“โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)” ถือเป็นโรคที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพทางจิตโรคหนึ่ง อันเป็นปฏิกริยาตอบสนองต่อความเครียดต่อบางสถานการณ์ ซึ่งผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตโรคนี้ ก็จะทำให้ผู้นั้นรู้สึกวิตกกังวล และหวาดกลัวอย่างเกินเหตุ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

ตามการเปิดเผยของ “สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน” หรือ “เอพีเอ” (APA : American Psychiatric Association) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า สถานการณ์ความตึงเครียดทางจิตใจจากเหตุปัจจัยบางประการ ได้ส่งผลกระทบทำให้ประชาชนชาวอเมริกัน มีปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวกับโรควิตกกังวลกันมากขึ้นในเวลานี้

โดยเหตุปัจจัยที่ทำให้ประชาชนชาวสหรัฐฯ ต้องมีปัญหาสุขภาพจิต จนถึงขั้นเป็นโรควิตกกังวลกันเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็มาจากปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐฯ นั่นเอง

ทาง “สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน” เปิดเผยถึงสิ่งที่พบว่า ปัญหาเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้คนป่วยทางจิตด้วยโรควิตกกังวลนั้น ก็มาจากการที่ทางสมาคมฯ ดำเนินการศึกษาติดตามในปี 2024 (พ.ศ. 2567) นี้ ก่อนได้ผลการศึกษาติดตามออกมา พร้อมกับสร้างความเป็นห่วงให้แก่บรรดาจิตแพทย์ในสมาคม “เอพีเอ”

ทั้งนี้ ก็เพราะตัวเลขที่ออกมาเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ปี 2024 นี้ เพิ่งผ่านพ้นมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น แต่ก็เป็นตัวเลขที่มากกว่าปีก่อนๆ หน้าตลอดทั้งปี

โดยผลการศึกษาติดตามของสมาคม “เอพีเอ” ระบุว่า จำนวนผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวกับความวิตกกังวลในปี 2024 นี้นั้น มีจำนวนถึงร้อยละ 43

ตัวเลขข้างต้นนั้น มากกว่าปี 2023 (พ.ศ. 2566) หรือปีที่แล้วตลอดทั้งปี ที่มีจำนวนอยู่ที่ร้อยละ 37 และยังเป็นตัวเลขที่มากกว่าเมื่อปี 2022 (พ.ศ. 2565) ที่จำนวนร้อยละ 32

สมาคม “เอพีเอ” ยังเปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวอเมริกันมีปัญหาสุขภาพจิต จนเกิดความวิตกกังวลเพิ่มสูงขึ้นนั้น ก็ระบุว่า มาจากปัญหาทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เอง จำนวนมากถึงร้อยละ 77 ซึ่งถือเป็นเหตุปัจจัยอันดับหนึ่ง

ภาพตกแต่งแสดงภาวะเงินเฟ้อ กับปัญหาเศรษฐกิจ ในสหรัฐฯ (Photo : AFP)

รองลงมาได้แก่ ปัญหาทางการเมือง ที่สหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายปีนี้ ซึ่งคิดเป็นจำนวนร้อยละ 73

โดยปัญหาทางการเมืองข้างต้น แซงหน้าปัญหาความรุนแรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางอาชญากรรม และปัญหาความรุนแรงจากการใช้อาวุธปืน ที่ในสหรัฐฯ มีเหตุที่ผู้คนกราดยิงกัน กระหน่ำยิงกัน แทบจะรายวัน ซึ่งปัญหาด้านนี้คิดเป็นร้อยละ 69

เหตุกราดยิงกันในสหรัฐฯ ซึ่งเกิดขึ้นแทบจะรายวัน แต่ก็ทำให้ชาวสหรัฐฯ วิตกกังวลน้อยกว่าปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ (Photo : AFP)

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ชาวอเมริกันต้องวิตกกังวลจนกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตของพวกเขาเอง ได้แก่

ปัญหาความปลอดภัยทั้งต่อตนเอง และความปลอดภัยของครอบครัว มีจำนวนที่ร้อยละ 68

ปัญหาความปลอดภัยที่เกี่ยวกับความเป็นตัวตน คิดเป็นร้อยละ 63

ปัญหาด้านสุขภาพ คิดเป็นร้อยละ 63

ปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มีราคาสูงขึ้น หรือแพงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 63

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน คิดเป็นร้อยละ 50

ปัญหาการใช้ยาแก้ปวดที่มีผลต่อระบบประสาทที่เป็นไปอย่างแพร่หลาย หรือถึงขั้นที่เรียกว่า การแพร่ระบาดของการใช้ยาชนิดนี้ในสหรัฐฯ มีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 50

ปัญหาจากการได้รับผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตในแต่ละวัน มีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 46

ผลการสำรวจของสมาคม “เอพีเอ” ยังพบด้วยว่า จำนวนของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตวิตกกังวลข้างต้นนั้นถึงร้อยละ 59 ก็เป็นห่วงตนเองว่า จะไม่สามารถเข้าถึงระบบการดูแลปัญหาสุขภาพจิตที่พวกเขาประสบอยู่

นอกจากนี้ ในการสำรวจติดตามของสมาคม “เอพีเอ” ก็ยังระบุด้วยว่า สุขภาพจิตของเด็กๆ เยาวชนของชาวอเมริกัน ณ ปัจจุบัน ก็ได้รับการเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน เพื่อที่ว่าเมื่อเติบโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งผู้ที่มีความคิดเห็นเช่นนี้ มีจำนวนถึงร้อยละ 71 เลยทีเดียว

สำหรับ สถานการณ์ผู้มีปัญหาสุขภาพจิตเกี่ยวกับโรควิตกกังวลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกนั้น ตามการเปิดเผยองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่า มีจำนวนมากกว่า 300 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด

ว่ากันถึง สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เป็นสาเหตุปัจจัยทำให้ชาวอเมริกันมีปัญหาสุขภาพจิตเกิดความวิตกกังวลเพิ่มจำนวนมากขึ้นในปีนี้นั้น ก็ต้องบอกว่า เศรษฐกิจตกต่ำจนน่าเป็นห่วงด้วยเช่นกัน

โดยการเปิดเผยของ “แกลลัพ” บริษัทด้านการสำรวจความคิดเห็น การวิเคราะห์วิจัย และให้คำปรึกษาทางการตลาด ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต้องถือว่าน่ากังวล เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันครั้งล่าสุด เกี่ยวกับความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจเมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า เรียกว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ” โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงการ “ติดลบ” และ “ติดลบ” เพิ่มมากขึ้น หรือหนักยิ่งกว่าเก่าเมื่อเปรียบเทียบจากการสำรวจในช่วงก่อนหน้า

ทั้งนี้ ทาง “แกลลัพ” ระบุเป็นตัวเลขว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ติดลบหนักมากขึ้นเรื่อย โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น ติดลบ20 (-20) แต่พอสิ้นสุดเดือนเมษายนที่เพิ่งผ่านพ้นมา ตัวเลขติดลบก็เพิ่มขึ้นเป็น 29 (-29) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา

สาเหตุปัจจัยก็มาจากภาวะเงินเฟ้อ สินค้าต่างๆ ราคาแพงมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเงินในกระเป๋าของประชาชน พร้อมทั้งยังหวาดหวั่นลามเลยไปถึงสถานการณ์การจ้างงานในอนาคตของพวกเขาด้วย