“สมศักดิ์” เผย สสส.เคาะรับงบสนับสนุนจาก World Bank เพื่อเดินหน้าโครงการเยียวยาด้านจิตใจแก่ผู้บอบช้ำในเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ชี้ ตั้งแต่ปี 47-65 เกิดเหตุ 21,485 ครั้ง ทำคนในพื้นที่เครียดสูงกว่าคนทั่วไป 1.54 เท่า-เสี่ยงซึมเศร้า 1.64 เท่า หวัง โครงการนี้ เข้าไปช่วยดูแลได้
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้มีโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีวาระที่สำคัญคือ การรับทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการ จากธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบ รับทุนสนับสนุนจากธนาคารโลก เป็นเงินประมาณ 38.9 ล้านบาท (1.1 ล้านดอลลาสหรัฐ) เพื่อขับเคลื่อน “โครงการส่งเสริมการบริการจิตสังคมสำหรับผู้บอบช้ำทางจิตใจ จากผลกระทบของความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย” โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 30 เดือน ซึ่งธนาคารโลก เคยให้ทุน สสส. ขับเคลื่อนงานนี้แล้ว เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นโครงการต้นแบบ จำนวน 3.5 ล้านบาท ในกลุ่มเป้าหมาย 38 คน โดยธนาคารโลก ได้มาติดตามผลแล้วเห็นว่า เป็นโครงการที่ดี จึงให้งบสนับสนุนมาขยายผลต่อ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การทำโครงการนี้ เพื่อส่งเสริมการบริการจิตสังคมให้ผู้บอบช้ำทางจิตใจ จากผลกระทบของความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ โดยให้คนในพื้นที่ ที่ได้รับความไว้ใจจากผู้บอบช้ำ มาอบรมด้านจิตสังคมและไปดูแลผู้บอบช้ำทางจิตใจ ซึ่งโครงการนี้ เป็นการอบรมอาสาสมัครในพื้นที่ชายแดนใต้ 4 กลุ่ม คือ 1.อสม. 2.นักจิตวิทยาในโรงเรียน 3.NGOs ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและสตรี และ 4.NGOs ที่ทำงานเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ต้องขัง จำนวน 120 คน เพื่อให้อาสาสมัครกลุ่มนี้ ดูแลคนในชุมชนด้วยกันเองได้ โดยครอบคลุมผู้ได้รับการดูแลเด็กและครอบครัวใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 2,400 คน
“จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า ช่วงปี 2547-2565 มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ถึง 21,485 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 7,344 ราย บาดเจ็บ 13,641 ราย ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ ต้องเผชิญกับความรุนแรงมาอย่างยาวนาน ดังนั้น โครงการนี้ จะเป็นกลไกสำคัญ ในการให้บริการด้านจิตสังคม โดยกลุ่มคนในชุมชน ที่ได้รับความไว้วางใจ ให้แก้ไขปัญหาบาดแผลทางจิตใจจากความรุนแรง ซึ่งจากการสำรวจของกรมสุขภาพจิต ยังพบว่า ประชาชนใน สามจังหวัดชายแดนใต้ มีความเครียดสูง มากกว่าคนทั่วไป 1.54 เท่า เสี่ยงซึมเศร้า มากกว่าคนทั่วไป 1.64 เท่า เสี่ยงฆ่าตัวตาย มากกว่าคนทั่วไป 1.24 เท่า แต่อัตราการเข้ารับบริการด้านจิตเวชภาครัฐ น้อยกว่าประชาชนทั่วไป 2.5 เท่า ทั้งที่มีบุคลากรทางด้านจิตเวชมากกว่าภูมิภาคอื่น ดังนั้น ผมจึงสนับสนุนโครงการนี้ ที่จะเข้าไปช่วยดูแลประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่กับสิ่งที่ผมกำลังเดินหน้าส่งเสริมอาชีพ และแก้ปัญหาความยากจนให้ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว