เมื่อวันที่ 19 เม.ย.67 ที่ผ่านมา องคมนตรี พลากร สุวรรณรัฐ เป็นประธานในพิธีประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 เนื่องในวันปกรณ์ 2567 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่นักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น จำนวนทั้งสิ้น 16 คน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย (1) ประเภทวิชาชีพ จำนวน 6 คน   (2) ประเภทผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 3 คน และ (3) ประเภทอาสาสมัคร จำนวน 7 คน ณ ห้องประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว ถนนกรุงเกษม กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่นักสังคมสงเคราะห์ และเป็นแบบอย่างที่ดีในการยึดถือปฏิบัติของคนในสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ มูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ และองค์กรภาคีเครือข่าย จัดพิธีประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.2566 เนื่องในวันปกรณ์ 2567 


ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาสังคมมีความหลากหลายและมีความท้าทายหลายมิติ นักสังคมสงเคราะห์กับงานสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการคุ้มครองทางสังคม การทํางานในรูปแบบวิชาชีพภายในหน่วยงานผู้ปฏิบัติงานรวมถึงอาสาสมัครที่เสียสละอุทิศเวลาทํางานกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสกลุ่มเปราะบาง แต่ละภาคส่วนจึงล้วนเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการทํางานให้สังคมไทยดำรงอยู่ได้โดยปกติสุข 


คนรุ่นใหม่จิตอาสา “ธันย่า” ธันยลักษณ์ พรหมมณี ทูตอัตลักษณ์ไหมไทย ประจำราชอาณาจักรไทย กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับโล่ประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประเภทอาสาสมัคร ประจำปี พ.ศ. 2566 ร่วมงานโดดเด่นด้วยชุดผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ชิ้นสวยผสานกับเทรนช์โค้ท (Trench Coat) ที่เธอออกแบบให้มีความร่วมสมัยให้ความรู้สึกความเท่ห์และดูสมาร์ทได้อย่างดี จนผู้ร่วมงานต่างพากันชื่นชมและชื่นชอบเป็นอย่างมาก ได้กล่าวภายหลังการรับโล่ประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ ว่า ... “งานสังคมสงเคราะห์ เป็นการงานเสียสละทั้งพลังกายพลังใจเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อส่วนร่วม เป็นการบริหารจัดการ ศิลปะการใช้ชีวิต (ART OF LIVING) เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นวิทยาศาสตร์ และวิชาชีพ ในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ 


ธันย่า ได้รับโอกาสส่งมอบประสบการณ์ที่มีนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับทรัพยากรต่างๆในชุมชน ยิ่งในช่วงการได้ร่วมลงพื้นที่ร่วมกับกระทรวง พม. และในระหว่างการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูงการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 11 สถาบันพระปกเกล้า ธันย่าได้มีโอกาสพบเจอสังคมผู้คนมากมากหลากหลายวงการ ได้สร้างคุณค่าของการแบ่งปันที่คืนสู่สังคม ส่งเสริมผ้าย้อมครามนิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และได้ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่ม เกษตรกร สตรีในชนบท ครอบครัวผู้ได้รับความรุนแรง กลุ่มเปราะบาง และผู้ต้องขังในเรือนจำ สร้างกำลังใจการสนับสนุน รวมไปถึงการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจช่วยแนะแนวทำการตลาดของผลิตภัณฑ์ พัฒนาแผนธุรกิจเพื่อขยายตลาดสู่ต่างประเทศ” 


 การสร้างมูลค่าจากการประยุกต์ผ้าไทยด้วยการใสไอเดียดีไซน์ทันสมัย จากประสบการณ์ในอุตสาหกรรมการออกแบบสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเกือบ 10 ปี และจากการศึกษาสถาบันแฟชั่นและการออกแบบ Istituto Marangoni ประเทศฝรั่งเศส และส่งเสริมให้สวมใส่ผ้าไทยออกงานสังคมต่างๆ เพื่อการขับเคลื่อนการสื่อสารแบบ Soft Heart Smart Power ให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ได้รู้จักถึงเสน่ห์จากงานศิลปะบนผืนผ้าของไทย อันเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยในแต่ละท้องถิ่น จากภูมิปัญญาปราชญ์ชุมชน


การอุทิศตนอาสาสมัคร ร่วมปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ที่เปี่ยมไปด้วยความมเสียสละ นับได้ว่านี่คือพลังคุณความดีที่งดงาม เป็นแบบอย่างที่ดีการสร้างคุณค่าที่คืนสู่สังคม