มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ อพวช.จัดกิจกรรมพิเศษ เสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจอวกาศกับโอกาสของอนาคต” พบกับ ผู้ปฏิบัติงานจริงจากสถาบันสำรวจอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก 14 พฤษภาคม นี้ ที่ ห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ ชั้น 3 อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เพราะการทำงานด้านอวกาศเต็มไปด้วยผู้เกี่ยวข้องมากมาย กระสวยอวกาศหนึ่งลำต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายด้าน อาทิ วิศวกร หรือนักออกแบบกระสวยอวกาศ นักบิน ทหาร นักเคมี นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย โปรแกรมเมอร์ นักโภชนาการ นักวิทยาศาสตร์การอาหาร ฯลฯ และยังมีอาชีพอีกมากมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับงานด้านนี้ ดังนั้นการทำความเข้าใจถึงระบบการทำงานที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง เข้าใจถึงภูมิทัศน์และนิเวศน์ของงานด้านอวกาศได้อย่างดีนั้น เท่ากับว่าเราก็จะสามารถมองเห็นโอกาสของคนไทยที่จะสามารถแทรกตัวเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานด้านอวกาศและพัฒนางานด้านนี้ให้เกิดขึ้นอย่างก้าวหน้าในบ้านเราได้อย่างที่หลายชาติได้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังแล้ว
ในโอกาสที่ผู้ปฏิบัติงานจริงจากสถาบันสำรวจอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก เดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่ประเทศไทยเกี่ยวกับโครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) เพื่อเตรียมโครงการนี้ให้พร้อมที่จะส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในปีพ.ศ. 2568 โดยมีรศ.ดร. ณัฐพร ฉัตรแถม อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการTLC ภายใต้ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์และ NASA นั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (อพวช.) จึงร่วมกันเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนระดับมัธยมปลาย นิสิต นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป จำนวนประมาณ 200 คน เข้ารับฟังและพูดคุยกับวิทยากรพิเศษจากสถาบันสำรวจอวกาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ในเวทีเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจอวกาศกับโอกาสของอนาคต” หรือ “Space Economy and the Opportunity for the Future” วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 9.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ ชั้น 3 อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความสนใจและแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนและผู้คนในสังคมต่องานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ พร้อมทั้งเสนอภาพของโอกาสของเยาวชนที่จะก้าวเข้าสู่ Space Economy และขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจด้านอวกาศในอนาคต นับเป็นการเพิ่มทุนทางวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชนและสังคมไทยให้มีความพร้อมในการพัฒนาสังคมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
วิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ 1. Mr. Robert Hampton, Director of Payload Operations จาก the ISS U.S. National Laboratory ผู้นำทีม project manager ที่มีประสบการณ์สูงและรับผิดชอบในการวางแผนและควบคุมการดำเนินการวิจัยและพัฒนาโดยใช้ห้องปฏิบัติการแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS U.S. National Laboratory) 2. Mr. Scott Rodriguez, Vice President จาก Nanoracks LLC – บริษัทในเครือ Voyager Space และ NASA HUNCH Program Manager ภารกิจของ NASA HUNCH คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนผ่านโปรแกรมการเรียนรู้จากโครงงานวิทยาศาสตร์ ซึ่งนักเรียนมัธยมปลายจะได้เรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และมีโอกาสที่จะเริ่มต้นอาชีพผ่านการมีส่วนร่วมในการออกแบบและการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าในโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับ NASA 3. Mr. Michael Lewis, Chief of Innovation Officer (CIO) จาก Nanoracks LLC – บริษัทในเครือ Voyager Space ผู้ดูแลทิศทางทางเทคนิค วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมของบริษัทสำหรับความต้องการใช้อวกาศเชิงพาณิชย์ Nanoracks LLC เป็นผู้นำตลาดสำหรับการใช้งานสถานีอวกาศนานาชาติและอื่นๆ อีกมากมาย 4.รศ.ดร. ณัฐพร ฉัตรแถม อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการ Thailand Liquid Crystals in Space (TLC) ภายใต้ MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ NASA และกำกับดูแลโดย Mr. Robert Hampton ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.สุวลักษณ์ อัศวสันติ กรรมการบริหาร สมาคมนักวิจัยไทยรุ่นใหม่(TYSA)
นักเรียน นิสิตนักศึกษา และผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานเสวนา“เศรษฐกิจอวกาศกับโอกาสของอนาคต” หรือ “Space Economy and the Opportunity for the Future” ในวันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 9.30 - 12.00 น. ณ ห้องประชุมสุมินทร์ สมุทคุปติ์ ชั้น 3 อาคารวิทยาศาสตร์กายภาพ 45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยสแกนคิวอาร์โค้ดลงทะเบียนจากโปสเตอร์ นอกจากนี้ยังรับชมการเสวนาผ่านทางระบบถ่ายทอดสดของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ http://www.facebook.com/scienceku,ได้อีกช่องทางหนึ่ง