“อลงกรณ์” ชี้ประเทศเผชิญวิกฤติศรัทธา ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง จุดยืนพรรคการเมืองและกระบวนการยุติธรรม แนะ “ทักษิณ” ยอมรับความผิดและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเดินกลับเข้าคุกเหมือนนักโทษคนอื่น

วันที่ 21 เม.ย.67 นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีตรัฐมนตรี และอดีต สส. 6 สมัย กล่าวในหัวข้อ“ทิศทางการเมืองไทย” ในงานสัมนา “วันนี้ประเทศไทยเกิดอะไรขึ้น?” ณ โรงแรมบาซาร์ รัชดากรุงเทพ ตอนหนึ่งว่า ประเทศกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติศรัทธาเพราะประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้งและไม่มั่นใจในจุดยืนอุดมการณ์ของพรรคการเมืองรวมทั้งประเด็นปัญหากระบวนการยุติธรรมกรณีอดีตนายกฯทักษิณ

ประเด็นประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับรากฐานของระบอบประชาธิปไตยเพราะการเลือกตั้งเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย แต่ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งและรวมเสียงได้เกินกว่าครึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ จนมีคำถามว่า“แล้วจะมีเลือกตั้งไปทำไม ?”“ทำไมถึงไม่เคารพเสียงของประชาชน?”

ยิ่งกว่านั้น พรรคการเมืองที่อยู่คนละขั้วประกาศในระหว่างหาเสียงว่าจะไม่จับมือกันกลับไม่รักษาคำพูดโดยร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลทำให้เกิดคำถามถึงจุดยืนและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคแกนนำรัฐบาลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบพรรคการเมืองโดยตรง การเลือกตั้งและพรรคการเมืองมีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย หากประชาชนโดยเฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกขาดความเชื่อมั่นก็ยากต่อการพัฒนาการเมืองในอนาคต

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในปีนี้จะมีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่จะส่งผลต่อปัจจุบันและอนาคตของการเมืองไทยได้แก่

1. การเลือก สว. ชุดใหม่

2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

3.การตรากฎหมายนิรโทษกรรม

4.การปรับคณะรัฐมนตรี

5.คดียุบพรรคก้าวไกล

6. ปัญหากระบวนการยุติธรรมจากกรณีอดีตนายกฯทักษิณ

สำหรับเรื่องการยุบพรรคนั้น ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคโดยมีความเห็นว่าพรรคการเมืองเป็นองค์กรทางการเมืองที่ประกอบไปด้วยสมาชิกพรรค สาขาพรรคและตัวแทนพรรค การลงโทษใดๆควรดำเนินการกับกรรมการหรือคณะกรรมการบริหาร

ส่วนกรณีอดีตนายกฯทักษิณ กระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายและหลักนิติรัฐของประเทศอย่างร้ายแรง ข้อแนะนำคืออดีตนายกฯทักษิณเมื่อกลับเข้ามายอมรับความผิดต้องสำนึกผิดอย่างแท้จริงและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงลดโทษให้ด้วยการเคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมโดยเซทซีโร่เดินกลับเข้าคุกเริ่มต้นขั้นตอนการลงโทษเหมือนนักโทษคนอื่นๆจะเป็นตัวอย่างที่ดีของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

นายอลงกรณ์ ยังกล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ว่าได้สรุปบทเรียนความผิดพลาดในอดีตโดยเฉพาะประเด็นจุดยืนและอุดมการณ์ที่ถูกมองว่าพรรคละทิ้งอุดมการณ์ประชาธิปไตยไปร่วมกับเผด็จการและสนับสนุนการสืบทอดอำนาจจนมีข้อกล่าวหาว่าจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพรรคประชาประชาธิปัตย์สะท้อนจากผลการเลือกตั้งปี 2562 และ 2566 จากพรรคที่มี สส.กว่า 100 คนเหลือเพียง 25 คน หลายพรรคการเมืองในวันนี้กำลังตกอยู่ในกับดักที่ประชาธิปัตย์เคยประสบมาก่อนเมื่อใดที่ประชาชนไม่เชื่อมั่น เมื่อนั้นพรรคการเมืองก็ไม่มีอนาคต 

”บทเรียนความผิดพลาดในอดีตที่ต้องจ่ายด้วยราคาแพงเป็นบทเรียนสำคัญวันนี้พรรคประชาธิปัตย์เหมือนเงาะถอดรูป พรรคประชาธิปัตย์กำลังวางปัจจุบันและอนาคตบนแนวทางประชาธิปไตย ความซื่อสัตย์สุจริต วิสัยทัศน์ก้าวหน้าและนโยบายทันสมัยโดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคได้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทำหน้าที่กำหนดทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนพรรคสู่การเป็นสถาบันทางการเมืองที่แท้จริงของประเทศเน้นการเปิดกว้างสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน หวังว่าความพยายามครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์จะสามารถฟื้นฟูศรัทธากลับมาด้วยโอกาสใหม่ที่ประชาชนมอบให้“นายอลงกรณ์ กล่าว