วันที่ 28 มีนาคม 2567 ที่ ป.ป.ส.พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มอบหมายให้ นายธนากร คัยนันท์ ที่ปรึกษาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ต.ชยานนท์ มีสติ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 นางจีระพรรณ กาญจนประดิษฐ์ ผอ.ปปส.ภ.1 และผู้แทนจากหน่วยงานบูรณาการในพื้นที่ ร่วมกันแถลงข่าวผลการปฏิบัติการ “ยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย ครั้งที่ 2/2567”
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์. กล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ โดยผู้เสพต้องนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดแต่ในส่วนของผู้ค้าต้องปราบปรามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันจัดการกับปัญหายาเสพติดในพื้นที่ เปิดยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อยในทั่วประเทศเพื่อจัดการกับผู้ค้ายาเสพติดที่แฝงตัวในชุมชนเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับชุมชนในอีกทางหนึ่งผลการปฏิบัติการ ตรวจสอบ 14 เป้าหมายจากทั้งหมด 40 เป้าหมาย โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหา 33 ราย ยึดของกลางยาเสพติด ยาบ้า พบของกลาง ยาบ้า 1,670 เม็ด เฮโรอีน 11 กรัม อาวุธปืน 5 กระบอก
นางจีระพรรณ กาญจนประดิษฐ์ ผอ.ปปส.ภ.1 เป็นประธานในการปล่อยแถวปฏิบัติการ “ยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย ครั้งที่ 2/67” เปิดเผยว่าในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง จังหวัดเป้าหมายปทุมธานี ร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และสถานีตำรวจภูธร 14 สถานี ฝ่ายปกครอง สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และหน่วยงานภาคีในพื้นที่ การปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการดำเนินการตามข้อร้องเรียนของประชาชนโดยผลสืบเนื่องมาจากประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการแจ้งเบาะแสผู้ค้ายาเสพติด และผู้เสพยาเสพติดผ่านสายด่วน ป.ป.ส. 1386 โดยมีเป้าหมายในการปฏิบัติการในครั้งนี้ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี รวม 40 เป้าหมายในพื้นที่ 7 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอลำลูกกา อำเภอหนองเสือ อำเภอสามโคก อำเภอธัญบุรีอำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอคลองหลวง โดยมุ่งเน้นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดจากผู้ค้ายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน รวมถึงเพื่อเป็นการขยายผลไปสู่การจับกุมผู้ค้ารายสำคัญในพื้นที่ ตลอดจนการค้นหาผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. จะดำเนินการปฏิบัติการ “ยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย” ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน รวมถึงการนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิด และพฤติกรรม ให้ผู้เสพสามารถกลับมาใช้ชีวิตในหมู่บ้าน/ชุมชน ได้อย่างมีคุณค่า และเป็นปกติสุข