จากการแข่งขันหุ่นยนต์อัจฉริยะ Thailand Open ROS and Smart Robot Competition 2024 เมื่อวันที่ 30 - 31 มีนาคม 2567 ซึ่งจัดโดย iMake innovation, Thai Robotic Society (TRS) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อเฟ้นหาตัวแทนประเทศไทยระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับมหาวิทยาลัยเดินทางไปแข่งขันเวทีนานาชาติ ปี 2024 รายการ JAPAN OPEN ประเทศญี่ปุ่น และรายการ WORLD ROBO CUP ประเทศเนเธอร์แลนด์

ผลปรากฏว่า ทีมชนะเลิศรายการ @Home Education การแข่งขันหุ่นยนต์ใช้งานภายในบ้านระดับมหาวิทยาลัย คือ ทีม SKUBA Jr และทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม Cleaning in Progress นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สมาชิกทีม SKUBA Jr ประกอบด้วย นายณัฐชนน นนทพิบูลย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า (หัวหน้าทีม) นายไกรวี รุ่งทรัพย์ไพศาล ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า นายรัชกร อนันตานานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล นายวรินทร มากท้วม ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และนายภคพล เต็งชาตะพันธ์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์

สมาชิกทีม Cleaning in Progress ประกอบด้วย นายกันตินันท์ ช่วงรังษี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า นางสาวโชติกา เลิศธันยบูรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล นางสาวชยุดา สุขเกษม ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และนายแม็กทอมมัส เมอร์เรย์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ โดยมี รศ.ดร.กาญจนพันธุ์ สุขวิชชัย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองทีม

นายณัฐชนน นนทพิบูลย์ หัวหน้าทีม SKUBA Jr ทีมชนะเลิศรายการ @Home Education การแข่งขันหุ่นยนต์ใช้งานภายในบ้านระดับมหาวิทยาลัย เล่าถึงการแข่งขันให้ฟังว่า รายการ @Home Education การแข่งขันหุ่นยนต์ใช้งานภายในบ้าน การแข่งขันมี 2 โจทย์ด้วยกัน คือ ภารกิจที่ 1 carry my luggage โดยคนชี้ถุงให้หุ่นยนต์ไปหยิบ หุ่นยนต์สามารถไปหยิบถุงให้และเดินตามคนออกไปในที่ที่หุ่นยนต์ไม่รู้จัก โดยทั้งหมดนี้ตัวหุ่นยนต์ทำงานแบบอัตโนมัติทั้งการตรวจจับว่า คนชี้ไปที่ถุงไหน เดินไปหยิบถุง เดินตามคนออกจากบ้าน และเดินกลับเข้ามาในบ้าน

ภารกิจที่ 2 find my mate หุ่นยนต์จะต้องเดินทางไปห้องที่มีคนอยู่ ต้องเดินไปคุยเพื่อถามชื่อ ตรวจจับลักษณะต่าง ๆ ของคน เช่น เพศ ความสูง สีเสื้อ ใส่แว่นหรือไม่ และอื่น ๆ ตรวจจับว่าคนผู้นั้นอยู่ส่วนไหนของบ้านแล้วนำข้อมูลนี้ไปแจ้งเจ้าของบ้านที่อยู่อีกห้อง”

สำหรับการสร้างหุ่นยนต์เพื่อปฏิบัติภารกิจตอบโจทย์การแข่งขันในครั้งนี้  นายณัฐชนน นนทพิบูลย์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า หัวหน้าทีม SKUBA Jr กล่าวว่า “เราต้องออกแบบแขนกลและกำหนดวาง sensor ของหุ่นยนต์ในจุดต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรับข้อมูลได้ดีที่สุด และสิ่งสำคัญหลัก ๆ คือ เขียนโค้ดสำหรับการปฏิบัติภารกิจทั้งหมดแบบอัตโนมัติ ซึ่งแบ่งเป็นงานต่าง ๆ  เช่น งานพูดคุย (speech processing) งานวิสัยทัศน์คอมพิวเตอร์ (computer vision) เพื่อทำการประมวลผลภาพ (image processing) ตรวจจับคุณลักษณะของสิ่งต่าง ๆ เช่น ถุงกระเป๋า เพศ ความสูง สีเสื้อ ใส่แว่น ตำแหน่งของคน และอื่น ๆ”

“นอกจากนี้ยังมีงานการควบคุมหุ่นยนต์ (robot manipulation) เชื่อมการขยับแขนกลและการขยับกล้องบนเซอร์โวมอเตอร์ การนำทางอัตโนมัติ (autonomous navigation) และเครื่องสถานะจำกัด (finite-state machine)  ซึ่งคือการรวบรวมความสามารถต่าง ๆ เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้แบบอัตโนมัติครับ”

“ทั้งนี้ ภารกิจดังกล่าวมีกฎกติกาที่คล้ายกับที่ใช้แข่งระดับโลกมาก ทำให้ภารกิจมีความท้าทายสูงมากครับ คนในทีมจึงต้องใช้เวลาเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหานาน และจากการแบ่งหน้าที่ตามความสนใจ เวลาเกิดปัญหาแต่ละคนไม่สามารถปรึกษาเพื่อนในทีมได้เนื่องจากไม่มีความรู้ในส่วนนั้น”

“อุปสรรคแรกที่เจอคือ เวลาในการเตรียมตัวก่อนแข่งซึ่งตรงกับช่วงสอบพอดี สมาชิกแต่ละคนต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัวทั้งซ้อมแข่งและเตรียมตัวสอบ ยังมีอุปสรรคเรื่องอุปกรณ์ที่ไม่พร้อม เนื่องจากเป็นสนามแข่งแรกจึงจัดเตรียมของมาครบบ้างขาดบ้าง แต่สุดท้ายสามารถประกอบหุ่นยนต์ได้สำเร็จ และมีอุปสรรคอีกมากมายที่ต้องแก้ไขเฉพาะหน้า ได้เก็บไว้เป็นประสบการณ์ครั้งถัด ๆ ไป”

หุ่นยนต์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ใช้งานภายในบ้าน สามารถทำภารกิจได้ครบถ้วนตามโจทย์ ทั้งนี้เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างสมาชิกภายในทีมที่คอยช่วยกันสร้างหุ่นยนต์ให้มีความสามารถต่าง ๆ จนปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จ นายณัฐชนน กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ประสบการณ์ที่ได้รับสูงสุด คือ เรื่องการทำงานเป็นทีมและการเตรียมตัว การที่เราแบ่งงานให้ถูกคนเพื่อให้งานออกมาได้ ต่างก็ได้ทักษะทางเทคนิคต่างกันแล้วแต่ว่าใครทำงานอะไร นอกจากนี้ประสบการณ์ใหม่ คือ การไม่ได้นอนติดต่อกันสองวันครับ จริง ๆ แล้วในการแข่งขันการเกิดปัญหาระหว่างทางเป็นเรื่องปกติ โดยสรุปแล้วสนุกมากครับ เป็นความเครียดที่สนุก”

โดยทีม SKUBA Jr จะเป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมกับทีมผู้ชนะเลิศรายการ Junior Rescue และรายการ Industrial Logistics Challenge ไปแข่งขันเวทีนานาชาติรายการ JAPAN OPEN และรายการ WORLD ROBO CUP ปี 2024  ในเดือนกรกฎาคมนี้