เรื่อง : ปาริชาติ เฉลิมศรี
ภาพ : พสุพล ชัยมงคลทรัพย์
หมายเหตุ : “ชัย วัชรงค์” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษ เปิดใจ “ทีมข่าวการเมืองสยามรัฐ” ถึงหน้าที่และภารกิจ การสื่อสาร ถ่ายทอดข้อมูล ผลการดำเนินงานต่างๆของรัฐบาล ตลอดจนการทำความเข้าใจทั้งเรื่องนโยบาย ไปจนถึงการรับมือกับมิติทางการเมือง ตลอดห้วงเวลา 7 เดือนที่ผ่านมา โดยต้องเผชิญกับแรงกดกัน ไปพร้อมๆกับความท้าทาย
- การทำงานในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในห้วง 7 เดือนที่ผ่านมามีความพอใจอย่างไรบ้าง
ถามว่าพอใจไหม ก็พอใจ รู้สึกว่าสนุกรู้สึกว่างานท้าทาย รัฐบาลมีกิจกรรมเยอะมากๆ แปรผันไปตามความขยัน กระตือรือร้นของคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทั้งภารกิจเยี่ยมเยียนประชาชน และการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งปริมาณข้อมูลข่าวสารยิ่งในโลกปัจจุบันเคลื่อนไหวเร็ว ดังนั้นช่วง 7 เดือนแรก ผมใช้เวลาปรับตัวพอสมควร แต่การปรับตัวก็เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้แนวทางการทำงานในโลกของการสื่อสารยุคใหม่
- การทำงานก่อนเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง บรรยากาศการเมืองมีความแตกต่างอย่างไร
ก่อนเลือกตั้งมีบทบาทอยู่ที่ภารกิจของพรรค ซึ่งผมเป็นคณะทำงานนโยบายเกษตรของพรรคเพื่อไทยและคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ และเริ่มมีภารกิจมากขึ้นช่วงการเลือกตั้งที่ต้องเดินสายไปกับนายกรัฐมนตรี ช่วยสส.บางพื้นที่ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง ซึ่งผมไม่เคยขึ้นเวทีมาก่อน ก็สนุกเป็นอะไรที่ท้าทาย
- ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล บรรยากาศการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่
บรรยากาศการเมืองเปลี่ยน เพราะก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน เราเป็นฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์เขา เป็นฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลทำอะไรขาดตกบกพร่อง แต่ตอนนี้เราเป็นคนแสดง เป็นคนดำเนินการ เป็นคนบริหารก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกจับผิด พูดง่ายๆ ไม่ว่าจะทำอะไรในทางการเมือง ไม่มีทางที่จะได้รับคำชม หรือความเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์ ในโลกการเมืองที่เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีฝ่ายค้าน ทำอะไรไปก็ต้องมีเสียงตำหนิ ติติงเสมอ ก็ต้องพร้อมที่จะรับฟัง ต้องอดทน ถือเสียว่าในเวทีประชาธิปไตย เรื่องแบบนี้เป็นของธรรมดาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
- มีการปรับจูนการทำงานกับส่วนต่างๆ ในรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง
