"บีโอไอ" เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนไตรมาสแรกปี 67 เติบโตก้าวกระโดดจากปีก่อนทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีคำขอรับการส่งเสริม 724 โครงการ เงินลงทุน 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 นำโดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) สิงคโปร์ขึ้นครองอันดับหนึ่ง ตามด้วยจีน และฮ่องกง สะท้อนศักยภาพของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ปีทองแห่งการลงทุน 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในไทยยังมีแนวโน้มที่ดีและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสแรก การส่งเสริมการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นในทุกขั้นตอน ทั้งการขอรับการส่งเสริม การอนุมัติให้การส่งเสริม การออกบัตรส่งเสริม และเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยในส่วนของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 724 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าเงินลงทุนรวม 228,207 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 สะท้อนถึงศักยภาพของประเทศไทยและความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลไทยเดินหน้าบุกดึงการลงทุนจากกลุ่มบริษัทชั้นนำทั่วโลก การแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่างๆของบีโอไอ

นอกจากนี้ยังได้รับแรงผลักดันจากกระแสการย้ายฐานการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งมีการลงทุนจำนวนมากในอุตสาหกรรมใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ตามเทรนด์โลก เช่น กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มพลังงานหมุนเวียน และกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของ AI และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลขององค์กรต่างๆ เป็นต้น

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 77,194 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน 21,328 ล้านบาท ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 17,672 ล้านบาท ดิจิทัล 17,498 ล้านบาท เกษตรและแปรรูปอาหาร 13,278 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเงินลงทุนสูงสุด ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board: PCB) กิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ชนิดซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับ Power Electronics และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ 

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 460 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 130 มูลค่าเงินลงทุนรวม 169,322 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 42,539 ล้านบาท จีน 34,671 ล้านบาท ฮ่องกง 26,573 ล้านบาท ไต้หวัน 19,960 ล้านบาท และออสเตรเลีย 17,248 ล้านบาทตามลำดับ ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นเกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทสิงคโปร์ที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนในกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีมูลค่า 97,651 ล้านบาท จาก 300 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคตะวันออก 95,112 ล้านบาท  ภาคเหนือ 17,665 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7,849 ล้านบาท ภาคใต้ 7,045 ล้านบาท และภาคตะวันตก 2,885 ล้านบาท ตามลำดับ  

นอกจากนี้ การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart และ Sustainable Industry ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจมากขึ้นเป็นลำดับ ในไตรมาสแรก ปี 2567 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 105 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน รองลงมาคือ ด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต 

ขณะที่การอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ไตรมาสแรก ปี 2567 มีจำนวน 785 โครงการ เงินลงทุนรวม 254,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 โดยประโยชน์ของโครงการเหล่านี้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาท/ปี มีการใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 2.4 แสนล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด และเกิดการจ้างงานคนไทยประมาณ 50,000 ตำแหน่ง  สำหรับการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยมีจำนวน 647 โครงการ เงินลงทุนรวม 256,930 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 107

“จังหวะเวลานี้มีความสำคัญ และเป็นโอกาสทองของประเทศไทยในการดึงการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ เพื่อวางรากฐานเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เราเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการลงทุนของภูมิภาค ด้วยความโดดเด่นในหลายๆด้าน โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความเสถียรของไฟฟ้าและความพร้อมด้านพลังงานสะอาด ซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง คุณภาพของบุคลากร สภาพแวดล้อมที่ดี ปัจจัยที่เอื้อสำหรับการเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยของผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ในไตรมาสแรกนี้มีการลงทุนสำคัญเกิดขึ้นในไทยหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ รวมทั้งโครงการผลิตเอนไซม์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ซื่งเป็นโครงการไบโอรีไฟเนอรี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ความพร้อมของไทยสำหรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และทำให้เห็นว่าประเทศไทยสามารถตอบโจทย์การลงทุนในทิศทางใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกได้เป็นอย่างดี” นายนฤตม์กล่าว
#บีโอไอ #ข่าววันนี้ #ลงทุน #ยานยนต์ #อีอีซี