วันที่ 4 เม.ย.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ต่อมาเวลา 10.05 น.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า นโยบายรัฐบาลการปฏิรูปกองทัพนายกฯเคยให้คำสัญญาไว้ว่า จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารให้เป็นรูปแบบสมัครใจ จะลดจำนวนนายพลลง และลดการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงจะเอาพื้นที่ที่เกินจำเป็นของกองทัพมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์

แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นแค่การสมยอมกับกองทัพ เพื่อปรุงแต่ง ตบตาประชาชน นโยบายที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทำแล้ว ทำอยู่ มาทำต่อ แล้วใช้คำโฆษณาให้ประชาชนหลงเชื่อว่า นี่คือการปฏิรูปกองทัพแล้ว แม้รัฐบาลจะอ้างถึงยอดสมัครทหารออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อนำมารวมกับยอดสมัครแบบวอล์กอิน แล้ว กลับมีแนวโน้มลดลง ส่วนการลดจำนวนความต้องการกำลังพลนั้นก็ไม่มีอะไรใหม่ แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯทำอยู่แล้ว คือการบรรจุกำลังพล 70% ของความต้องการจริง การลดกำลังพลแบบต้วมเตี้ยมเช่นนี้ เป็นเพียงการซื้อเวลาการปฏิรูปกองทัพออกไป

นายวิโรจน์  กล่าวต่อว่า จริงโรงเรียนเตรียมทหารรับนักเรียนลดลงอยู่แล้ว 150 คนต่อรุ่นอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ควรฉกฉวยจำนวนดังกล่าวมาเคลมเป็นผลงาน เช่นเดียวกับโครงการ Early Retire ที่ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ตั้งแต่ปี 2563 สมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แบบตั้งคำถามว่าหากโครงการนี้สำเร็จงบประมาณของกองทัพจะลดลงหรือไม่ ส่วนเรื่องที่ดินราชพัสดุ 12 ล้านไร่ ถูกครอบครองโดยกองทัพถึง 6.25 ล้านไร่ มีที่ดินรกร้างหรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ที่ดินบางส่วนนำไปใช้ทำสวัสดิการธุรกิจ ทั้งสนามกอล์ฟ สถานพักตากอากาศ สนามมวย โดยไม่มีความโปร่งใส และกิจการของผู้กองทัพมีกำไรเพียงน้อยนิด ขณะที่ภาคเกษตรกำลังขาดที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง รัฐบาลเศรษฐาตั้งโครงการนำที่ดินของกองทัพมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ โดยตั้งชื่อว่า โครงการรัฐเอื้อราษฎร์ หรือ หนองวัวซอโมเดล แต่แท้จริงไม่ใช่โครงการใหม่ แต่ทำมาตั้งแต่ 2547 แทนที่รัฐบาลจะเร่งพิสูจน์สิทธิ์ให้ประชาชนที่ยืนยันว่าครอบครองที่ดินมาก่อนจะมีกฎหมายต่างๆ ด้วยซ้ำ กลับเอาโครงการเก่ามาปัดฝุ่นเปลี่ยนชื่อ แล้วบีบให้ประชาชนมาเช่าที่ดิน

“ควรพอได้แล้วกับการนำภาษีของประชาชน ไปแลกอาวุธมาดื้อๆ แต่รัฐบาลควรมีข้อแลกเปลี่ยน หรือชดเชยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจปากท้องให้ประชาชน แต่เรือฟริเกต วงเงิน 1.7 หมื่นล้าน ที่กองทัพเรือขอจัดซื้อแต่ถูกตัดงบทิ้ง ทั้งที่เรือฟริเกตมีความจำเป็นในการคุ้มครองความมั่นคงทางทะเลมาก แล้วเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านตอนนี้กองทัพเรือของไทยมีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ควร

การตัดงบประมาณเรือฟริเกตลำนี้ เป็นการตัดโอกาสการพัฒนาของประเทศ ตัดโอกาสด้านวิศวกรรมการต่อเรือของคนไทย แล้วกว่างบประมาณก้อนนี้จะเข้ามาใหม่ได้ ผมตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานก็ยังไม่พบ เป็นไปได้ว่างบประมาณปี 2568 ก็อาจจะยังไม่ทัน เข้าอีกทีก็ปี 2569 เพราะงบประมาณรายการการก่อหนี้ผูกพันวงเงินเกินตั้งแต่พันล้านขึ้นไปต้องผ่านหลายขั้นตอน" นายวิโรจน์ กล่าว