล่าสุด ที่ในที่นี้หมายเอา 3 ประเทศ ยักษ์ใหญ่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ซึ่งดำเนินการสำรวจโดย “ลาตานา” บริษัทด้านวิเคราะห์วิจัยและให้คำปรึกษาด้านต่างๆ อันมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเยอรมนี ประเทศเจ้าของฉายา อินทรีเหล็ก และบริษัทแห่งนี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับ “พันธมิตรแห่งประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นองค์กรนอกภาครัฐ หรือเอ็นจีโอ ภายใต้การกุมบังเหียนโดยนายอันเดอร์ส ฟ็อกห์ ราสมุสเซน อดีตเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต

โดย “ลาตานา” ดำเนินการสำรวจภายใต้ชื่อหัวข้อ “ดัชนีการรับรู้ประชาธิปไตย 2024 (พ.ศ.2567)” ซึ่งทางทีมงานสอบถามความคิดเห็นจากพลเมืองในประเทศกลุ่มตัวอย่างใน 53 ประเทศ ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ เอเชีย ยุโรป ละตินอเมริกา หรืออเมริกาใต้ และตะวันออกกลางคาบเกี่ยวแอฟริกาเหนือ หรือที่เรียกว่า มีนา ผลออกมาดังนี้

“สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่ยังคงถูกยกให้เป็นมหาอำนาจหมายเลขหนึ่งของโลก ทั้งในด้านการทหาร และเศรษฐกิจ ปรากฏว่า ความนิยมชมชอบของพลเมืองโลกที่มีต่อชาติมหาอำนาจแห่งนี้กลับลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ โดยผลรวมเฉลี่ยทั่วโลกเหลืออยู่ที่ร้อยละ 22 เท่านั้น ลดลงจากปีที่แล้ว คือ 2023 (พ.ศ. 2566) ที่ได้ร้อยละ 27

ส่วนผลการสำรวจแยกย่อยเป็นรายภูมิภาคของโลกเรา ปรากฏว่า ในภูมิภาคเอเชียเรา ความนิยมชมชอบที่มีต่อสหรัฐฯ ก็ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 26 ต่ำกว่าปีที่แล้วที่เคยได้ร้อยละ 29

เช่นเดียวกับ ภูมิภาคอเมริกาใต้ หรือละตินอเมริกา อันเป็นภูมิภาคบ้านใกล้เรือนเคียงของสหรัฐฯ ที่อยู่ภูมิภาคอเมริกาเหนือ ปรากฏว่า คะแนนนิยมของสหรัฐฯ ก็ลดต่ำเหลือ 43 จากเดิมปีที่แล้วที่ร้อยละ44

ไม่เว้นแม้กระทั่งภูมิภาคยุโรป ที่เปรียบเสมือนเป็นคู่หู พันธมิตรของสหรัฐฯ แต่คะแนนนิยมในการสำรวจในปีนี้ก็เหลือเพียงร้อยละ 10 ลดลงจากปีที่แล้วที่เคยได้ร้อยละ 18

ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคตะวันออกกลางคาบเกี่ยวแอฟริกาเหนือ หรือมีนา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่สหรัฐฯ เคยเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลเป็นอย่างมากนับตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมานั้น ปรากฏว่า ความนิยมชื่นชอบของประชาชนภูมิภาคแห่งนี้ ก็ต้องบอกว่า ดิ่งเหวหนักที่สุด โดยตัวเลขเรตติงล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 20 เท่านั้น ลดลงอย่างฮวบฮาบจากปีที่แล้วที่เคยได้ถึงร้อยละ 32 หรือลดลงถึง 12 จุด ด้วยกันในช่วงระยะห่างเพียงปีเดียวเท่านั้น

สาเหตุปัจจัย ที่ทำให้ความชื่นชอบที่มีต่อสหรัฐฯ ตกต่ำในสายตาชาวโลก ก็คือ การที่สหรัฐฯ ภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีโจ ไบเดน” ผู้นำสหรัฐฯ ในยุคนี้ ที่ให้การสนับสนุนเป็นประการต่างๆ รวมทั้งด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหลายต่อ “อิสราเอล” ในการทำสงครามสู้รบกับกลุ่ม “ฮามาส” ในพื้นที่ฉนวนกาซา หรือที่เรียกกันว่า “สงครามกาซา” ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางคาบเกี่ยวกับแอฟริกาเหนือ หรือมีนา ที่มีมุมมองต่อสหรัฐฯ จากสาเหตุปัจจัยนี้หนักที่สุด เนื่องจากพื้นที่สมรภูมิของสงครามข้างต้น อยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง กอปรกับความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อผู้ได้รับความเดือดร้อนหนักที่สุด คือ ชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นมุสลิมด้วยกัน ส่วนคู่สงคราม คือ อิสราเอล เป็นกลุ่มคนต่างศาสนา

