“พิธา” ร่วมเวทีสวัสดิการผู้สูงอายุ ย้ำความสำคัญรัฐต้องลงทุนในชีวิตประชาชนทุกช่วงวัย หวังเห็นประเทศไทยมีครบทั้ง 4 ขารับสังคมสูงวัย เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ-ศูนย์ชราบาล-ออกแบบเมืองด้วย universal design-จ้างงานผู้สูงอายุ
วันที่ 9 เมษายน 2567 ที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล รับเชิญเป็นผู้บรรยายในงานสัมมนาสวัสดิการผู้สูงอายุสู่อนาคตที่ยั่งยืน จัดโดยคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
.
ในการนี้ พิธาได้ขึ้นกล่าวบรรยายในหัวข้อ “รัฐสวัสดิการที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วม” โดยระบุว่าเรื่องของสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมืองต่างพูดถึงกันหมด ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปีที่แล้ว มีคนถามว่าทำไมพวกตนในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคนถึงต้องสนใจเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุด้วย คำตอบก็คือสวัสดิการผู้สูงอายุก็คือสวัสดิการของประชาชนทุกคน กระทั่งสำหรับคนวัยทำงานเอง หากประเทศไทยมีสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุและดูแลเด็กแรกเกิดถ้วนหน้าอย่างไม่ตกหล่น คนวัยทำงานก็จะสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุขและมีศักดิ์ศรีด้วยเช่นกัน สามารถไปทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเป็นห่วงอะไร
.
นี่คือผลของการที่รัฐบาลลงทุนในประชาชนของเขา ไม่ใช่แค่ลงทุนในตึก สนามบิน ถนนหนทาง ฯลฯ ที่ทุจริตกันได้ง่าย การที่รัฐบาลลงทุนกับประชาชนทุกช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ วัยทำงาน วัยเด็กเล็ก ถ้ารัฐบาลไทยลงทุนได้กับสิ่งปลูกสร้างมาไม่รู้เท่าไรที่แทบจะไม่ได้ใช้ด้วยซ้ำ การลงทุนกับประชาชนของตัวเองก็ย่อมต้องทำได้ เรื่องของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น
.
พิธากล่าวต่อไป ว่าแต่ก็มีคนมาเถียงว่าประเทศไทยดีจะตายสำหรับผู้สูงอายุ เป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่คนต้องการจะมาเกษียณที่นี่ แม้จะเป็นข้อเท็จจริง แต่ในขณะเดียวกันมันเป็นแบบนั้นเฉพาะสำหรับคนต่างชาติ แต่ไม่ได้เป็นสำหรับคนที่อยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ หากไปดูรายได้ค่าเฉลี่ยของคนไทยในวัยทำงาน จะพบว่าตกที่เดือนละประมาณ 8,000-9,000 บาท แต่รายจ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 8,500 บาทต่อเดือน รายได้ที่ได้มาจากการทำงานทุกอย่างเข้ากระเป๋าเจ้าสัวหมดแล้ว และยังต้องดูแลคนในบ้านและลูกหลานอีก เพราะฉะนั้นคนไทยส่วนใหญ่ต่างไม่มีโอกาสที่จะออมเงิน
.
ที่คนต่างชาติชอบมาเกษียณก็เพราะประเทศของเขามีโครงสร้างที่ทำให้การออมเงินของประชาชนก่อนที่จะเป็นผู้สูงอายุเป็นไปได้ มีรายได้มากกว่ารายจ่ายและสามารถออมเงินได้ แต่สำหรับประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น การบอกให้ประชาชนออมเงินเพื่อเมื่อชราขึ้นมาจะได้ไม่เป็นภาระของลูกหลานและภาระของรัฐ มันจึงเป็นไปไม่ได้เพราะโครงสร้างแบบนี้
.
พิธากล่าวต่อไป ว่าสิ่งสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย ประเทศไทยต้องมีอย่างน้อย 4 ขา เปรียบเหมือนเก้าอี้ที่ต้องมี 4 ขาจึงจะมั่นคงได้ และประเทศไทยมีศักยภาพพอที่จะไปถึงเป้าหมายเหล่านั้น
.
1) ปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ
2) ศูนย์ชราบาล ที่ทั่วโลกต่างมีกันหมด ให้ผู้สูงอายุสามารถมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ทำงาน เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาผู้สูงอายุที่อยู่เพียงลำพังซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศไทยจากการที่ลูกหลานต้องไปทำงานที่ต่างจังหวัด
3) การออกแบบเมืองสำหรับคนทุกคน (universal design) ที่ทุกคนสามารถเดินทางได้ด้วยตนเอง ประเทศไทยทุกวันนี้โดยเฉพาะในต่างจังหวัด การเดินทางของผู้สูงอายุยังเป็นเรื่องยากลำบาก ซึ่งนี่ยังสามารถกลายเป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ด้วย
4) การจ้างงานผู้สูงอายุ ทุกวันนี้แม้ภาครัฐพยายามจะให้เอกชนจ้างงานผู้สูงอายุ แต่ตนก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องจ้างงานผู้สูงอายุเพิ่มเองด้วยเช่นเดียวกัน
.
“เราต้องให้ท่านมีโอกาส ไม่ใช่แค่การทำงานในภาคเอกชนกับบริษัท แต่สามารถทำงานที่มีคุณค่าและ สามารถเป็นฐานให้กับคนรุ่นใหม่ คนวัยกลางคนอย่างพวกผมช่วยกันพัฒนาไปด้วยกัน พวกเราเห็นคุณค่าของพวกท่านในประสบการณ์ที่ท่านมีกับสิ่งที่ทุกท่านได้ผ่านมาแล้ว” พิธากล่าว