เพิ่งฉลองอายุครบ 75 ปีหมาดๆ ของ “องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ” หรือ “นาโต” ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ สำนักงานใหญ่ของนาโต ในกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงของเบลเยียม

หากเป็นคน ก็ต้องถือเป็น “ผู้อาวุโสสูงวัย” แล้ว สำหรับงค์กรความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้

ที่มาที่ไปของนาโต ก็ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดในวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 หรือพ.ศ. 2488) ภายหลังจาก 12 ประเทศสมาชิกในช่วงเริ่มแรก ณ เวลานั้น ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาได้ลงนามกันที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา ในสนธิสัญญาที่เรียกว่า “สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ” พัฒนามาจากความร่วมมือของกลุ่มประเทศ “สนธิสัญญาบรัสเซลส์” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) ที่ขณะนั้น มี 5 ชาติลงนามได้แก่ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ก่อนพัฒนามาเป็น “องค์กรป้องกันสหภาพยุโรปตะวันตก” หรือ “ดับเบิลยูอียู” หลังเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมเบอร์ลินโดยสหภาพโซเวียตรัสเซียขึ้น

ดังนั้น การสถาปนาองค์การนาโต จึงมุ่งที่จะถ่วงดุลอำนาจทางการทหารของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ในภูมิภาคยุโรป หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง นอกจากนี้ ทางสหภาพโซเวียตรัสเซีย ก็ยังมีแผนการที่จะกลุ่มความร่วมมือทางการทหารระหว่างประเทศที่ชื่อว่า “องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ” หรือที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดีว่า “กลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ” อันเป็นองค์กรความร่วมมือทางทหารระหว่างประเทศในยุโรปตะวันออก ที่มีสหภาพโซเวียตรัสเซียเป็นผู้นำ และถือเป็นคู่ปรปักษ์ และคู่แข่ง สำคัญขององค์การนาโต ของยุโรปตะวันตกที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอของโลกขั้วค่ายสังคมนิยม คอมมิวนิสต์ ในภูมิภาคยุโรปตะวันออก มีอันต้องยุติไป ตามการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรัสเซีย ชาติผู้นำเมื่อช่วงปี 1991 (พ.ศ. 2534)

ทว่า องค์การนาโต ยังคงยืนยงคงกระพัน พร้อมกับการขยายชาติสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในจำนวนนี้ก็มีหลายประเทศที่เคยเป็นชาติสมาชิกของกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอมาเข้าร่วมด้วย เช่น โปแลนด์ เป็นต้น จน ณ 2ปัจจุบัน องค์การนาโตมีชาติสมาชิกรวมแล้ว 32 ประเทศ หลังจากที่เมื่อปีที่แล้ว “ฟินแลนด์” ที่รับอนุมัติเป็นชาติสมาชก หรือ “สวีเดน” ได้รับไฟเขียวให้เป็นชาติสมาชิกประเทศล่าสุด เมื่อช่วงเดือนมีนาคมของปีนี้

ก็ต้องถือเป็น 2 ประเทศสำคัญในกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่มาตบเท้าเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การนาโต

โดยจุดประสงค์หลักๆ ของบรรดาชาติยุโรปเหล่านี้ หรือแม้กระทั่งที่เคยอยู่กับกลุ่มกติกาสัญญาวอร์ซอ มาเข้าร่วมเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกของนาโตนั้น ก็เพื่อหวังให้องค์การนาโตแห่งนี้ คุ้มครองป้องกันภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากรัสเซีย ที่พลิกฟื้นกลับขึ้นมาเป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจยุคปัจจุบัน ภายใต้การนำของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ที่มีท่าทีคุคาม นั่นเอง

ทั้งนี้ ในการหวังผลทางการคุ้มครองข้างต้น ก็มาจากบทบัญญัติมาตราที่ 5 ขององค์การนาโต ที่ระบุว่า หากชาสมาชิกนาโตชาติใด ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี สมาชิกชาติอื่นๆ ของนาโต ก็สามารถพิจารณาได้ว่า การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการโจมตีต่อองค์การนาโตทั้งหมดด้วย และชาติสมาชิกนาโตเหล่านั้น ก็สามารถดำเนินมาตรการต่างๆ ในการตอบโต้ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ถูกคุกคามอีกด้วย

