สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…
แม้จะล่วงเลยมาแล้วเกือบสัปดาห์ แต่ยังคงเป็นประเด็นร้อนสำหรับคำพูดบางช่วงบางตอนของ “อุ๊งอิ๊ง”นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยในการแสดงวิสัยทัศน์หัวข้อ“เติมเพื่อไทยให้เต็ม 10 สนับสนุนรัฐบาลเปลี่ยนประเทศ” ที่ว่า “วันนี้ในนามหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเราตัดสินใจถูกต้องมาก ๆ ที่จัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว เพราะปัญหาที่มีอยู่มากมาย และหลังจากที่เราเข้ามาเป็นรัฐบาลได้เห็นปัญหาที่สะสมมายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่การปฏิวัติรัฐประหารถึงสองครั้ง ซึ่งใช้เวลาเกือบสองทศวรรษด้วยกันและรวมไปถึงปัญหาระบบราชการที่ใหญ่โตเกินไปทำให้อึดอัดในการทำงาน ไม่พร้อมสำหรับการปรับตัวในยุคปัจจุบัน” และ “ตอนนี้กฎหมายพยายามจะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นอิสระจากรัฐบาล เรื่องนี้ถือว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญมาก ๆ ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะนโยบายทางด้านการคลังถูกใช้งานเพียงด้านเดียวมาโดยตลอด และทำให้ประเทศของเรามีหนี้สูงมากขึ้นและสูงเพิ่มมากขึ้นทุกปีจากการตั้งงบประมาณที่ขาดดุล ถ้านโยบายการเงินที่บริหารโดยธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมเข้าใจและไม่ยอมให้ความร่วมมือ ประเทศของเราจะไม่มีทางลดเพดานหนี้ได้เลย” …*…
การพูดดังกล่าวไม่ว่าจะมาจากความคิดของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเอง หรือตามโพยที่ใครร่างไว้ให้ก็ตาม ผลที่ปรากฏค่อนข้างชัดว่าไม่เป็นบวกเท่าไร เพราะนอกจากไม่อาจลบภาพความเป็น “รัฐบาลข้ามขั้ว”ที่มาจากการ “ตระบัตสัตย์” ซึ่งต้องอาศัยผลงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหามาเป็นข้อหักล้างมากกว่าแค่ “วาทกรรม”ที่ว่า “เห็นปัญหา”อีกทั้งการฟาดแบงก์ชาติแบบไม่ยั้งเหมือนกับเป็น “ตัวการ”ฉุดรั้งเศรษฐกิจ ก็ถูกมองว่าเป็นการสร้าง “ข้ออ้าง”เพื่อเข้าไปแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ …*…
นั่นจึงเป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ “ทัวร์ลง” ทั้งอุ๊งอิ๊งและพรรคเพื่อไทยครั้งใหญ่ …*…
จริงอยู่ ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ถึงแบงก์ชาติจะเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่สามารถแตะต้องอะไรได้เลย เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว ช่วงหลายเดือนนี้ แบงก์ชาติก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงแนวทางการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยมาตลอด เพราะในขณะที่แบงก์ชาติยืนกรานคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่หลายภาคส่วนมองว่าสูงเกินไปนั้น ฝ่ายที่ได้รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ คือบรรดาแบงก์พาณิชย์ที่โกยกำไรเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทว่า ในอีกด้านหนึ่งฝ่ายที่ต้องแบกรับภาระคือเหล่าลูกหนี้ …*…
แบงก์ชาติเคยให้เหตุผลในทำนองว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นอยู่ และหากดอกเบี้ยถูกเกินไป จะมีการกู้เงินไปใช้แบบไม่คิดหน้าคิดหลัง ส่งผลเสียต่อทั้งตัวลูกหนี้และระบบเศรษฐกิจในอนาคต …*…
ทว่า ในอีกมุมหนึ่งนั้น แบงก์ชาติก็ถูกตั้งคำถามว่า ทำไม มีเหตุผลอะไรเป็นพิเศษที่ปล่อยให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝากถึงได้ห่างกันมากขนาดนี้ คนเก็บออมเงินฝากแบงก์ได้รับดอกเบี้ยเพียงน้อยนิด แต่พอกู้เงินมาใช้ ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงหูตูบ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ลูกหนี้ส่วนใหญ่กู้เงินไปเพื่อยังชีพ ซื้อบ้านเป็นที่ซุกหัวนอน เป็นค่าเทอมให้ลูกหลาน แต่ก็ต้องพลอยมารับกรรมชักหน้าไม่ถึงหลังกับการหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ย เพียงเพราะเหตุผลของแบงก์ชาติที่ต้องการสกัดพวกกู้เงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย …*…
จึงนับเป็นโชคดีของแบงก์ชาติ ที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้จี้จุดไปที่ปัญหาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย แต่กลับไปเลือกเล่นใหญ่ในประเด็นอื่น จนกลายเป็นฝ่ายถูกกระแสตีกลับเสียเอง …*…
ที่มา:เจ้าพระยา (9/5/67)