ภัยแล้งกระหน่ำตรังหนัก พื้นที่พืชผลทางการเกษตรเสียหายยับ ยางพารา ทุเรียน ตายยกสวน วอนภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานขอฝนเทียม บรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษจรกนอย่สงเร่งด่วน ก่ินเกิดวิกฤตบานปลายไปมากกว่านี้

นายสุภัทธ คงด้วง เกษตรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มอบหมายให้ นายอำนาจ เซ่งเซี่ยง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ และนางสาวชุติมา อ่องศรี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอําเภอปะเหลียน ลงพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลสุโสะ อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เพื่อติดตามสวนยางพาราที่ประสบปัญหาจากฝนทิ้งช่วงในภัยแล้ง โดยแปลงดังกล่าวปลูกยางพาราช่วงกลางปี 2566 ซึ่งในปีนี้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง ทำให้ยางพาราบางส่วนยืนต้นตาย 

ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรอำเภอปะเหลียนได้มีการดำเนินการเตรียมรับมือภัยแล้งมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 โดยการแจ้งขอรับบริการฝนหลวงของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านทางสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง

เบื้องต้นได้มีการแนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีรักษาความชื้นในหน้าดิน เพื่อไม่ให้หน้าดินมีความแห้งจนเกินไป และหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมมากคือการคลุมดิน หรือห่มดิน โดยใช้วัสดุเหลือใช้ในการทำการเกษตร เช่น หญ้า ฟาง ใบไม้ ทางมะพร้าว หรือทางใบปาล์ม เพื่อให้หน้าดินไม่แห้ง และรักษาความชื้นได้นานจนเกิดการย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุ อีกทั้งยังแนะนำให้เกษตรกรปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันทุกปี และเมื่อได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติคือ ให้ทำการแจ้งข้อมูลความเสียหายเบื้องต้นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทราบ เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป

ด้าน นางนิตยา จันทร์ประทีป เกษตรอำเภอเมืองตรัง พร้อมด้วย นางนนิดา คุปต์กาญจนากุล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง และนางกนกกาญจน์ คงแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง ร่วมกับ นายชัยวัฒน์ เพชรเล็ก อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ติดตามแปลงทุเรียนที่ประสบปัญหาจากฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง ณ สวนทุเรียน และแปลงเกษตรผสมผสานของ ว่าที่ร้อยโทธนภัทร หลักเพชร หมู่ 6 ตำบลหนองตรุด อำเภอเมือง จังหวัดตรัง

 

พื้นที่เกษตรมีการปลูกทุเรียน อายุ 3 ปี จำนวน 7 ไร่ 3 งาน สละสุมาลี จำนวน 7 ไร่ กล้วยหอมทอง จำนวน 7 ไร่ มะละกอ จำนวน 8 ไร่ และส้มโอ จำนวน 8 ไร่ ซึ่งภายในแปลงมีการขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำ จำนวน 2 สระ ลึก 20 เมตร และ 10 เมตร และมีการจัดการทำระบบน้ำ โดยสมบูรณ์ทั่วทั้งพื้นที่เพาะปลูก แต่ประสบปัญหาขาดน้ำ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงในฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ทำให้น้ำในสระไม่เพียงพอในการทำการเกษตร ส่งผลให้ต้นทุเรียนจำนวนมากยืนต้นตายเสียหายสิ้นเชิง และไม้ผลอื่น ๆ ขาดน้ำในระดับวิกฤติ

 

เบื้องต้นได้มีการแนะนำให้ ปลูกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ขึ้นทะเบียนและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ และสิ่งสำคัญเมื่อได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติคือ ให้ทำการแจ้งข้อมูลความเสียหายเบื้องต้นให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทราบ เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือในขั้นตอนต่อไป