ค่าฝุ่นพิษจากควันไฟป่าของยังพุ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือและต่อเนื่องมาแล้ว 44 วัน กระทบประชาชนอย่างหนัก นอกจากนั้นยังส่งผลให้การลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ Sky Docter ต้องหยุดชะงักลง
วันที่ 30 มี.ค.67 ศูนย์อำนวยการควบคุมไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รายงานผลการตรวจสอบของ ดาวเทียม Suomi NPP ระบบ VIIRS จังหวัดแม่ฮ่องสอน ( ภาคเช้า ) เกิดจุดความร้อนขึ้น 361 จุดถือว่าหนักที่สุดของภาคเหนือและต่อเนื่องมาแล้วหลายวัน ส่งผลให้ค่า ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน สูงถึง 150.1 มคก./ลบ.ม. และเป็นค่าที่สูงที่สุดในภาคเหนือเช่นกัน
ทางด้านสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดแม่ฮ่องสอน รายงานค่าทัศนวิสัยล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น.ค่าทัศนวิสัยวัดได้ 2 กม. และในช่วงเช้ามืดวัดได้ 1 กม. แสดงให้เห็นถึงปริมาณหมอกควันที่หนาแน่นในอากาศเหนือตัวเมืองแม่ฮ่องสอน
ทั้งนี้ สถานการณ์ไฟป่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 มีนาคม 2567 จุดความร้อนสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 29 มีนาคม 2567 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสม ทั้งหมด 8,382 จุด คิดเป็นร้อยละ 72.75 ของจุดความร้อนสะสมปี 2566 หรือ คิดเป็นร้อยละ 145.50 ของค่าเป้าหมายปี 2567 ซึ่งทางจังหวัดตั้งเป้าหมายปี 2567 ไม่เกิน 5,761 จุด โดยอำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อำเภอแม่สะเรียง จานวน 1,729 จุด
จากสถานการณ์ไฟป่าที่ลุกลามอย่างหนัก ได้ส่งผลต่อการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ Sky Docter ต้องหยุดชะงักลง และไม่สามารถส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 9 ราย และมีผู้ป่วยในห้องไอซียูเกือบครึ่งป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจและต้องรักษาตัวบนเตียงนานมากกว่าเคสอื่น ๆ ทำให้เตียงว่างเหลือน้อยลง
นายเกษม คำมา ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ไฟป่าได้รุนแรงต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทาง สจป.ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ได้รับกำลังเสริมหน่วยเหยี่ยวไฟ จากหลายจังหวัดทางภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ แต่เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสูงชัน ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยากลำบาก บางแห่งไม่สามารถขึ้นไปดับไฟได้ แต่ก็ได้มีการพยายามประชาสัมพันธ์ให้กับราษฎรในทุกพื้นที่และขอความร่วมมือ งดจุดไฟเผาป่า และจัดกำลังออกลาดตระเวนตรวจหาไฟป่าหากพบชุดลาดตระเวนจะแจ้งให้ชุดดับไฟป่า เข้าไปดับไฟป่าในทันที สำหรับรอบตัวเมืองแม่ฮ่องสอนและบนวัดพระธาตุดอยกองมู ได้มีการจัดชุดลาดตะเวน ปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่พบไฟป่าในพื้นที่แต่อย่างใด ส่วนใหญ่ไฟป่าจะเกิดบนเทือกเขาสูง ห่างไกลจากตัวเมือง ซึ่งจะมีหน่วยที่รับผิดชอบทุกจุด