เมื่อวันที่ 4 พ.ค.67 นายเชาว์ มีขวด ทนายความ อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ค ทนายเชาว์ มีขวด เรื่อง เมื่อดีเอ็นเอทักษิณกำเริบ คิดรบกับ "แบงก์ชาติ" มีเนื้อหา ระบุว่า เห็นข่าวอุ๊งอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ดีเอ็นเอทักษิณ ออกมาบริภาษแบงก็ชาติว่าไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจ พาดพิงไปถึงกฎหมายว่าให้อิสระกับแบงก็ชาติจากรัฐบาลมากเกินไป กลายเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ช่วยใช้นโยบายการเงินมาคู่ขนานกับนโยบายการคลังผลักภาระว่าหนี้ของประเทศที่สูงขึ้นเกิดจากปัจจัยเหล่านี้ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ หนี้สะสมของประเทศ ส่วนใหญ่เกิดจากนโยบายลดแลกแจกแถม ที่สร้างหนี้เพิ่มพูนให้กับประเทศเรื่อย ๆ โดยปราศจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพราะการเล็งหวังผลของนักการเมืองที่ปราศจากความรับผิดชอบ เข้ามาแล้วก็จากไป แต่แบงก์ชาติเขาเป็นธนาคารกลางที่มีหน้าที่หลัก คือ ต้องรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน เสภียรภาพด้านราคา (เงินเฟ้อ) และ ดูแลไม่ให้เศรษฐกิจผันผวน หรือ ร้อนแรงเกินไป จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเกือบทุกประเทศในโลกนี้ล้วนให้อิสระกับแบงก์ชาติของประเทศตัวเองทั้งสิ้น เพราะถ้าปล่อยให้ละเลงกันตามอำเภอใจ กระตุ้นเศรษฐกิจตามใจอยาก แต่ผลลัพธ์ไม่ได้เป็นพายุหมุนอย่างที่คุย กลับเป็นผลร้ายกลายเป็นสึนามิทางเศรษฐกิจ ก็จะกลายเป็นภารขะงประชาชนทั้งชาติที่ต้องแบกหนี้กันหลังอาน ส่วนเศรษฐกิจที่คิดว่าจะเดินหน้า อาจถดถอยลงแบบกู่ไม่กลับ
นายเชาว์ระบุด้วยว่า ประเทศไทยเคยมีบทเรีรยนจากการที่ผู้บริหารแบงก์ชาติถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จนระบบการเงินไทยล่มสลาย แบงก์ชาติกลายเป็นจำเลยของสังคม ในยุควิกฤต้มยำกุ้ง ที่มีรองนายกฯ ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร นำประเทศชาติไปเป็นทาสทางเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟ จนรัฐบาลชวน 2 ต้องเข้าไปกอบกู้ ทำให้ประเทศไทยยุติการกู้เงินได้ก่อนกำหนด ทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้ง กลายเป็นต้นทุนที่ทำให้พรรคเพื่อไทยมาชุบมือเปิบในภายหลัง
"ดีเอ็นเอทักษิณอย่างนางสาวแพทองธาร ที่เข้ามาทำงานการเมืองด้วยรากฐานของพ่อแต่ยังไม่มีน้ำยาต่อยอดอะไรได้สำเร็จ แถมในทางเศรษฐกิจที่พยายามทำตัวเป็นกูรู จนกลายเป็นการอวดรู้ หรือไม่ก็อาจจะแค่อ่านตามที่มีคนเขียนบทให้ ผมแนะนำว่าแทนที่จะอ่านสุนทรพจน์จากพวกเชลียร์ทั้งหลายให้ไปศึกษาหาข้อมูลดูตัวอย่างประเทศตุรกี ที่รัฐบาลแทรกแซงนโยบายการเงินต่อเนื่อง ใช้แบบไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ลดดอกเบี้ยในวันที่เงินเฟ้อพุ่ง สุดท้ายอัตราเงินเฟ้อพ่งทะยานขึ้นไปกว่า 60 % กระทบค่าเงินอ่อนลงต่อเนื่อง จบลงที่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่า 40 % ขณะที่ของไทยมีตัวเลขล่าสุดออกมาว่าอัตราเงินเฟ้อพลิกกลับมาเป็นบวก 0.19 % ในรอบ 7 เดือน การจะกำหนดนโยบายทางการเงินใดก็ตาม ไม่เพียงต้องดูปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้นแต่ยังต้องดูความเสี่ยงในอนาคตด้วย ไม่เช่นนั้นปัญหาที่จะตามมาหนักหนามากกว่าหนี้สาธารณะ คือจะไม่มีใครกล้ามาลงทุนในประเทศนี้ เลิกดื้อดึงรับฟังความเห็นแบงก์ชาติบ้าง ส่วนเด็กที่กลิ่นน้ำนมยังไม่จางก็ควรหยุดแสดงความเห็นที่ทำให้ตัวเองยิ่งดูด้อยค่าได้แล้ว"นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย