ตามที่ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพไทย จัดยานพาหนะเข้าช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ จังหวัดชุมพร ที่ประสบปัญหาภัยแล้งส่งผลให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดูแลพืชผลทางการเกษตร กองทัพไทยได้จัดกำลังพล พร้อมรถยนต์บรรทุกน้ำขนาดใหญ่ และยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในพื้นที่ จังหวัดชุมพร โดยทันที เพื่อลดความเดือดร้อนจากผลกระทบของภัยแล้งในพื้นที่
โดยในวันที่ 4 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. จัดพิธีปล่อยขบวนรถ ณ สนามมณฑลทหารบกที่ 44 จังหวัดชุมพร โดยมี นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรเป็นประธานในพิธี โดยกองทัพไทย ประกอบด้วย กองบัญชาการกองทัพไทย โดย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาจัดรถบรรทุกน้ำขนาดใหญ่ 16 คัน รวมปริมาณน้ำต่อเที่ยว จำนวน 96,000 ลิตร กองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ 44 และมณฑลทหารบกที่ 45 จัดรถบรรทุกน้ำขนาดใหญ่รวม 6 คัน กองทัพเรือ จัดรถบรรทุกน้ำขนาดใหญ่รวม 4 คัน กองทัพอากาศโดยกองบิน 7 จัดรถบรรทุกน้ำขนาดใหญ่ 2 คัน ลิตร รวมจำนวนรถบรรทุกน้ำขนาดใหญ่ ทั้งสิ้น 28 คัน ปริมาณน้ำที่เข้าช่วยเกษตรกร จำนวน 168,000 ลิตร
ทั้งนี้ การบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งที่ผ่านมา กองทัพไทย ได้แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนขั้นต้น ขณะเดียวกันได้บูรณาการร่วมหน่วยราชการที่รับผิดชอบในการจัดหาแหล่งน้ำที่เหมาะสมเพื่อกักเก็บน้ำให้พี่น้องเกษตรกรอย่างเพียงพอ และจะเร่งพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวอีกว่า “การแก้ปัญหามีสองระยะ ระยะขั้นต้นตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีคือตามกิจกรรมในวันนี้ บรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และในเรื่องของการแก้ปัญหาระยะยาวการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กซึ่งมีแผนการดำเนินงานอยู่แล้ว ในวันนี้ทำอย่างไรให้บรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องเกษตรกรที่เกิดความเสียหายกับพืชผลการเกษตรให้น้อยที่สุด
ในปี2565 ที่ผ่านมาชาวจังหวัดชุมพรไม่เคยประสบปัญหาเรื่องภัยแล้งมาก่อน และมีการรณรงค์กันตั้งแต่ต้นปีใครก็ตามจะปลูกต้นไม้ต้องคำนึงว่าต้องใช้น้ำเท่าไหร่ และมีน้ำอยู่เท่าไหร่ ถ้าไม่มีจะช่วยกันทำแหล่งน้ำได้ไหม ปีที่แล้วมีการขุดสระน้ำในพื้นที่หรือขยายสระน้ำ บ่อบาดาล หลายพันบ่อ โดยมีหน่วยทหารพัฒนามาช่วยขุดให้อีก และใครสามารถเจาะบ่อบาดาลได้ก็เจาะได้เลย จริงแล้วฝนที่ตกในจังหวัดชุมพรมีปริมาณมากกว่า 2500 ลูกบาทเมตรต่อปี แต่กักเก็บไว้ได้น้อย จะทำอย่างไรให้น้ำไหลลงทะเลไม่หมด และมีการรณรงค์เรื่องการทำฝาย ซึ่งหน่วยงานราชการทุกหน่วยงาน พลเรือน ตำรวจ ทหาร จัดทำฝาย 1 กระทรวง 1 ฝาย เป็นต้นแบบให้ ปีที่แล้วท้องถิ่นทำฝายขยายออกไปมากกว่า 100 ฝาย ทำให้หลายพื้นที่เช่น ท่าแซะ สวีบางพื้นที่ยังพอมีน้ำให้เกษตรกรนำไปสูบรดสวนทุเรียนได้” หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรและหน่วยทหารบูรณาการร่วมลงพื้นที่ตำบลเขาค่ายและตำบลเขาทะลุ อำเภอสวี เพื่อรับทราบปัญหาและพร้อมแจกจ่ายน้ำบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไปและเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ทันที