สคล. ถอดบทเรียนสงกรานต์ พบกว่า 73 จุด ปล่อยผีธุรกิจน้ำเมาเดินสายทำมิวสิก มาร์เก็ตติ้ง ทั่วไทย เปิดฟรีคอนเสิร์ต-เก็บตั๋วแลกเบียร์ ต่ำกว่า 20 ปี เข้างานกินดื่มชิลชิล ไร้การตรวจสอบ เข้าข่ายผิดมาตรา 32, 30 พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ หนุนพื้นที่ทำกิจกรรมปลอดเหล้า ต้องบังคับธุรกิจมีส่วนรับผิดชอบความเสียหาย
เมื่อวันที่ 15 เม.ย.67 นายธีระ วัชรปราณี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. ได้ร่วมกับอาสาสมัครเฝ้าระวังการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ พร้อมติดตามการตลาดของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอออล์รายใหญ่ 3 ราย ในเทศกาลสงกรานต์ ระหว่าง 13-14 เม.ย. 2567 พบว่า ธุรกิจเหล้าเบียร์ใช้การตลาดแบบ Music Marketing ระดมนักร้อง นักแสดง เดินสายทั่วประเทศ โดยมีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงการโซเชียลมีเดีย ในการจัดกิจกรรมกว่า 73 แห่ง จัดบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเครือข่ายดัง และห้างฯ ในท้องถิ่น ร้านอาหาร ผับ บาร์ ลานกิจกรรม โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะฟรีคอนเสิร์ต และส่วนน้อยที่จัดแบบล้อมรั้วขายบัตร โดยใช้ตราสัญลักษณ์ (โลโก้) น้ำดื่มหรือโซดาโฆษณาบังหน้า แต่ที่จริงเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เต็มๆ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 32 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในการทำโฆษณาสื่อสารการตลาด
“เราพบว่าค่ายเบียร์สีเขียว นอกจากระดมจัดคอนเสิร์ตแล้ว ยังใช้ร้านค้าย่อยกว่าแสนจุดที่ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน สะท้อนความแข็งแกร่งของเครือข่ายจัดจำหน่ายของค่ายนี้ รองลงมาคือเบียร์สีแดง ที่ใช้โจทย์เรื่องความเซ็กซี่ ส่วนเบียร์น้องใหม่ที่กำลังเข้ามาแย่งตลาดเน้นจัดโปรโมชั่นลดราคาและร้านค้าย่อยๆ โดยทั้งหมดพบใน 42 จังหวัดเป้าหมายที่หวังผลกระตุ้นยอดขาย ทำให้ผมเป็นห่วงในการทำตลาดของ 3 ค่ายรายใหญ่ ที่อาศัยเทศกาลประเพณีจัดกิจกรรมที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นช่องว่างของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องหลับตาสองข้าง เพื่อหวังกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะที่เป็นข่าวว่า เบียร์รายใหม่ที่เปิดตลาดแล้วขายไม่ออก เพราะถูกกลไกการตลาดของค่ายเก่ายี่ห้อสีเขียว สีแดง รวมตัวกันปิดช่องทางขาย จะยิ่งใช้โอกาสเทศกาลนี้ เร่งระบายเบียร์ของตนเอง ที่กำลังจะหมดอายุไม่เกิน 6 เดือน” นายธีระ กล่าว
นายธีระ กล่าวต่อว่า การตลาดแบบจัดแสดงดนตรีพ่วงขายแบบลดราคา ทั้งแบบฟรีคอนเสิร์ต และแบบเก็บบัตร และมีลักษณะซื้อบัตรนำไปแลกได้เบียร์ในงาน โดยเฉพาะการขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี แม้จะมีการตรวจอายุ และใช้สายรัดข้อเพื่อแยกว่าเป็นบุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไปหรือไม่ แต่ความจริงไม่ได้ตรวจจสอบ ถือว่าเข้าข่ายการขายให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ยังไม่สามารถจัดการดื่มและการแสดงดนตรีให้อยู่ในระยะเวลาที่กำหนดได้ แต่ลากยาวไปจนถึงเที่ยงคืน ทำให้การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้น มีความเสี่ยงเกิดอุบิเหตุทางถนนสูงขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ และที่น่ากังวลคือ เครือข่ายยังพบเห็นการเร่ขาย และการขายแบบลดราคาเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการขาย เข้าข่ายผิดตามมาตรา 30 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เกี่ยวกับห้ามรูปแบบการขาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผอ.สคล. กล่าวต่อว่า จากการสำรวจถอดบทเรียนครั้งนี้ จะทำอย่างไรให้ภาคธุรกิจขายสินค้าอย่างรับผิดชอบจริงๆ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลขนาดใหญ่ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ หรืองานประจำท้องถิ่นที่มีลักษณะมหกรรม ซึ่งตนเห็นว่ารัฐจะต้องกำหนดมาตรการเฉพาะกิจ ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาในการอนุญาตจัดงานแบบนี้ พร้อมแผนการควบคุมแอลกอฮอล์และความเสี่ยงต่างๆ อย่างเข้มงวด ในการบังคับให้ธุรกิจรับผิดชอบทั้งการป้องกันไม่ให้ทำผิดกฎหมาย เช่น การโฆษณา ณ จุดจัดงาน การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ การลดราคา การแลกเปลี่ยน การให้ชิม การกำหนดอายุผู้เข้าร่วมงาน รวมทั้ง การตั้งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจตรวจสอบและดูแลความปลอดภัย และเมื่อมีผลกระทบขึ้นมาภาคธุรกิจจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้ลดผลกระทบได้ หรือปรับไปจัดงานอีกรูปแบบหนึ่ง คือสงกรานต์ปลอดเหล้า โดยกำหนดพื้นที่ห้ามจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น, ถนนรอบคูเมือง จ.เชียงใหม่, ถนนสีลม และสามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ หน้าห้างสรรพสินค้าไลม์ไลต์ จ.ภูเก็ต รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ที่มีการจัดการควบคุมดังกล่าวกว่า 100 แห่ง และรัฐควรสนับสนุน ให้รางวัลกับผู้ที่จัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าว เช่น ลดค่าไฟ ค่าน้ำ หรือการสนับสนุนงบประมาณจัดงานที่เพียงพอ เป็นต้น
#สงกรานต์ #ข่าววันนี้ #เหล้า