ผมมาจากภาคเอกชนเมื่อเห็นอะไรที่ไม่ถูก ไม่เหมาะสม หรือเห็นตัวเลขที่ไม่ใช่ คลาดเคลื่อนในภาคเอกชนจะทักท้วงทันทีว่าไม่ถูก จะมีการแนะนำ ซึ่งทางการเมืองทำอย่างนั้นทุกครั้งไม่ได้ มันไม่เหมือนภาคธุรกิจ ต้องระวังมากกว่าเดิม ภาคธุรกิจปัจจัยแวดล้อมไม่ซับซ้อน เราบริหารจัดการไม่กี่ปัจจัยก็ลงตัว แต่การเมืองมีคนมีส่วนได้เสียจำนวนมาก แม้กระทั่งเสียงส่วนน้อยในบางเรื่อง ก็เป็นเสียงส่วนน้อยที่มีพลังมาก ซึ่งแตกต่างจากภาคธุรกิจ
การเมืองไม่มีอะไรชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ มันซับซ้อน ระบอบประชาธิปไตยยึดเสียงส่วนมาก แต่หลายๆ ครั้งก็ทำไม่ได้ หรือเป็นเรื่องเซนซิทีฟ ยกตัวอย่าง เรื่องที่เราต้องการเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ สิ่งที่เราจะทำได้ทันทีคือ เอาคนระดับมหาเศรษฐีของโลกมา 1 ล้านคน แต่ละคนมาซื้อดินได้ไม่เกินคนละ 1 ไร่ สมมติเอาเงินลงทุนมาคนละ 30 ล้านบาท ซึ่งจะเท่ากับ 10 เท่าของเงินงบประมาณไทย ถ้าทำได้ถือว่ายอดเยี่ยม ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ 300 กว่าล้านไร่ เราให้พวกเขามาซื้อครอบครองคนละ 1 ไร่ ก็ไม่ได้เยอะอะไร เพราะเมื่อเขาซื้อก็ไม่สามารถเอากลับไปได้ เรื่องนี้ถ้าพิจารณาด้วยเหตุผลก็โอเค
แต่ความรู้สึกคนไทยคำว่า “ขายชาติ” จะมาทันที ฉะนั้นการเมืองใช้เหตุผลอย่างเดียวไปไม่ได้ แม้ว่าเหตุผลจะดีมากๆ แต่ความรู้สึกที่เซนซิทีฟของคนมองข้ามไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
อย่างเรื่องกาสิโน เราก็รู้ว่าประเทศไทยมีการเปิดวงพนัน เก็บส่วยทั่วไปหมด ถ้าจะให้ดีจริงนำเอามาอยู่บนโต๊ะ ต้องยอมรับความเป็นจริงรายได้ก็จะดีขึ้น แทนที่จะรั่วไหลออกไป เพราะถ้าคนจะเล่นอย่างไรเสียก็จะดิ้นรนหาเล่นกันจนได้ ทั้งนี้สามารถควบคุมได้ แต่จะไม่เพอร์เฟคร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งคนที่ค้านก็จะเอาส่วนมาเป็นเหตุผลในการค้าน แต่คนจะไปเน้น พอเด็กวัยรุ่นหรือคนที่เข้าไปเล่นแล้วเสียผู้เสียคนติดหนี้ ทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว แต่ในขณะเดียวกันภาพรวม อาจจะมีประโยชน์กับประเทศเป็นแสนล้านการเมืองมันซับซ้อนกว่าเดิม มีเรื่องของอารมณ์ มีเรื่องการเข้าใจของคน ข้อมูลข่าวสารที่คนได้รับ ไม่เหมือนธุรกิจบริษัทที่ง่ายกว่า
-ตอนที่ได้ยินคำวิจารณ์ “ขายชาติ” รู้สึกอย่างไร
รัฐบาลนี้ยังไม่โดนเท่าไหร่ แต่รัฐบาลที่แล้วมีไอเดียก็โดนแล้ว ทั้งที่เป็นรัฐบาลที่ชูนโยบายชาตินิยมยังโดน แต่เรายังไม่ได้ทำ เราแค่คิดว่าอันนี้ดี แต่คนที่มีประสบการณ์ในพรรค ในรัฐบาลบอกว่าเหตุผลมันผ่านคะแนนเต็ม 100 ได้ 95 คะแนน แต่ระวังเรื่องความรู้สึกของคน หากไปแตะเมื่อไหร่ จะเริ่มมีคนก่อหวอดว่าคิดจะขายชาติ ซึ่งในความเป็นจริงประเทศอื่นๆอย่าง สหรัฐอเมริกาเขาทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว ประเทศที่เจริญแล้ว เขาทำแบบนี้กันตั้งเยอะ เขาให้เศรษฐีเข้าไปซื้อที่ดินได้ด้วยกฎกติกาที่จำกัด ก็ไม่เห็นมีใครโดนข้อหาขายชาติ แต่ของไทยไม่ได้
- เมื่อมาทำงานกับสื่อมวลชน ต้องมานั่งชี้แจง หรือแถลงข่าว มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง
