วันที่ 9 เม.ย.67 นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากการที่กรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวทางในการพัฒนาสินค้าไม้ผล ผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น โดยในปี 2567 ได้ทำการถอดบทเรียนแปลงใหญ่ไม้ผล จำนวน 4 แปลง เพื่อสร้างต้นแบบการพัฒนา ไม้ผลครบวงจร และเกิดการทำงานเป็นเครือข่ายไม้ผล ซึ่งหนึ่งในแปลงต้นแบบนำร่องนั้น คือ แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 14 ตำบลนายายอาม อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี หรือบริษัท แปลงใหญ่ทุเรียนน้ำกร่อย จำกัด ที่สามารถตอบโจทย์ได้ใน 3 มิติการพัฒนา คือ แปลงใหญ่ยกระดับด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด ดำเนินงานตามหลัก BCG Model และมีความเป็นอัตลักษณ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้
แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 14 ตำบลนายายอาม เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด โดยมี นางสาวบุษบา นาคพิพัฒน์ เป็นประธานกลุ่มและผู้จัดการแปลง และยังได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า ที่เปิดรับนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาใช้ในสวน เพื่อประหยัดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา และลดจำนวนแรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกกลุ่มทั้ง 50 ราย ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ครบทุกราย และมี 3 ราย ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ทุเรียนจันท์ อีกทั้งยังโดดเด่นในการเป็นแหล่งผลิตทุเรียนน้ำกร่อย ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ผลไม้ไทยของจังหวัดจันทบุรี ควบคู่กับการใช้เทคนิคการจัดการสวน ดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ทุเรียนที่ปลูก เช่น พันธุ์หมอนทอง พวงมณี นกกระจิบ ก้านยาว ชะนี นวลทองจันท์ สามารถเจริญเติบโตได้ดี และให้รสชาติที่แตกต่าง โดยเนื้อทุเรียนมีสีเหลือง อมส้ม เนื้อเนียน หวาน มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ เปลือกเขียวเข้ม หนามแหลมคม ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้าและมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ทั้งตลาดส่งออกและตลาด ภายในประเทศ ด้วยการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด เน้นการผลิตทุเรียนคุณภาพตรงกับที่ตลาดต้องการ
นอกจากนี้ ทางกลุ่มยังมีทายาทเกษตรกร หรือ Young Smart Farmer เข้าร่วมกิจกรรมในกลุ่ม โดยเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี ช่วยในการวางแผน และลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี มีการใช้ระบบน้ำอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี Precision Farming เพื่อควบคุมความแม่นยำการให้น้ำ ทั้งปริมาณและระยะเวลาที่ถูกต้อง โดยสั่งการบนสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของฟาร์ม มีการนำเซ็นเซอร์มาควบคุมเพื่อวัดอุณหภูมิร่วมกับการปล่อยน้ำ เพื่อรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสม รวมไปถึงการให้ปุ๋ยผ่านระบบการให้น้ำ เพื่อประหยัดต้นทุนและเวลาของบุคลากร ทำให้การจัดสรรตารางงานภายในฟาร์มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังมีการใช้แอปพลิเคชั่น “kasettrack” เพื่อบันทึกข้อมูลการผลิต ตามหลัก 8 ข้อของมาตรฐาน GAP มีการใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานคน ที่หายากและค่าแรงสูง การห่อผลไม้ด้วยถุงนอนวูฟเวน ที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันศัตรูพืช ส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนมีผิวสวย ช่วยลดต้นทุนการใช้สารเคมี รวมถึงมีความปลอดภัยกับตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ถุงห่อสามารถใช้ซ้ำได้ ลดต้นทุน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับหลัก BCG Model นอกจากนี้มีการพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ ส่งผ่านช่องทางต่าง ๆ ถึงสมาชิกกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกรับรู้ข่าวสารล่วงหน้า และใช้ในการวางแผนจัดการแปลงได้ ส่งผลให้กลุ่มสามารถควบคุมคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ตลาดต้องการ จนเป็นที่มาของคำว่า “ทุเรียนน้ำกร่อย อร่อยสุด ๆ”
ทั้งนี้ แปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 14 ตำบลนายายอาม ได้ดำเนินการตามโมเดลการบริหารจัดการที่นำมาใช้ ในการควบคุมและป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาดอย่างเคร่งครัด ทั้ง 3 ด้าน คือ 1) การตรวจสอบความแก่ของทุเรียน ด้วยการวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียน 2) กำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออกในฤดูกาลผลิต ปี พ.ศ. 2567 และ 3) มาตรการตรวจก่อนตัด ซึ่งในปี 2567 นี้ทางกลุ่มก็ดำเนินการตามกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนภาคตะวันออก โดยพันธุ์กระดุม กำหนดเก็บเกี่ยวในวันที่ 15 เมษายน 2567 น้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 27 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ชะนีและพวงมณี กำหนดเก็บเกี่ยวในวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 น้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 30 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์หมอนทอง กำหนดเก็บเกี่ยวในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 น้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำ 32 เปอร์เซ็นต์ หากเปอร์เซ็นต์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนต่ำกว่านี้ถือว่าเป็นทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวในตอนท้ายว่า จากประสบการณ์และความสำเร็จที่เคยผ่านการดำเนินงานในโครงการแปลงใหญ่ยกระดับด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด และยังเคยเข้าร่วมโครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น อีกทั้งยังมีเป้าหมายการพัฒนาตามแนวทาง BCG Model ทำให้เชื่อว่าแปลงใหญ่ทุเรียน หมู่ 14 ตำบลนายายอาม แห่งนี้ จะเป็นแปลงต้นแบบไม้ผลครบวงจรที่ช่วยให้แปลงเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ สามารถนำความรู้จากแปลงต้นแบบมาประยุกต์ใช้ได้ตามหลักการของแปลงใหญ่ เพื่อการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มโอกาสในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี