เวียนมาบรรจบครบอีกปีแล้ว

สำหรับ “เทศกาลสงกรานต์” หรือที่ต่อมา เติมคำว่า “มหาสงกรานต์” เข้าไปเพื่อให้ดูยิ่งใหญ่ เป็น “เทศกาลมหาสงกรานต์” ที่มีขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ อันเป็นเทศกาลงานบุญ และงานรื่นเริง ซึ่งแต่เดิมก็เป็นงานเฉลิมฉลองของประเพณีขึ้นปีใหม่ ขึ้นศักราชใหม่ เถลิงศกใหม่ ของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคมของทุกปี ตามหลักสากล

ที่มาที่ไปเทศกาลสงกรานต์ ก็มาจากอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดียใต้ ที่เป็นแหล่งของพราหมณ์ นักบวชในศาสนาฮินดู หรือศาสนาพราหมณ์ หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากว่า พราหมณ์ฮินดู เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในดินแดนต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หรือ “อุษาคเนย์” ก็ได้นำประเพณีวัฒนธรรมนี้เข้ามาด้วย

ชาวอินเดียสรงน้ำเทวรูปพระกฤษณะ หรือพระนารายณ์ หนึ่งในเทพเจ้าของศาสนาฮินดู เนื่องในเทศกาลน้ำ หรือสงกรานต์ โดยที่อินเดีย จะมีเทศกาลนี้ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (Photo : AFP)

โดยชื่อของ “สงกรานต์” ก็เป็นภาษาสันสกฤต อันเป็นภาษาที่พวกพราหมณ์ใช้ แปลว่า ผ่าน หรือเคลื่อนย้าย ซึ่งในที่นี้หมายถึง การเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์ หรือดวงอาทิตย์ เข้าไปจักรราศีใด ราศีหนึ่ง โดยในที่นี้ก็คือ “ราศีเมษ” ราศีของเดือนเมษายน นั่นเอง

ดังนั้น หลายประเทศในภูมิภาคอุษาคเนย์ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รับวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ฮินดู จึงมีประเพณีสงกรานต์ ตั้งแต่โบราณ สืบต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ไม่ว่าจะเป็นไทยเรา พม่า หรือปัจจุบันคือ เมียนมา ลาว กัมพูชา รวมไปถึงแคว้นสิบสองปันนา และจีนตอนใต้ ในมณฑลยูนนาน

ว่ากันถึงตำนานเรื่องเล่าความเป็นมาของวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ในประเทศต่างๆ ข้างต้นนั้น ก็คล้ายๆ กัน โดยมาจากตำนานเรื่องการประลองปัญญาของท้าวกบิลพรหม กับธรรมบาลกุมาร โดยมีชีวิตของแต่ละฝ่ายเป็นเดิมพัน คือ ใครแพ้จะต้องถูกตัดศีรษะ

ผลปรากฏว่า ธรรมบาลกุมาร เป็นฝ่ายชนะ เพราะแก้ปริศนาปัญหาคำถามทั้ง 3 ข้อของท้าวกบิลพรหมได้ ซึ่งคำถามและคำตอบของปัญหาทั้ง 3 ข้อ ก็คือ 1.ราศีของคนตอนเช้าอยุ่แห่งใด คำตอบคือ อยู่ที่หน้า 2.ราศีของคนตอนเที่ยงอยู่แห่งใด คำตอบ คือ อยู่ที่อก และ 3.ราศีของคนตอนค่ำอยู่ที่ใด คำตอบคือ อยู่ที่เท้า

อย่างไรก็ตาม พระเศียรของท้าวกบิลพรหมที่ถูกตัด จะต้องมีพานมารองรับ และต้องมีการแห่ทำประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุ จึงเป็นที่มาของนางสงกรานต์ ซึ่งก็เป็นพระธิดาของท้าวกบิลพรหม ทั้ง 7 องค์ มารับหน้าที่อัญเชิญพานและแห่พระเศียรของท้าวกบิลพรหม ตามแต่ละวันที่วันสงกรานต์ ตรงกับวันใดใน 7 วันของสัปดาห์ อย่างวันสงกรานต์ คือ วันที่ 13 เมษายนในปีนี้ตรงกับวันเสาร์ ก็เป็นหน้าที่ของพระธิดาที่ชื่อว่า มโหทรเทวี และถือว่าเป็นนางสงกรานต์ในปีนี้ เป็นต้น

โดยตำนานเหล่านี้ก็จะคล้ายๆ กันในหลายประเทศที่รับประเพณีวันสงกรานต์ที่มีต้นกำเนิดจากอินเดีย

อย่างไรก็ดี ประเพณีวันสงกรานต์ของแต่ละประเทศนั้น ก็มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับรูปแบบการปฏิบัติ โดยหลักๆ แล้วก็จะคล้ายๆ กัน คือ เป็นทั้งประเพณีงานบุญ และงานรื่นเริง คล้ายกัน แต่อาจจะมีรายละเอียดผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ และในแต่ละพื้นถิ่น จนถึงขั้นประยุกต์เข้ากับพระพุทธศาสนา และความเชื่อดั้งเดิมในแต่ละท้องถิ่น

ยกตัวอย่าง “ไทย” เรียกว่า “สงกรานต์” หรือ “ตรุษสงกรานต์” ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤต ที่พวกพราหมณ์ใช้กันตามที่กล่าวไว้ข้างต้น

