วันที่ 22 มีนาคม  2567 ที่ห้องสมุดประชาชนจังหวัดเชียงใหม่  นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ พร้อมด้วยนางสาวเอื้อมพร  ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย และคณะ  ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ของสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดเชียงใหม่ (สกร.จังหวัดเชียงใหม่) โดยมี ผู้อำนวยการ สกร.จังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการ สกร.อำเภอเมืองเชียงใหม่   ผู้แทนจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร.ล้านนา)  ปราชญ์ชาวบ้าน คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงานตามนโยบายฯ 
นายธนากร  กล่าวว่า " ปัจจุบันการเรียนรู้ทุกวันนี้  ข้อมูลความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา  ผู้คนสามารถเข้าถึงความรู้ได้รวดเร็วและง่ายกว่าแต่ก่อน จากแหล่งความรู้มีอยู่ทั่วไปหลากหลายที่ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางอาชีพและการทำงานที่มาพร้อมกับพฤติกรรมการเรียนรู้และใช้ชีวิตของคนที่เปลี่ยนไป การจัดการเรียนรู้โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อการจัดการศึกษา ส่งเสริม อำนวยความสะดวกและกระตุ้นการเรียนรู้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ 
อีกทั้งในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ที่พลาดและขาดโอกาส อยากให้คำนึงถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนของ สกร. สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและท้องถิ่น ซึ่งในโอกาสนี้ ขอขอบคุณ  ผศ.ไพโรจน์ วรพจน์พรชัยและคณะ จาก มทร.ล้านนา และปราชญ์ชาวบ้านทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นภาคีเครือข่ายที่สำคัญในพื้นที่ ในการเข้ามาร่วมส่งเสริม และนำนวัตกรรม รวมทั้งสร้างและสนับสนุนองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์กับการพัฒนาครูที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนรู้ของ สกร. จนเป็นรูปธรรมในวันนี้ รวมทั้งขอชื่นชม สกร.อำเภอเมืองเชียงใหม่  และ สกร.จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีการพัฒนาการเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านระบบช่วยเหลือผู้เรียน ได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติ ทำให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนได้รวดเร็ว และเลือกทบทวนสิ่งที่ตนเองสนใจได้ทันที  ทำให้สามารถเลือกเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา สอดคล้องกับนโยบายของ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ​​​​​​​
อย่างไรก็ดีการเรียนรู้ในยุคนี้ ผู้คนมองหารูปแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของที่รวดเร็ว และเลือกที่จะเรียนสิ่งที่ตนเองสนใจได้ทันที ดังนั้นผู้บริหารสถานศึกษาและครูต้องวางแผนและปรับวิธีในการสอน ไม่ใช่การบอกหรือการเรียนเพื่อท่องจำ แต่เป็นเรียนเพื่อรู้ และรู้เพื่อนำไปต่อยอดได้ รวมทั้งต้องพัฒนาตนเอง เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะ “ความสามารถที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต” ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียนได้ด้วยตนเอง และต้องมองไปถึงเป้าหมายชีวิต เช่น การจัดการศึกษาในระดับ ปวช. หรือ การอบรมอาชีพ ต้องตอบโจทย์ผู้เรียนในการเข้าสู่อาชีพ เรียนแล้วสามารถประยุกต์ใช้ได้จริง สามารถบูรณาการสาขาวิชาต่างๆ เข้าด้วยกันได้  รวมทั้งการเปิดหลักสูตรตามความสนใจของผู้เรียน ควรให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน  โดยอาจจะดึงเครือข่ายภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการร่วมพัฒนาคน หรือผู้เรียน ให้มีทักษะและสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเน้นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีควบคู่กับปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกประสบการณ์การทำงานจริงในสถานประกอบการ เพื่อนำไปสู่อาชีพที่มั่นคงตามความสามารถและความถนัดต่อไป