ผมรู้สึกสบายๆ เพราะผมติดนิสัยสื่อสารจากใจออกมาอยู่แล้ว มันไม่ยากสำหรับผมในการสื่อสารพูดคุย เพราะผมจะไม่มีเหลี่ยมว่า ข้อมูลอันนี้อย่าเพิ่งบอก หรือเปิดเผยสัก 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างนั้นจะยากหน่อย แต่ผมเป็นคนที่ ถ้าถามอะไรมา แล้วเรื่องนั้นผมรู้ ก็จะพูดออกไปจากทัศนะของผมไปแบบตรงๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นวิธีคิดคล้ายๆกับนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็เป็นคนที่ตรงมาก ฉะนั้นเวลาเป็นคนที่ตรงมากในทางการเมืองก็จะมีแรงกระแทกเยอะพอสมควร
- การทำงานของนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างไรบ้าง
เดินงานไว การขับเคลื่อนงานของนายกรัฐมนตรีทำไว ซึ่งผมต้องปรับสปีด ตอบสนองให้ไว มีการสื่อสารสาธารณะให้ไวขึ้น ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยเล่น x (ทวิตตอร์) เล่นแต่ไลน์หรือเฟซบุ๊กบ้าง ปรากฏว่าทีมงานบอกว่า ต้องเล่นทวิตตอร์ ซึ่งผมก็บอกว่า ไม่เห็นจำเป็น แต่พอ 1 เดือนผ่านไป กลายเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากทำให้งานด้านการสื่อสารไหลลื่นคล่องตัวดีขึ้น
- การสื่อสารช่วง 7 เดือนที่ผ่านสำเร็จอย่างไรบ้าง
ช่วง 2-3 เดือนแรก มีเสียงสะท้อนว่า เวลาเราสื่อสารทำได้ดี ฟังเข้าใจง่าย น่าฟัง แต่ข้อเสียคือ เราช้ากว่าสถานการณ์ ให้ข่าวช้าไป ก็ต้องปรับตัวเรื่องสปีดให้ไวขึ้น ซึ่งมีการบริหารจัดการภายในองค์กรว่า จะทำอย่างไรให้เรารับรู้ข่าวสารได้ไว และมีปฏิกิริยาตอบสนองให้เร็ว ฝ่ายหาข้อมูลต้องตอบสนองให้ไวช่องทางในการสื่อสารก็หลากหลายขึ้นซึ่งตอนนี้ก็ปรับไปเยอะ ตอนนี้เสียงบ่นนั้นไม่มีแล้ว
- ได้มีการวางแผนหรือไม่ว่า จะมีการปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนอย่างไร
มีการปรับปรุงเป็นระยะ เท่าที่มีการคุยกัน การสื่อสารที่เป็นตัวหนังสืออย่างเดียวคนรุ่นใหม่อาจจะไม่ชอบอะไรที่ยาวๆ ซึ่งจะต้องทำเป็นกราฟฟิก สรุปให้เข้าใจง่าย ถ้าได้ติดตามเว็บไซต์ไทยคู่ฟ้า จะเริ่มมีการทำกราฟฟิกมากขึ้น
- การที่รัฐบาลใช้สื่อโซเชียลมีเดีย จะเป็นดาบสองคมหรือไม่ เช่น การแสดงความคิดเห็นของประชาชน
เป็นธรรมชาติอยู่แล้วก็ต้องยอมรับ ไม่เล่นก็ไม่ได้ มันเป็นภาษาสังคมที่โลกยุคนี้ เขาทำกันอย่างนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนที่เป็นข้อเสียก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ ต้องอดทนมากขึ้น
อย่างที่ผมบอก พอเปิดมาก็เห็นคนเข้ามาวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าคิดในทางบวกก็ดีเหมือนกัน เพราะเราจะได้รู้ว่ามีจุดไหนที่คนมองว่าไม่ดี อะไรที่วิพากษ์วิจารณ์แล้ว เป็นการโจมตีตัวบุคคล ดูแล้วมีลักษณะด้อยค่า หรือมีอคติก็ข้ามๆไป ถ้าเอากลับมาคิดมาก ก็คงทำงานทางการเมืองไม่ได้ โลกยุคนี้คุณจะเห็นคนไม่พอใจอะไรต่างๆ ตลอดเวลา คนที่พอใจไม่ค่อยพูดคน 100 คนที่พอใจ ชม 5 คน แต่คนไม่พอใจ 20 คนถล่ม 30 คนหรือถล่มเกินกว่านั้น
