หากกล่าวถึง “ติ๊กต็อก (TikTok)” ก็นับว่าเป็น “แอปพลิเคชัน” ที่ให้บริการเครือข่ายสังคม ซึ่งสามารถให้ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาวิดีทัศน์ หรือวิดีโอ ขนาดสั้น ความยาวไม่เกิน 15 วินาที จนถูกยกให้เป็นแอปฯ ที่ให้บริการเครือข่ายสังคม หรือโซเชียลมีเดีย ยอดนิยมแอปพลิเคชันหนึ่ง
โดยความนิยมของแอปฯ นี้ ปัจจุบันก็มีผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 1.56 พันล้านคน หรือยูเซอร์ (User) ซึ่งนอกจากผู้ใช้ในจีน อันเป็นประเทศแม่ของ “ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทผู้เป็นเจ้าของและผู้พัฒนาแอปฯ “ติ๊กต็อก” ที่มีผู้ใช้เป็นจำนวนมากแล้ว แม้แต่ใน “สหรัฐอเมริกา” ประเทศที่ได้ชื่อว่า เป็น “ไม้เบื่อ ไม้เมา” ต่อประเทศจีน ณ ชั่วโมงนี้ ก็มีจำนวนผู้ใช้แอปฯ ดังกล่าวมากกว่า 170 ล้านคน หรือยูเซอร์
สร้างความปริวิตกให้แก่สหรัฐฯ มิใช่น้อยว่า ข้อมูล ความลับต่างๆ จากสหรัฐฯ รั่วไหล ไปยังทางการจีน โดยรัฐบาลปักกิ่ง จะใช้แอปฯ “ติ๊กต็อก” นี้ เป็นช่องทางฉกข้อมูล ความลับต่างๆ ไป อันส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เองได้
ถึงขนาดในช่วงที่ผ่านๆ มาในแวดวงการเมืองของสหรัฐฯ ทั้งสองฟากพรรค คือ พรรคเดโมแครต และพรรครีพับลิกัน ตำหนิวิจารณ์เชิงลบต่อแอปฯ “ติ๊กต็อก” นี้กันอย่างถึงพริกถึงขิง ในทางเสียๆ หายๆ เป็นประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นส่งผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพของผู้ใช้ ผู้เข้าถึงแอปพลิเคชัน รวมไปถึงปัญหาความมั่นคงของประเทศที่จะเกิดขึ้นตามมา
โดยมีการหยิบยกขึ้นถกในสภาคองเกรส หรือที่ประชุมรัฐสภา ทั้งในระดับสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ในช่วงที่ผ่านมา ถึงขั้นที่จะกำหนดให้ แอปพลิเคชัน “ติ๊กต็อก” เป็นของต้องห้าม หรือ “แบน (Ban)” กันไปเลยในสหรัฐฯ
ในส่วนของความคิดเห็นของประชาชนชาวอเมริกัน ทางบรรดาสำนักโพลล์ทั้งหลาย ก็ดำเนินการสำรวจอยู่เป็นระยะๆ ว่า คิดเห็นกันอย่างไรเกี่ยวกับแอปพลิเคชันติ๊กต็อกนี้
ล่าสุด ในการสำรวจความคิดเห็นโดย “อิปซอส” บริษัทด้านการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านการตลาด ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ร่วมกับสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง ได้สำรวจโพลล์ของชาวอเมริกันต่อแอปพลิเคชันติ๊กต็อกนี้ ก่อนเผยแพร่รายงานผลการสำรวจออกมาเมื่อเร็วๆนี้
ผลการสำรวจปรากฎว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม มีความคิดเห็นว่า แอปพลิเคชันติ๊กต็อก ถูกทางการจีน หรือรัฐบาลปักกิ่ง ใช้เป็นเครื่องมือในด้านต่างๆ
โดยร้อยละ 58 ของชาวอเมริกันกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า รัฐบาลจีนใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อก “สร้างอิทธิพลทางความคิด” ต่อประชาชนชาวอเมริกัน
ส่วนผู้ไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นข้างต้น มีจำนวนร้อยละ 13
ขณะที่ ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าแอปพลิเคชันติ๊กต็อกนี้ ถูกรัฐบาลจีนใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างอิทธิพลทางความคิดต่อประชาชนชาวอเมริกันหรือไม่มีจำนวนที่ร้อยละ 45 อันเป็นจำนวนที่เหลือระหว่าง ผู้เห็นด้วยกับผู้ไม่เห็นด้วย
