”สามารถ“เชื่อ ประเทศจะอยู่ได้ต้องมีหลักนิติธรรม ศาลต้องเป็นกลาง มอง ไม่จำเป็นต้องให้“ก้าวไกล”ชี้แจงอีก เหตุมีคำวินิจฉัย ม.112 ไปแล้ว
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลขอยื่นขยายเวลาการส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คำร้องยุบพรรค เนื่องจากข้อกล่าวหาการล้มล้างการปกครองในวันนี้ 17 ก็อยู่ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้พรรคก้าวไกลเลื่อนหรือไม่ เพราะเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้ส่งเอกสารเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยส่งมาก่อนแต่ลืมเอกสารบางส่วน จึงต้องส่งมาใหม่ นี่คือเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ ตนกำลังจะบอกว่า ประเทศไทยจะอยู่ได้ต้องมีหลักนิติธรรม ศาลต้องทำตัวเป็นกลาง และศาลไม่ควรที่จะขัดแย้งกับคำพิพากษาก่อนหน้า
นายสามารถ กล่าวต่อว่า ในเรื่องของพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว โดยระบุว่า การแก้ไขมาตรา 112 ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คนใช้เวลาเกือบ 1 ชม.ในการอ่านคำวินิจฉัยที่ทนายของพุทธะอิสระร้องนายพิธากับพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ
“รัฐธรรมนูญมาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมายเพื่อเป็นมาตรการปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการคือ ระบอบประชาธิปไตย และพระมหากษัตริย์ โดยหลักนี้เป็นบัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2495 และบัญญัติในทำนองเดียวกันไว้ในรัฐธรรมนูญต่อมาทุกฉบับ บทบัญญัติมาตรานี้คุ้มครองมิให้ใช้สิทธิ หรือเสรีภาพที่จะส่งผล เป็นการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ และสั่นคลอนคติรากฐาน ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ ให้เสื่อมทราม หรือสิ้นสลายไป“
ส่วนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำอันเป็นความผิด และกำหนดอัตราโทษ แก่ผู้กระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินีรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากผู้ใดกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ต้องได้รับโทษทางอาญาเพราะเหตุแห่งการกระทำนั้น สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้พระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหนึ่งในรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องมาจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์ โบราณราชประเพณี นิติประเพณี ซึ่งนอกจากจะมีลักษณะเป็นสถาบันหลักของประเทศแล้ว องค์พระมหากษัตริย์ยังทรงดำรงอยู่ในฐานะ อันเป็นที่เคารพสักการะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
นายสามารถ กล่าวต่อว่า นี่คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ประกาศไปทั่วแล้ว การที่จะให้พรรคก้าวไกลหรือนายพิธา ยื่นคำชี้แจงนั้น ตนคิดว่า ไม่มีอะไไรต้องยื่น เพราะ กกต.ทำมาครบถ้วนตามที่ศาลฯมีคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.ประกอบกับนายทะเบียนได้ส่งร่างมาตรา 112 พร้อมชื่อของ สส. 44 คนมาด้วย ฉะนั้นการที่ตนได้ข่าวมาจากนกกระจอก นกกระจิบ จากย่านแจ้งวัฒนะว่า มีการจะให้ศาลรัฐธรรมนูญอุ้มพรรคก้าวไกลให้เลยเดือนเมษายนไปก่อนเพื่อที่จะให้ สว.หมดอายุในการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 พ.ค.หรือถ้าตามมาตรา 272 ก็คือจะไปหมดวันที่ 24 พ.ค.
“ผมกำลังจะบอกว่าการที่เลี้ยงพรรคก้าวไกลไว้แบบนี้ มันเข้าทางพรรคเพื่อไทย ผมพูดอยู่หลายครั้งว่า พรรคเพื่อไทยเองก็ใช้ ม.112 หาเสียงเหมือนกัน หากมีการยุบพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทยสะเทือนแน่ และ การจะเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน จะสั้นลงทันทีถ้ามีการยุบพรรคก้าวไกล เพราะ สส.จะถูกย้ายพรรคไปอยู่พรรคอื่น ซึ่งไม่ใช่พรรคก้าวใหม่ นั่นก็จะทำให้ดุลสมการการเมืองเปลี่ยน ที่ผ่านมาหนึ่งปีของรัฐบาล 2 สมัยประชุมสภาฯไม่มีพรรคฝ่ายค้านทำหน้าที่เหมือนในอดีต ไม่มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจมาตรา 151 เลยซึ่งวันนี้ผมกำลังจะบอกว่า ประเทศไทยเดินตามเขมรหรือไม่ ที่มีพรรคฝ่ายค้านเทียม ๆ เพื่อหลอกให้รัฐบาลได้ทำงานได้อย่างสุรุ่ยสุร่าย เรื่องนี้ผมคิดว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องทำให้ถูกต้อง อย่าใช้หลักนิติธรรมที่บิดเบี้ยว วันนี้ทำให้ถูกและครบถ้วน ผมว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน“