บยสส. 3 เปิดเวทีสัมมนา “สื่อสารอย่างไรให้เท่าเทียม: สิทธิของ LGBTQIAN+ กับการเปิดรับของสังคม” ชี้ทัศนคติสังคมไทยต้องเปลี่ยน เริ่มจากครอบครัวและสถาบันการศึกษา เพราะแม้พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมผ่านสภาฯแต่สังคมไทยยังย้อนแย้งบางส่วน พร้อมชวนสังคมและสื่อมองความหลากหลายทางเพศคือเรื่องปกติ
20 เมษายน 2567 เพื่อร่วมสร้างสังคมที่เคารพและให้คุณค่ากับการเปิดรับความหลากหลายทางเพศ หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3 ร่วมกับสถาบันอิศรา ได้ร่วมจัดเวทีสัมมนาสาธารณะ “สื่อสารอย่างไรให้เท่าเทียม: สิทธิของ LGBTQIAN+ กับการเปิดรับของสังคม” กล่าวเปิดงานโดย คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ผู้อำนวยการหลักสูตร บยสส. รุ่นที่ 3 ณ Hall 1 – 2 ชั้น 10 อาคารอเนกประสงค์ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ
คุณพินิจ จารุสมบัติ ประธานผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3 เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาสาธารณะในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้สะท้อนความคิดและมุมมองสู่สาธารณะ เพื่อให้สังคมไทยรวมถึงสื่อมวลชนรวมมีความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ ในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับทุกคน “การเคารพในความหลากหลาย เป็นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ที่จะต้องให้ความเคารพ ลดความขัดแย้ง ลดปัญหา ความเหลื่อมล้ำและการเลือกปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และหวังว่าการสัมมนาจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยต่อไป”
คุณณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ได้มีโอกาสทำงานกับครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ พบว่าพ่อแม่มักมีความรู้สึกว่าตนเองทำอะไรผิด ถึงมีลูกเป็น LGBTQIAN+ จึงต้องทำอย่างไรให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองก้าวข้ามความรู้สึกเหล่านั้นไปได้ ในเวลาเดียวกันลูกก็จะรู้สึกว่าตนเองต้องทำเกินกว่าคนอื่น ๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ ทั้ง ๆ ที่การได้รับความรักเป็นเรื่องพื้นฐานของครอบครัว จึงทำคู่มือชื่อ “บ้านนี้มีความหลากหลาย” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานหลากหลายเพศ สำหรับเรื่องการสื่อสารอย่างไรให้เท่าเทียมนั้น สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา คือต้องไม่ตั้งสมมุติฐานว่า “ทุกคนจะเหมือนเรา” ต้องมีทัศนคติว่าคนมีความแตกต่าง มีความเฉพาะและมีชีวิตของตัวเอง การสื่อสารก็จะเป็นการสื่อสารด้วยความเคารพ เช่น เราเป็นผู้หญิงข้ามเพศ ก็ควรถามเราว่าอยากให้เรียกว่าอะไร บางคนยังไม่เปลี่ยนชื่อ ชื่อยังเป็นผู้ชายก็อาจไม่อยากให้เรียกชื่อนั้นก็ได้ เป็นต้น ในฐานะสื่อต้องเรียนรู้ความแตกต่างหลากหลาย อย่าใช้คำนี้ไปครอบทุกอย่าง และต้องเห็นความหลากหลายเรื่องคนข้ามเพศ ที่ไม่ได้มีแค่ผู้หญิง ผู้ชาย แต่มีnon-binary ด้วย เป็นเรื่องที่เราต้องรู้เท่าทัน เพราะโลกเดินมาไกลมาก
คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล และผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง เปิดเผยว่า การสื่อสารอย่างเท่าเทียมและความเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้จริง จะต้องเปลี่ยนที่ทัศนคติของคนในสังคม โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดในการสร้างความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้ใหญ่อย่างครูที่จะต้องเปิดกว้างกับนักเรียนด้วยความเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ แม้ว่าปัจจุบันนี้ ร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ผลักดันมาตั้งแต่ตอนที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะผ่านความเห็นชอบและเตรียมเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาภายในระยะเวลารวดเร็วกว่าที่คาดไว้ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการสร้างความเข้าใจแก่สังคมให้มองว่ามนุษย์เท่ากัน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราทุกคนควรได้แต่กำเนิด ซึ่งจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมาจากการหล่อหลอมของสถาบันการศึกษา ในส่วนของมุมมองที่มีต่อสื่อนั้น มองว่าปัจจุบันคนทำสื่อมีความตระหนักกับประเด็นเหล่านี้มากขึ้น เมื่อสื่อมีการเรียกหรือคำพูดที่ไม่เหมาะสมจะมีการฟีดแบ็คจากสังคมทันที และหวังว่าเมื่อมีการสื่อสารถึงตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ จะมีการใส่ความเป็นมนุษย์เข้าไปมากกว่าการสร้างภาพจำบางอย่างดังที่เคยมีมาในอดีต ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นมาก และในส่วนตัวแล้วนั้นจะต่อสู้จนถึงวันที่ไม่มีคำว่าซีรีส์วาย LGBTQIAN+ เพราะทุกคนเท่ากันหมด โดยไม่ต้องตัดสินว่าคนอื่นมีรสนิยมทางเพศแบบไหน เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคล
คุณรัศมีแข ฟ้าเกื้อล้น นักแสดงชื่อดัง ให้ความคิดเห็นถึงความแตกต่างของสังคมไทยกับในต่างประเทศโดยเฉพาะที่ประเทศสวีเดนว่า มีความแตกต่างกันมากโดยในเชิงปฏิบัติของประเทศไทยนั้นมีความย้อนแย้งกับกฎหมายที่กำลังรอการพิจารณาจากวุฒิสภา ขณะที่ในต่างประเทศให้การยอมรับและมีจุดยืนที่ชัดเจน เช่น ตำรวจ แพทย์ นักการเมือง ที่มีจากหลากหลายอาชีพก็สามารถแสดงออกได้ รวมถึงเรื่องการท่องเที่ยว การรับรองบุตร ที่สามารถเปิดรับสิทธิในเรื่องนี้ โดยมองว่าเรื่องของการเป็นบุคคลข้ามเพศเป็นเรื่องของรสนิยมทางเพศที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องแปลก ถือเป็นการให้เกียรติทางสังคม ต้องให้ความเคารพความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีหลายประเทศให้การยอมรับและสนับสนุนในเรื่องนี้ และถ้าเลือกปฏิบัติอาจจะเสียโอกาสที่จะได้บุคลากรที่ดี ส่วนเรื่องความคิดเห็นเรื่องการสื่อสารอย่างไรนั้น มองว่าให้เน้นในเรื่องของความมีมารยาท นำมาใช้ในการสื่อสารทางสังคม
คุณดารัณ ฐิตะกวิน นักแสดงชื่อดัง เผยมุมมองว่า การสื่อสารให้เท่าเทียมต้องเริ่มจากความเป็นพ่อแม่ที่ต้องเปิดรับเปิดกว้าง ทำให้ลูกเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมในภาพกว้าง เข้าใจในเรื่องการใช้ชีวิตที่มากกว่าเรื่องของรสนิยมทางเพศ เพราะเราเป็นมนุษย์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยและอยู่ด้วยกัน เราทุกคนอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง อะไรที่ผ่านมาก็มีสิ่งที่ดีที่เราเรียนรู้ นอกจากนี้ทัศนคติของสังคมคือเรื่องสำคัญ โดยควรมองให้เป็นเรื่องปกติ และไม่ใช้เรื่องเพศในการนำทางชีวิตคู่ แต่ใช้ความเอื้ออาทร ความสบาย ความสุขที่อยู่ด้วยกัน ถ้าสนใจจะพัฒนาตัวเองมากกว่าการวิจารณ์คนอื่น สังคมจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้ทุกอย่างเป็นการใช้ชีวิต ทุกสิ่งคือธรรมชาติของมนุษย์ และนำพาไปสู่ความเป็นปกติ