ในงานประเพณี ก็มีทั้งงานบุญ ที่ประชาชนทำบุญตักบาตรแก่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นการประยุกต์เข้ากับพระพุทธศาสนา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง รวมไปถึงการประยุกต์กับความเชื่อท้องถิ่น ในเรื่องผีบรรพบุรุษ ที่มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีการก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งแม้เป็นการประยุกต์เข้ากับศาสนาพุทธ เนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์นี้ แต่ก็มีรายละเอียดในแต่ละประเทศก็มีแนวคิดที่แตกต่างกันออกไปบ้าง เช่น ของไทย เป็นการปฏิบัติตามเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ครั้งเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง ที่ก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งการก่อพระเจดีย์ทรายในเทศกาลวันสงกรานต์ที่ประเทศลาว ก็มีแนวคิดในลักษณะนี้เช่นกัน แต่ที่ลาวยังมีความหมายถึงการสามัคคีในชุมชนอีกด้วย นอกจากนี้ ของไทยเรายังถือเป็นกิจกรรมขนทรายเข้าวัดอีกด้วย เพื่อเป็นการใช้หนี้ หากไปเหยียบย่ำทรายจากวัดติดเท้าเรามา และเพื่อให้ทางวัดได้ใช้ทรายเหล่านั้น เป็นวัสดุในการก่อสร้างต่างๆ ภายในวัดต่อไปอีกด้วย

นอกจากนี้ สงกรานต์ก็ยังเป็นงานสนุกสนานรื่นเริง รดน้ำขอพร ให้พรระหว่างกัน ที่ปัจจุบันกลายเป็นสาดน้ำระหว่างกัน รวมถึงยังเป็นโอกาสชุมนุมของเหล่าเครือญาติ เพื่อนฝูง

ส่วนสงกรานต์ที่ประเทศลาวนั้น จะเรียกเทศกาลนี้ว่า “ปีใหม่” ซึ่งก็คือ “วันขึ้นปีใหม่” นั่นเอง

ประเพณีเทศกาลสงกรานต์ในลาว (Photo : AFP)

โดยเทศกาลสงกรานต์ในลาว ก็มีทั้งงานบุญ และงานรื่นเริง คล้ายกับของไทยเรา ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ในลาวนั้น ก็มี 3 วันด้วยกัน เริ่มจากวันที่ 13 เมษายน จะถือเป็นวันส่งท้ายปีเก่า เรียกว่า วันสังขารล่วง ผู้คนก็จะทำความสะอาดบ้านเรือน วัด ศาสนสถานต่างๆ และพระพุทธรูป พร้อมกับประดับประดาด้วยเครื่องหอมต่างๆ และดอกไม้ โดยดอกไม้ที่ชาวลาวนิยมมากก็คือ จำปา หรือดอกลั่นทมขาว นั่นเอง ส่วนวันที่ 14 เมษายน ถือเป็นช่วงวันรอยต่อระหว่างปีใหม่กับปีเก่า เรียกว่า วันเนา ผู้คนก็จะไปทำบุญที่วัดกัน และวันสุดท้ายคือวันที่ 15 เมษายน ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เรียกว่า วันสังขารขึ้น ตามประเพณีสงกรานต์ในลาวที่แท้จริง ก็จะมีการรดน้ำ สาดน้ำกันอย่างสนุกสนานรื่นเริง พร้อมกับการอวยพรให้กันและกัน

ทางด้านเทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชา มีชื่อเรียกว่า “โจลชนัมทเมย” ก็มีกิจกรรมทางประเพณีคล้ายกับสงกรานต์ของไทยเรา ทั้งการบุญตักบาตร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้วายชนม์ การสรงน้ำพระ การก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปบ้าง โดยที่กัมพูชา หมายถึง เขาพระสุเมรุ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจุฬามณี

ประเพณีเทศกาลสงกรานต์ในกัมพูชา หลายคนก็ใช้แป้งหอมสาดเทใส่กัน นอกเหนือจากการเล่นสาดน้ำแล้ว (Photo : AFP)

นอกจากนี้ สงกรานต์ก็ยังมีการรื่นเริงเล่นสาดน้ำ การได้รวมหมู่ญาติพี่น้องและมิตรสหายเช่นเดียวกับของไทย

ส่วนสงกรานต์ในเมียนมา มีชื่อเป็นภาษาพม่า เรียกว่า ตะจาน บ้าง หรือติงจาน บ้าง รูปแบบกิจกรรมต่างๆ ก็คล้ายสงกรานต์ของไทยเรา โดยสงกรานต์ที่เมียนมา เริ่มขึ้นก่อนที่อื่น คือ วันที่ 12 เมษายนไปจนถึงวันที่ 17 เมษายน ที่ถือกันว่า เป็นวันขึ้นปีใหม่ที่แท้จริงตามประเพณีสงกรานต์ของพวกเขา

เด็กๆ ชาวเมียนมาเล่นสาดน้ำในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งในเมียนมาเรียกว่า ตะจาน หรือติงจาน (Photo : AFP)

นอกจากนี้ประเพณีสงกรานต์ ยังมีในที่อื่นๆ เช่น ที่แคว้นสิบสองปันนา และมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน แม้กระทั่งในประเทศทวีปอื่นๆ ที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ ไปลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในออสเตรเลีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา จนนับได้ว่า สงกรานต์เป็นมรดกวัฒนธรรมประเพณีของชาวเอเชียกันโดยแท้

ประเพณีเทศกาลสงกรานต์ของผู้คนในมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน (Photo : AFP)