การเรียนรู้ แบบมีความสุข ไม่เพียงส่งผลให้ผู้เรียนได้พัฒนาความคิดอย่างถูกต้องและสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างเข้มแข็งอีกด้วย สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ในการขับเคลื่อน นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ คือ “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งต้องเริ่มจากการทำให้ครู นักเรียน และผู้ปกครองมีความสุขก่อน
พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบาย เรียนดี มีความสุข ว่า หลังจากมอบนโยบายไปแล้ว มีคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง จากเดิมประชุมสัปดาห์ละครั้ง เป็นประชุมเดือนละครั้งทุกต้นเดือนในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยปรับรูปแบบวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ว.PA (Performance Agreement) จากเดิมใช้เวลา 3 ปี เร็วที่สุด 3 เดือน เปลี่ยนเป็นเร็วที่สุดประมาณ 17 วัน ช้าที่สุด 3 เดือน แต่ยังคงมีคุณภาพเหมือนเดิม เพื่อลดภาระให้กับครูและประหยัดเงินในการผลิตเอกสาร ทำให้ครูมีเวลาสอนมากขึ้น
นอกจากนี้ได้มีการนำระบบจับคู่ครูคืนถิ่น ย้ายผ่านระบบย้ายข้าราชการครู Teacher Rotation System (TRS) โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการประมวลผล เบื้องต้นทำได้ในระดับหนึ่งแต่ยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นระบบใหญ่ใช้งบประมาณ 20 ล้านบาท เชื่อว่าถ้าระบบมีความสมบูรณ์ จะทำให้การโยกย้ายครูมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถมองเห็นภาพชัดเจนขึ้น ลดการทุจริต ลดการเรียกรับเงินได้
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ขณะนี้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธาน แต่ รมว.ศธ. ก็ไม่ได้ละเลยเข้าไปกำกับดูแลและเสริมตลอดเวลาในการทำงาน มีสถานีแก้หนี้ในทุกจังหวัดทุกพื้นที่ และมีการดำเนินการเพิ่มเติม โดย ศธ. ได้หารือกับทีมงานธนาคารแห่งประเทศไทย ในการจัดบทเรียนสำหรับคุณครู รวมถึงนักเรียนด้วย
“ทาง ศธ. ได้รับความกรุณาจากโค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ เมษพันธ์ ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์แก้หนี้ของครอบครัว มาเป็นวิทยากรในการบรรยาย ให้ความรู้วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับครูและบุคลากรทางด้านศึกษา”
สำหรับการลดภาระครูในเรื่องของอุปกรณ์การศึกษา ได้มีการสำรวจและจัดทำงบประมาณไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ปี 2567 และ 2568 ซึ่งจะช่วยลดภาระในการทำงานได้มาก รวมถึงการลดภาระครูไม่ต้องอยู่เวร ขณะนี้กำลังดำเนินการขับเคลื่อน โดยของบประมาณมาสนับสนุนนักการภารโรง เพื่อทำหน้าที่ทำความสะอาดโรงเรียน ตัดต้นไม้ เป็นต้น ทำให้ครูมีเวลาสอนหนังสือมากขึ้น
ขณะเดียวกันการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ศธ.ได้มีการดำเนินการหลาย ๆ อย่าง ในเรื่อง Anywhere Anytime ซึ่งจะมีการจัดทำหลักสูตรที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ มีการนำแพลตฟอร์มการเรียนรู้แห่งชาติ มาผสมผสานการเรียนการสอนแบบเดิมในห้องเรียน กับการเรียนการสอนออนไลน์ โดยได้ดำเนินการในปี 2567 งบประมาณกว่า 200 ล้านบาท และต่อยอดในปี 2568 โดยศธ. มอบนโยบายให้ผู้บริหารสถานศึกษาไปดำเนินการแบบง่าย ๆ ทุกครั้งที่มีการสอนหนังสือให้มีการอัดวีดิโอ และนำไปโหลดลงยูทูป เพื่อให้นักเรียนสามารถมาทบทวนในการเรียนได้ รวมถึงเชิญวิทยากรมาสอนทางออนไลน์ให้กับนักเรียนทั่วประเทศโดยจัดติวการสอบ เทคนิคการทำข้อสอบต่าง ๆ ซึ่งมีการดำเนินการในวันที่ 11-14 มีนาคมที่ผ่านมา
“เบื้องต้นมีเด็กเข้ามาประมาณ 20,000 กว่าราย และมีการประเมินในการดำเนินการเด็กมีความพึงพอใจมาก มีความสนใจสิ่งที่ได้รับมา แต่เวลาน้อยเกินไป ฟังไม่เข้าใจทั้งหมด”
หลังจากนี้จะมีการประสานวิทยากรมาเป็นครูแนะแนว สำหรับนักเรียนหลังจากสอบเสร็จแล้ว ให้คำแนะนำในการเลือกเรียนคณะไหน และจะเดินไปเส้นทางไหน ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ หลายท่านที่อาสาจะมาเป็นวิทยากร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาคในการศึกษา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ก็คงจะเป็นเรื่องของการรับรู้ และจะต้องเพิ่มช่องทางในการรับรู้ว่าทำอย่างไรให้เด็กทั้งประเทศซึ่งแต่ละชั้นปี น่าจะมีประมาณ 5 แสนกว่าคน ทำอย่างไรจะให้รับรู้ทั้งหมด และใครที่สนใจก็จะได้มาเรียน นี่ก็เป็นการตอบโจทย์ Anywhere Anytime
รมว. ศธ. กล่าวถึงเรื่องของการสอบเทียบ ซึ่งมีการขับเคลื่อนอยู่แล้ว โดยจะมอบหมายให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) เป็นแกนหลักในการดำเนินการ ซึ่งมีการดำเนินการค่อนข้างดี ปีการศึกษา 2568 จะสามารถดำเนินการได้ ตลอดจนพัฒนาการศึกษาผ่านระบบการสะสมหน่วยการเรียนรู้ (Credit Bank System) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนและประชาชนได้เรียนและทำงานไปในเวลาเดียวกัน
ส่วนผลประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ (PISA) ที่ลดลง ทำให้รู้ว่ามาตรฐานการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ ทาง นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญไม่หยิ่งหย่อนไปกว่าด้านอื่น รวมถึงเด็กที่ออกจากการเรียนกลางคัน ที่ผ่านมามีโอกาสไปที่โรงเรียนมหาราช 7 อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ได้รับรู้ปัญหาและรู้วิธีการแก้ไข ซึ่ง 1 โรงเรียน 3 ระบบ คือ ในเวลาเรียน นอกเวลาเรียน และตามอัธยาศัย และนำ 3 อย่าง มาผสมกัน ทำอย่างไรให้เด็กจบการเรียน โดยไม่ต้องอยู่ในโรงเรียนตลอดเวลา พร้อมเมื่อไหร่ก็มาเรียน ไม่พร้อมก็ไปเรียนข้างนอก และใช้วิธีมาสอบวัดผล สอบเทียบ สิ่งนี้ก็เป็นการตอบโจทย์ทำให้เด็กที่ มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่ไม่สามารถมาเรียนได้ตลอดเวลา สามารถที่จะมาเรียนนอกเวลาเรียนได้ เรียนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ตอบโจทย์ Anytime แต่ยังไม่เป็น Anywhere คือยังต้องมาเรียนคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียน
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนได้นั้น ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันให้ความสำคัญของการศึกษาและสนับสนุนเรื่องการศึกษาในทุกมิติ