มีรายงานว่า กระแสต่อต้านสงครามฉนวนกาซา ที่กำลังสัประยุทธ์กันอยู่นี้ ยังจะส่งผลต่อคะแนนนิยมของประธานาธิบดีไบเดน ในทางการเมือง จากการที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีนี้กันอีกด้วย ส่งผลให้บรรดาทีมงานของพรรคเดโมแครต ที่ประธานาธิบดีไบเดน สังกัดอยู่ ดูจะมีทีท่าว่าจะวิตกกังวลมิใช่น้อย ภายหลังจากผลการเลือกตั้งซ่อม และเลือกตั้งท้องถิ่นของอังกฤษ ประเทศคู่หูพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ปรากฏผลออกมาว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคอนุรักษ์นิยมรัฐบาลลอนดอน พ่ายแพ้ให้แก่พรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้าน เนื่องจากประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อย ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอังกฤษ ที่ให้การสนับสนุนต่ออิสราเอลในการทำสงครามกาซาด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ทางด้านคะแนนแนนนิยมของประเทศจีน และรัสเซีย ปรากฏผลออกมาว่า ทั้งสองชาติพี่เบิ้มยักษ์ใหญ่ ได้รับความนิยมชมชอบเพิ่มขึ้นตามการสำรวจของลาตานา

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน และภริยา เดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศส ในภูมิภาคยุโรป (photo : AFP)

โดยคะแนนนิยมของประเทศจีนนั้น เริ่มมาจาก “ติดลบ” ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่เสมอตัว คือ ร้อยละ 0 ตามเส้นกราฟ ก่อนทะยานปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 5 สำหรับ ความคิดเห็นค่าเฉลี่ยโดยรวมทั่วโลก

เมื่อแยกย่อยไปในแต่ละภูมิภาค ปรากฏว่า ในเอเชียก็อยู่ที่ร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ร้อยละ 10

เช่นเดียวกับภูมิภาคมีนา ซึ่งคาบเกี่ยวกันระหว่างตะวันออกกลางกับแอฟริกาเหนือ ในปีนี้นั้นก็อยู่ที่ร้อยละ 30 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 19

ส่วนภูมิภาคละตินอเมริกา หรืออเมริกาใต้ ปรากฏว่า ปีที่แล้วอยู่ที่ร้อยละ 15 พอมาถึงในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 24

นอกจากนี้ ก็ยังมีภูมิภาคยุโรป ที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ได้เดินทามาเยือนไปหมดๆ นี้ ปรากฏว่า จีนมีคะแนนนิยม “ติดลบ” น้อยลงในสายตาของชาวยุโรป จากเดิมปีที่แล้วติดลบที่ร้อยละ 23 (-23%) มาในปีนี้ขยับขึ้นมาอยู่ที่ติดลบร้อยละ 22 (-22%)

สาเหตุปัจจัยที่ทำให้คะแนนนิยมของจีนดีขึ้นมา ก็ด้วยเรื่องการระดมเม็ดเงินเข้าไปลงทุนในหลายประเทศ จะช่วยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น แม้ว่าการลงทุนดังกล่าว แลกมาด้วยอะไรหลายๆ อย่าง รวมทั้งทรัพยากรในประเทศของพวกเขาก็ตาม

การประท้วงต่อรัสเซีย และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในฐานะผู้ก่อสงครามรุกรานยูเครน (Photo : AFP)

ขณะที่ คะแนนนิยมของรัสเซีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชาติพี่เบิ้มใหญ่ ในสายตาชาวโลก ปรากฏว่าดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ จากเดิมที่ปีที่แล้วติดลบร้อยละ 19 (-19%) ก็ขยับขึ้นมาที่ติดลบร้อยละ 14 (-14%) ในปีนี้ เมื่อแยกย่อยไปในแต่ละภูมิภาค ปรากฏว่า เอเชียชื่นชอบต่อรัสเซีย ในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ได้เพียงร้อยละ 9 เท่านั้น เช่นเดียวกับภูมิภาคมีนา ที่มองรัสเซียเป็นบวกมากขึ้นในปีนี้มาอยู่ที่ร้อยละ 15 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ร้อยละ 3 ในปีที่แล้ว ส่วนในภาพลักษณ์ของรัสเซียที่มีต่อละตินอเมริกา ก็ติดลบลดลงจากปีที่แล้วติดลบร้อยละ 18 (-18%) เหลือเพียงติดลบร้อยละ 8 (-8%) เท่านั้น มีเพียงภูมิภาคยุโรปเท่านั้น ที่มองภาพลักษณ์ของรัสเซียติดลบยิ่งกว่าแต่ก่อน จากเดิมปีที่แล้วติดลบร้อยละ 49 (-49%) ดิ่งหนักลงไปอยู่ที่ติดลบร้อยละ 53 (-53%) อันเป็นผลพวงจากความไม่พอใจที่รัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กรีธาทัพยกข้ามพรมแดนเข้ามารุกรานยูเครน ตั้งแต่ต้นปี 2022 (พ.ศ. 2565) จนถึง ณ ชั่วโมงนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงแต่อย่างใด แถมมิหนำซ้ำการสงครามสู้รบมีแต่จะรุนแรงหนักขึ้นด้วย