กล่าวถึงสถานการณ์และบรรยากาศของนาโต หลังจากที่องค์กร มีอายุครบที่ 75 ปี นับจากนี้ ก็มีปัญหาที่เป็นข้อวิตกกังวล สำหรับองค์กรความร่วมมือทางการทหารระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และอาวุโสสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรความร่วมมือทางการทหารระหว่างประเทศอื่นๆ

โดยปัญหาที่พาให้เป็นกังวลของนาโตนั้นก็ได้แก่ “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 (พ.ศ. 2565) เป็นต้นมา ถึง ณ ปัจจุบัน นั่นเอง เมื่อทางฝ่ายรัสเซีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีปูติน ได้กรีธาทัพยกข้ามพรมแดนเข้ามารุกรานประเทศยูเครนกันถึงถิ่น พร้อมกับสร้างความภินท์พังให้แก่ยูเครน ในฐานะสมรภูมิสงคราม รวมถึงยังทำให้ยูเครน ต้องเสียดินแดน ถูกผนวกเข้าไปส่วนหนึ่งของรัสเซียไปถึง 4 ภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครน

“สงครามรัสเซีย-ยูเครน” หนึ่งในข้อกังวลเรื่องความมั่นคงของนาโตในปัจจุบัน (Photo : AFP)

ทั้งนี้ จาก “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ก็ยังเป็นหนึ่งในเหตุปัจจัยที่ทำให้ทั้งฟินแลนด์ และสวีเดน ต้องเร่งรีบเข้ามาขอสมัครเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกของนาโตอีกต่างหาก เนื่องจากหวั่นเกรงภัยคุกคามทางการทหารของรัสเซีย ที่นึกอยากจะบุกยูเครน ก็กรีธาพลยกเข้ามารุกรานกันอย่างง่ายๆ

เมื่อวิตกกังวลเรื่องภัยคุกคามความมั่นคงจากรัสเซียกันฉะนี้ ทางนาโต ก็ได้ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือแก่ยูเครน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ตลอดช่วงการสู้รบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กำลังเป็นลุกเป็นไฟโหมไหม้

ถึงขนาดที่ “นายเจน สโตลเทนเบิร์ก” ซึ่งดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการ” คนปัจจุบันขององค์การนาโต ถือโอกาสในระหว่างเฉลิมฉลองครบรอบปีที่ 75 ของนาโตนี้ กล่าวเน้นย้ำถึงการให้ความสนับสนุนต่อยูเครน โดยระบุว่า นาโตมีวาระสำคัญที่สำคัญ ณ เวลานี้ คือ เดินหน้าให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธแก่ยูเครน ในการสู้ศึกต้านทานการรุกรานของรัสเซีย

นอกจากปัญหาเรื่อง “สงครามรัสเซีย-ยูเครน” ทางนาโตก็ยังมีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับ “การเมืองของสหรัฐฯ ที่อาจจะมีการเปลี่ยนขั้วหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปลายปีนี้” โดยทางนาโต หวั่นเกรงว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะหวนกลับเข้าสู่ทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกสมัย หากเขาเอาชนะต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันในศึกเลือกตั้งดังกล่าว ซึ่งถ้าว่าตามการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีไบเดน อาจพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

นาโตกับข้อวิตกว่า อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ อีกสมัย ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ (Photo : AFP)

ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงอดีตประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว ทางนาโต รู้ฤทธิ์เดชของเขาเป็นอย่างดี เช่น เรื่องที่เขาจะให้ชาติสมาชิกนาโตจัดสรรเพิ่มงบประมาณเข้าองค์กรฯ ไม่ใช่ให้สหรัฐฯ แบกรับภาระค่าใช้จ่ายอย่างที่เห็น ล่าสุด ในการหาเสียงเมื่อเร็วๆ นี้ นายทรัมป์ ก็ยังข่มขู่ว่าถ้าประเทศใดไม่ไห้ความร่วมมือเพิ่มงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายข้างต้น ก็จะยุให้รัสเซียถล่มชาตินั้นเลยด้วยซ้ำ