โดยประเด็นเรื่องสร้างอิทธิพลทางความคิด ผ่านแอปพลิเคชันติ๊กต็อกนี้ จากการสำรวจโพลล์ยังพบด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน “เห็นด้วย” มีจำนวนมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามที่สนับสนุนต่อพรรคเดโมแครต ทว่า ก็มีบิ๊กแห่งรีพับลิกันอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นครั้งล่าสุดว่า การแบนติ๊กต็อกอาจทำให้บางแอปฯ เช่น เมตา เฟซบุ๊กได้ประโยชน์
พร้อมกันนี้ ผลการสำรวจโพลล์ ยังพบด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันถึงร้อยละ 46 ตอบว่า รัฐบาลจีนใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อกมา “เป็นสายลับสอดแนม” ชีวิตของพวกเขา
โดยในประเด็นของข้อคำถามนี้ ต้องบอกว่า ที่ผ่านมา ทางการจีน รัฐบาลปักกิ่ง ได้ปฏิเสธมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ทาง “ไบต์แดนซ์” บริษัทผู้เป็นเจ้าของและผู้พัฒนาแอปพลิเคชันติ๊กต็อก ก็ยังได้พยายามดำเนินการเพื่อลบล้างข้อกล่าวหาข้างต้น ด้วยการระดมเม็ดเงินลงทุนเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านข้อมูลของผู้ใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อก ด้วยจำนวนสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินไทยราว 55,140 ล้านบาท หรือกว่าครึ่งแสนล้านบาทเลยทีเดียว) เพื่อคลายความวิตกกังวลต่อทั้งประชาชนผู้ใช้แอปพลิเคชันติ๊กต็อกชาวอเมริกัน และนักการเมืองสหรัฐฯ ที่กล่าวหาและกำลังเล่นงานต่อแอปพลิเคชันติ๊กต็อกนี้อย่างหนัก
ทว่า ดูเหมือนการลงทุนของ “ไบต์แดนซ์” จะไม่ได้ผลในแง่ของจิตวิทยาต่อชาวอเมริกัน จากผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งล่าสุดที่ออกมา
ใช่แต่เท่านั้น เมื่อช่วงปีที่ผ่าน ทางคณะผู้บริหาร รวมไปถึงซีอีโอของไบต์แดนซ์ในสหรัฐฯ ก็ได้ไปให้ปากคำต่อรัฐสภาสหรัฐฯ โดยยืนยันว่า ติ๊กต็อกไม่เคยส่งเสริม หรือทำตามคำสั่งของรัฐบาลปักกิ่ง หรือทางการจีนแต่ประการใด แต่ทว่า ก็ไม่เป็นผลที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวอเมริกันอีกเช่นเคย
ขณะที่ ในการสำรวจความคิดเห็นด้านอื่นๆ ของชาวอเมริกันที่มีต่อแอปพลิเคชันติ๊กต็อก ก็ยังปรากฏว่า ร้อยละ 50 ของกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว ที่ “เห็นด้วย” หรือ “สนับสนุน” ต่อการห้าม หรือแบน (Ban) แอปพลิเคชันติ๊กต็อกนี้ในประเทศสหรัฐฯ ส่วนผู้ที่คัดค้าน คือ ไม่เห็นด้วยที่จะให้แบน มีจำนวนที่ร้อยละ 32
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับผลสำรวจข้างต้นเกี่ยวกับเรื่องการแบนแอปพลิเคชันติ๊กต็อกนั้น ก็มีข้อถกเถียงว่า ไม่น่าจะเป็นเสียงที่แท้จริงที่จะให้มีการแบนแอปฯติ๊กต็อกนี้ในสหรัฐฯ เพราะกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่ผู้ใช้แอปฯติ๊กต็อกในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ใช้แอปฯ ติ๊กต็อกในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน นั่นเอง
ในส่วนความเคลื่อนไหวของรัฐบาลวอชิงตัน ทางการสหรัฐฯ ที่มีต่อแอปพลิเคชันติ๊กต็อกนี้ ล่าสุด เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ได้ลงนามในกฎหมายว่าด้วย การบังคับให้ “ไบต์แดนซ์” ต้องขายหุ้นทั้งหมดในติ๊กต็อกภายในเวลา 270 วัน มิเช่นนั้นติ๊กต็อกจะถูกห้ามใช้ในสหรัฐฯ แต่ทาง “ไบต์แดนซ์” ยังคงดิ้นสู้ต่อ ทั้งด้วยการดื้อแพ่งท้าทายกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงการพึ่งอำนาจศาลสูงของสหรัฐฯ พิจารณาตัดสิน ก็ต้องติดตามรอดูกันต่อไปว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร?