วันที่ 28 ม.ค. 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ว่า วันนี้ตนได้นำมติที่ประชุมของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม มาเสนอให้ครม.รับทราบ และเห็นชอบให้อำนาจตามมาตรา 35 พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ให้อำนาจในการควบคุม เฝ้าระวังพื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 แบ่งตามระดับความรุนแรงของฝุ่น
โดยสีส้ม ปริมาณฝุ่นตั้งแต่ 37.5-75 มคก./ลบ.ม. เป็นพื้นที่ควบคุมเฝ้าระวังเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีการสวมหน้ากอนามัย การทำงานในพื้นที่ร่ม อาคารต่างๆ ส่วนพื้นที่ระดับสีแดง คือมีปริมาณ ในรอบ 24 ชม. มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันให้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้โดยการเสนอเข้ามาโดยผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมาตรการหนึ่งในนั้นคือการให้ทำงานที่บ้าน หรือ เวิร์ค ฟอร์ม โฮม
“การสั่งเวิร์ค ฟอร์ม โฮมนั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นคนขอมา แล้วอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นนอนุมัติ คือ มีอำนาจเลย เพราะวันนี้เรามาขอให้ครม.รับทราบ และเห็นชอบให้ใช้มาตรา 35 พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ให้อำนาจนี้เพื่อการดำเนินการต่อไป จะได้ไม่ต้องมาเข้าครม.บ่อยๆ” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การควบคุม แก้ไขปัญหา การให้ความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 มีหลายชั้น ดังนี้ 1. ชั้นควบคุมเหตุรำคาญ จะใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ประกาศ 2. ชั้นที่ 2 ปริมาณฝุ่นระดับสีหลืองเข้าสู่สีแดง 3. ขั้น สีแดง พื้นที่ควบคุมโรคฯ ทั้งนี้ ปัญหาระดับฝุ่นขั้นที่ 2 และ 3 นี้ จะใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมฯ และชั้น 4 สูงสุดเขตที่มีฝุ่น PM2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 150 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 5 วัน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณ และใช้มาตรการทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
รายงานข่าวแจ้งว่า ตามตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กำหนดว่า เมื่อมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจพิจารณาตามสถานการณ์ปัญหา อาจจะค่าฝุ่นสูงเกิน 2 วัน 3 วัน หรือ 5 วัน ก็สามารถประกาศได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กำหนดว่า เมื่อมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ควบคุมโรคแล้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการดำเนินการ ดังนี้ 1.สนับสนุนหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ได้แก่ หอบหืดและถุงลมอุดกั้นเรื้อรัง โดยพิจารณาชนิดหน้ากากตามที่กรมควบคุมโรคแนะนำ 2.ออกประกาศ Work from home / ทำงานผ่านระบบออนไลน์ และงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง
3.จัดทำศูนย์รองรับการอพยพประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ป่วยติดเตียง ให้เข้าพักคอยจนกว่าสถานการณ์จะปกติ 4.ขอความร่วมมือเกษตรกร เจ้าของสถานประกอบกิจการ และผู้ประกอบการขนส่ง ดำเนินการลดฝุ่น ในส่วนของโรงพยาบาล ให้จัดทำห้องปลอดฝุ่นสำหรับกลุ่มเปราะบาง เช่น ห้องเด็กแรกคลอด ห้องพักหลังคลอด เป็นต้น และแจ้งการพบผู้ป่วยโรคจากฝุ่น PM2.5 และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ใช้กลไกทางกฎหมาย ในการแจ้ง รายงาน และสอบสวนโรคจากฝุ่น PM2.5