วันที่ 10 เม.ย.67 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า  ก่อนปิดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไปที่สถานีขนส่งหมอชิต เพื่อตรวจความพร้อมในการรองรับการเดินทางกลับภูมิลำเนาของพี่น้องประชาชน ปีนี้ก็เช่นกัน น่าดีใจที่มีข่าวว่านายกฯ เศรษฐาจะไปตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมที่หมอชิต หวังว่าปีนี้อุบัติเหตุจราจรจะน้อยกว่าปี 2566 !

1. อุบัติเหตุจราจรเกิดจากอะไร ?

อุบัติเหตุจราจรเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย (1) คนขับ (2) รถ และ (3) ถนน ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากคนขับ

คนขับรถที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมักเกิดจากดื่มสุรา เสพยา พักผ่อนไม่เพียงพอ และฝ่าฝืนกฎจราจรในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะแซงในที่คับขัน ขับรถเกินความเร็วที่กำหนด หรือขับรถฝ่าไฟแดง เป็นต้น

รถที่มีสภาพไม่พร้อมทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ความไม่พร้อมของรถมีหลายอย่าง เช่น ไฟเบรกเสีย ไฟเลี้ยวเสีย มีไฟส่องทางข้างเดียว ระบบเบรกไม่ดี ยางสึกไม่เกาะถนน และใบปัดน้ำฝนไม่ดี เป็นต้น เหล่านี้ล้วนป้องกันได้หากเราตรวจสอบสภาพรถก่อนออกเดินทาง

สภาพถนนที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีต่างๆ นานา เช่น ถนนลื่น ผิวจราจรเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่มีราวกั้นถนน ไฟถนนไม่เพียงพอ ไม่มีป้ายจราจรหรือมีแต่ติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม ไม่มีเครื่องหมายจราจรบนผิวถนน ไม่มีทางม้าลาย ไม่มีสะพานลอยให้คนเดินข้ามในย่านชุมชน และไม่มีสัญญาณไฟจราจรบริเวณที่มีรถมาก เป็นต้น

ดังกล่าวข้างต้น อุบัติเหตุจราจรส่วนใหญ่เกิดจากคนขับ ดังนั้น จะป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจราจรให้ได้ผลจะต้องมุ่งตรงไปที่ “การเข้มงวดกวดขันคนขับ” !

2. การเข้มงวดกวดขัน “คนขับ”

การขอความร่วมมือจากผู้ขับขี่ให้ปฏิบัติตามกฎจราจรและมาตรการที่วางไว้มักไม่ได้ผลหากไม่มีการตรวจจับและลงโทษอย่างรุนแรง งานหนักจึงตกอยู่ที่ผู้บังคับใช้กฎจราจร ซึ่งหนีไม่พ้นตำรวจจราจร !

ดังนั้น กำลังตำรวจจราจรและอุปกรณ์ตรวจจับจะต้องพร้อม เมื่อทุกอย่างพร้อม การตั้งด่านจับกุมผู้ทำผิดกฎจราจรจะทำได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จับแล้วก็ต้องปรับให้หนัก

และ/หรือ ขังคุกให้นาน ให้เข็ดไปเลย ถ้าจะให้ดีน่าจะแถมด้วยการให้ทำงานบริการสังคมด้วย ถือเป็นการลงโทษทางสังคม

มีบทพิสูจน์มาแล้วจากในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านๆ มา ไม่ใช่เป็นเพราะการตั้งด่านตรวจจับเป็นจำนวนมากหรอกหรือ จึงทำให้อุบัติเหตุจราจรลดน้อยลง จำนวนด่านตรวจจับจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการลดอุบัติเหตุจราจร ด่านมากอุบัติเหตุน้อย ด่านน้อยอุบัติเหตุมาก

ด่านมากในที่นี้หมายความรวมถึงการตั้งด่านครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งถนนสายหลักและสายรอง รวมทั้งการเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบและจับกุม ไม่ปล่อยให้คนทำผิดหนีหลุดรอดไปได้ บางครั้งมีด่านตรวจจับอยู่ข้างหน้า แต่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์บางคนกลับเลี้ยวรถขับหนีย้อนศรเฉยเลย ช่างท้าทายกฎหมายอย่างไม่กลัวตาย !

3. แนะ “นายกฯ” ลด “อุบัติเหตุจราจร”

การที่นายกฯ เศรษฐาจะไปตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางกลับภูมิลำเนาของประชาชนที่สถานีหมอชิต ทำให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคนตระหนักได้ว่านายกฯ เอาจริงเอาจังต้องการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนและต้องการให้อุบัติเหตุจราจรลดน้อยลง แต่การไปตรวจเยี่ยมหมอชิตเพียงอย่างเดียว จะไม่ทำให้อุบัติเหตุจราจรลดลงได้

ด้วยเหตุนี้ ผมขอฝากนายกฯ พิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้

(1) เข้มงวดกวดขันผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกด่านให้จับและลงโทษคนขับรถที่ทำผิดอย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้หนีรอดไปได้

(2) ขอให้นายกฯ เสียสละเวลาช่วงวันหยุดสงกรานต์ (ซึ่งปกตินายกฯ ขยันทำงานแทบไม่มีวันหยุดอยู่แล้ว) ติดตามการทำงานของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ “วอร์รูมการติดตามสภาพการจราจรช่วงสงกรานต์” และอาจจะสุ่มลงพื้นที่บางพื้นที่ด้วยก็ได้ โดยไม่บอกให้ใครรู้ล่วงหน้า การทำเช่นนี้ จะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบตื่นตัวตลอดเวลาเพราะรู้ว่านายกฯ จับตามองอยู่

4. สรุป

หากนายกฯ ทำได้เช่นนี้ ผมมั่นใจว่าอุบัติเหตุจราจรช่วงสงกรานต์ในปีนี้จะลดน้องลงกว่าปี 2566 ซึ่งมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 2,203 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,208 คน และเสียชีวิต 264 คน นายกฯ จะได้รับผลบุญมหาศาลที่สามารถช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บ และ/หรือ ผู้เสียชีวิต รวมทั้งลดการสูญเสียทรัพย์สินลงได้

ถึงเวลานั้น หากมีใครมากระแนะกระแหนนายกฯ อีกว่า “ขยันแบบแมลงวันที่บินทั้งวันแต่ไม่ได้อะไร นอกจากได้สร้างภาพว่าบินโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” ผมจะออกมาเถียงคอเป็นเอ็นเลย

ไม่เชื่อก็ลองดูสิ !

 

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte

#อุบัติเหตุจราจร #สงกรานต์ #ข่าววันนี้