วันที่ 5 พ.ค.67 เวลา 14.17 น. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จไปทอดพระเนตรนิทรรศการ การจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนภาคกลาง ตามโครงการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงภูมิปัญญาชุมชนไทย ณ อาคารศูนย์สุขภาพและกีฬา โรงยิม ชั้น 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง รศ.ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ ประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครอง ดร.ดวงพร แสงทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา พร้อมด้วยนายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ข้าราชการ คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และประชาชน เฝ้ารับเสด็จ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปณิธานอันมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมผ้าไทยและงานหัตถกรรมไทยให้เป็นเครื่องมือพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยพระองค์พระราชทานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก และเสด็จไปพระราชทานแนวทางแก่สมาชิกกลุ่ม OTOP และศูนย์ศิลปาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งตรวจติดตามความก้าวหน้าของแต่ละกลุ่ม แต่ละจังหวัดเป็นรายภาค ซึ่งในวันนี้เป็นการเสด็จทรงงานเพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าการน้อมนำพระดำริสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ OTOP และสมาชิกมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อพระราชทานแนวทางในการพัฒนากระบวนงาน สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างโอกาส ยังผลให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
เมื่อเสด็จถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเข้าสู่บริเวณนิทรรศการและการจัดงานแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคกลาง ทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมภูมิปัญญาชุมชนภาคกลาง และพระราชทานพระวโรกาสให้กลุ่มผู้เฝ้ารับเสด็จขอพระราชทานคำแนะนำ ได้แก่ งานถักฝีมือ กลุ่มแฝดสาว 88 จังหวัดนครพนม งานถักโครเชต์ กลุ่มตารักถักทอ จังหวัดอำนาจเจริญ และวิสาหกิจชุมชนโครเชต์บ้านป่ามะม่วง จังหวัดตาก ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่ อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี กลุ่มบาติกเพ้นท์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี กลุ่มทอผ้าบางปิด จังหวัดตราด กลุ่มชัยรัตน์ฟาร์ม จังหวัดนครนายก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจักสานตำบลวัดละมุด จังหวัดนครปฐม เครื่องหนังธัญสุดา จังหวัดนนทบุรี กลุ่มรุ่งทิวาผ้ามัดย้อม จังหวัดปทุมธานี กลุ่มพัฒนาเส้นใยและผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากใยบัวหลวง จังหวัดปทุมธานี ผลิตภัณฑ์จักสานใบลานบ้านทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี กลุ่ม KRAMPHON จังหวัดปราจีนบุรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสหแสงชัย จังหวัดปราจีนบุรี กลุ่มสตรีจักสานป่านศรนารายณ์ จังหวัดเพชรบุรี กลุ่มกระสวยน้อย จังหวัดเพชรบุรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแสนใย คนแสนวิถี จังหวัดระยอง ณัฐธภา ผ้าจกทอมือ จังหวัดราชบุรี บ้านช่างสกุลบายศรี จังหวัดราชบุรี ไทยทวิต จังหวัดลพบุรี บาติกน้ำเต้าหู้ จังหวัดลพบุรี กลุ่มผ้าทอไทยเบิ่งโคกสลุง จังหวัดลพบุรี คุณนายไหมไทย จังหวัดสมุทรสงคราม กลุ่มทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์ จังหวัดสระแก้ว วิสาหกิจชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง จังหวัดสระบุรี กระเป๋าเชือกมัดฟางไลฟ์สไตล์ จังหวัดสระบุรี กลุ่มจักสานหมู่บ้านอ่าวยายเกิด จังหวัดสิงห์บุรี กลุ่มจักสานไม้มงคล 9 ชนิด จังหวัดสิงห์บุรี และกลุ่มหัตถกรรมผ้าด้นมือ U thong quilts จังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มทอผ้าบ้านหนองลิง จังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มกุลญาเบญจรงค์ 1999 จังหวัดสุพรรณบุรี กลุ่มผ้าทอโบราณ ลาวชี-ลาวครั่ง จังหวัดสุพรรณบุรี ลีแซแพรพรรณ จังหวัดลพบุรี กลุ่มหลากขะม้า จังหวัดนครนายก กลุ่มแม่บ้านผ้าปักเลื่อมและลูกปัด จังหวัดนครนายก ลีลาฝ้าย (ผ้าหมักโคลนทะเล) จังหวัดระยอง ศูนย์อนุรักษ์ผ้าพื้นถิ่นระยอง จังหวัดระยอง วิสาหกิจชุมชนคลองน้ำหูผ้าหมักน้ำนมข้าว จังหวัดระยอง กลุ่ม MOMM (มอม) จังหวัดสมุทรสงคราม วิสาหกิจชุมชนเจ็ดเสมียนโฮมสเตย์ จังหวัดราชบุรี หนานเอฟผ้าจกไทยวน จังหวัดราชบุรี กลุ่มจักสานบ้านหัวไผ่พัฒนา 4.0 จังหวัดสิงห์บุรี กลุ่มผลิตภัณฑ์จากผ้าบางน้ำเชี่ยว จังหวัดสิงห์บุรี
กลุ่มผ้าทอศรีอุทุมพร จังหวัดนครปฐม วิสาหกิจชุมชนจักสานผักตบชวา บ้านคลองนกกระทุง จังหวัดนครปฐม บ้านเฮาเสาไห้ จังหวัดสระบุรี กลุ่มอาชีพเยาวชนตำบลตลาดน้อย จังหวัดสระบุรี และกลุ่มธันยนันท์ผ้ามัดย้อม จังหวัดปทุมธานี ซึ่งทุกกลุ่มได้ใช้สีและวัตถุดิบจากธรรมชาติตามแนวพระดำริแฟชั่นยั่งยืน (Sustainable Fashion) ที่พระราชทานแนวทางไว้ในการเสด็จเยี่ยมเยียนในปีที่ผ่านมา อันเป็นการลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยผลงานทุกชิ้นมีตราสัญลักษณ์ Sustainable Fashion ที่ทรงออกแบบและพระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไปมอบให้ทุกกลุ่มที่ดำเนินการพัฒนาผลงานตามพระดำริ นอกจากนี้ ยังทรงมุ่งเน้นในการนำแนวความคิด Zero Waste ซึ่งเป็นการส่งเสริมการหมุนเวียนทรัพยากรให้นำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นการลดปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นให้เหลือน้อยลง ทั้งการใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Reuse) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)
ทั้งนี้ ในระหว่างการทรงงาน ทรงพระกรุณาโปรดให้คณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุกในพระดำริ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นดีไซเนอร์และผู้มีความรู้ความสามารถด้านการออกแบบ ตัดเย็บ ถักทอ และด้านสีธรรมชาติ เป็นวิทยากรให้ความรู้และคำแนะนำแก่กลุ่มทอผ้าและสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพเพื่อเพิ่มมูลค่าของผืนผ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังผลทำให้มีรายได้ในการดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนอีกด้วย
#ผ้าไทยใส่ให้สนุก #sustainablefashion #กระทรวงมหาดไทย #OTOP #Youngotop