- รู้สึกอย่างไรกับการที่มีคนมาวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีให้เสียหาย
ชินแล้ว แต่ก็ต้องพยายามแยกว่า เป็นคำวิจารณ์ติเพื่อก่อจริงๆ อย่างนี้ผมชอบ เพราะได้ใช้ประโยชน์ แต่การประชดประชัน เหน็บแนม เย้ยหยัน ดูแคลน เราก็จะไม่ไปตอบโต้ เพราะไม่มีประโยชน์ หากไปตอบโต้ก็ไม่จบ ลองคนจะวิจารณ์แล้ว คุณแก้ไขอย่างไร เขาก็มีเหลี่ยมมาไม่จบ ไม่สิ้น
ฉะนั้นฟังแล้วก็ต้องทำใจอดทน รู้ว่าคนเรามีหลายแบบ คนที่เขามีเหตุผล แนะนำส่วนที่ดีก็เก็บขึ้นมา อะไรที่เป็นเรื่องเลยเถิด เป็นเรื่องการโจมตีตัวบุคคลด้วยอคติ เรารู้เท่าทัน ก็อย่าไปโกรธ
-ในฐานะที่ติดตามนายกรัฐมนตรีไปต่างประเทศ ไปพูดคุยกับผู้นำประเทศต่างๆ มีการตอบรับ มีฟีดแบคต่อตัวนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง
มากๆ เลยนะ ผมได้มีโอกาสนั่งร่วมวง ในเวลาที่นายกรัฐมนตรีไป พบผู้นำประเทศต่าง ๆ ทุกคนต่างชื่นชมนายกรัฐมนตรีมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีสามารถตอบโต้และเจรจาได้อย่างชาญฉลาดเท่าทัน สังเกตว่านายกรัฐมนตรีได้รับการยอมรับจากนักธุรกิจระดับโลกสูง
เพียงแต่ว่าการเจรจาระดับนี้ กำลังพูดถึงเรื่องเม็ดเงินลงทุนเป็นพันล้าน เป็นหมื่นล้าน เป็นแสนล้าน หรือหลายๆ แสนล้าน มันไม่มีหรอกที่จะเจรจากันครั้งสองครั้ง แล้วเงินจะมาเลย ของพวกนี้ถ้าคนเคยมีประสบการณ์การทำธุรกิจ เคยทำโครงการต่างๆ จะรู้ว่าต่อให้มีสัญญาณบวกดี แต่กว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนจริงๆ ก็ต้องใช้เวลา 1-2 ปี ฉะนั้นคนที่วิพากษ์วิจารณ์คือ คนที่ไม่เคยทำธุรกิจ ไม่เคยรู้ว่า กลไกการลงทุนใหญ่ๆ ไม่ใช่การพูดคุยกันแค่ครั้งสองครั้งแล้วจบ ต้องใช้เวลา คนที่อยู่ในแวดวง จะรู้ว่าแบบนี้ทำเร็วแล้ว แต่คนที่วิพากษ์วิจารณ์ จะมองว่าไปมาแล้ว 14 ประเทศ มีเงินกี่บาทที่เข้ามาลงทุนต้องใช้เวลา
ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แถลงล่าสุด จากการคำนวณพบว่า ที่มีสัญญาณบวกชัดเจนที่จะเข้าลงทุนในประเทศไทย ประมาณ 558,000 ล้านบาทและที่รอคอนเฟิร์มอีก ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่า ให้คอยดูว่าสิ่งที่รัฐบาลให้คำมั่นสัญญา และแสดงความเชื่อมั่น ภายใน 2 ปีข้างหน้า การลงทุนจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาอย่างมหาศาลเหมือนสึนามิ ผมเชื่อที่นายกรัฐมนตรีบอก
ผมเคยแอบถามข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่เคยร่วมคณะกับผู้นำไทยในการเยือนประเทศต่างๆ สิ่งที่ต่างกันมากคือ ส่วนใหญ่ในอดีตเมื่อผู้นำไทยไปเจอผู้นำประเทศอื่นๆ ก็ไปจับมือ ถามสาธารณสุขดิบทั่ว ๆไป ไม่เจาะลึกลงรายละเอียด ถึงการแลกเปลี่ยน การค้า การลงทุนไม่ลึกเท่านายกฯ เศรษฐา แทบไม่เคยมี ถ้าจะมีก็ยุคสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร แต่หลังจากนั้นก็มีน้อยมาก ซึ่งข้าราชการก็ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะเป็นการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก ซึ่งเป็นเรื่องจริง
-คนที่วิพากษ์วิจารณ์ อาจจะไม่เห็นตรงนี้ เราจะมีวิธีการอย่างไร เพื่อให้เขาเห็นและรับรู้
ตอนนี้มีการสื่อสารกับประชาชนตลอด ทั้งการแถลงข่าวจากส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทำ Bulletin ที่สามารถเปิดอ่านออนไลน์ได้ และแท็บลอยด์ออกมาชี้แจง การสื่อสารก็มีอย่างต่อเนื่อง ส่วนคนที่วิจารณ์ เราห้ามเขาไม่ได้อยู่แล้ว คนที่เย้ยหยันไม่เห็นมีอะไรก็ปล่อยเขาไป ประชาชนที่เขาติดตามดูอยู่ ผมยังเชื่อว่าประชาชนจับต้องได้ อะไรที่เป็นสาระจริงๆ คนที่เย้ยหยันไม่จำเป็นต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องทำการบ้าน แค่จับเอามาเย้ยหยัน ประเทศไหนก็มีแบบนี้แต่เรามาดูผลลัพธ์ตอนท้ายดีกว่า
- นอกเหนือจากนโยบายของรัฐบาลที่จะออกมา จะทำให้เป็นความหวังประชาชน ทั้ง เรื่องแก้หนี้นอกระบบ เรื่องปากท้อง เรื่องคุณภาพชีวิต
เรื่องการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มว่ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยอะกว่าเดิม สินค้าเกษตรที่ปรับราคาขึ้น ทั้งยางพารา อ้อย ข้าว มันสำปะหลัง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน การพักหนี้เกษตรกร การแก้หนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เรื่องการลงทุนในประเทศไทย
- สำนักโฆษกฯ เป็นกระบอกเสียงรัฐบาล จะเดินหน้าอย่างไร เพื่อให้ประชาชนรับรู้นโยบาย การทำงานของรัฐบาล และการทำงานของนายกรัฐมนตรี
ต้องยึดมั่นในความเชื่อที่ว่า การสื่อสารที่ดีมีคุณภาพ จะช่วยให้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น จะช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน และจะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวม ผลงานของรัฐบาลดีขึ้น 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นก็ต้องรักษาคุณภาพการสื่อสารทั้งคอนเทนต์ ความรวดเร็ว ครอบคลุมชัดเจน
- โฆษกฯ อยากจะบอกอะไรประชาชน ที่ยังรอความหวังจากรัฐบาล ในการดำเนินการนโยบาย
ผมอยากจะพูดว่า ขณะนี้ผ่านมา 7 เดือนรัฐบาลยังไม่ได้ใช้ลงทุนเลย ที่บอกว่าใช้งบประมาณปี 2567 ไปแล้ว 40 เปอร์เซ็นต์ มันเป็นงบเงินเดือน งบรายจ่ายประจำ งบผูกพัน ไม่ได้เป็นของใหม่ใช้ไปพลางก่อน แต่งบที่จะมีผลต่อการลงทุน กลางเดือนเมษายนจะเริ่มแล้ว และที่สำคัญกำลังจะเสนองบประมาณปี 2568 อีก ทำให้มีงบประมาณที่จะได้ใช้ 2 ปีงบประมาณ ที่จะนำไปใช้ใน 17 เดือนจะทำให้การใช้จ่ายในภาครัฐไหลเข้า เม็ดเงินกระจายออกไป เศรษฐกิจจะคึกคักขึ้น
ผมรับประกันได้ว่า ความรู้สึกของคนที่ใช้จับจ่ายใช้สอย ทำมาหากิน ทันทีที่งบประมาณออก ท่านจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง ครึ่งปีหลังท่านจะรู้สึกว่า อะไรก็ดีขึ้นไปหมด และจะมีข่าวดี ประเทศเรากำลังเดินหน้าไปสู่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมารุ่งเรือง ประชาชนกินดีอยู่ดีอย่างแน่นอน