วันที่ 21 มี.ค.2567 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2567 วาระ2-3 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เป็นวันที่สอง ต่อมาสส.ได้อภิปรายเกี่ยวกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นการอภิปรายพุ่งเป้าไปที่ปัญหาเฟคนิวส์ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงประชาชน มีคนตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตัดงบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ทั้งโครงการ จำนวน 69,565,700บาท เนื่องจากเดือนก.ย.2566 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมคัดกรอง 5.4ล้านข้อความ เหลือจำนวนเรื่องเข้าเกณฑ์ตรวจสอบ 539ข้อความ ส่งให้หน่วยราชการต่างๆตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามที่ศูนย์ฯเคยชี้แจงจะตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหน่วยราชการเท่านั้น สงสัยทำไมถึงเลือกตรวจสอบข่าวจากหน่วยงานราชการเท่านั้น สุดท้ายจาก 539ข้อความ ได้รับผลลการตรวจสอบจากหน่วยงาน 356เรื่อง แต่เผยแพร่ได้ 235เรื่องเท่านั้น
นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ศูนย์ฯได้แบ่งกลุ่มข่าวที่ไม่สามารถเผยแพร่ได้เป็น 3กลุ่มคือ 1.หน่วยงานไม่สามารถชี้แจง 2.หน่วยงานปฏิเสธการตอบกลับ 3.หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่ มีตัวอย่างข่าวที่หน่วยงานไม่ประสงค์เผยแพร่คือ ทำเนียบรัฐบาลใช้งบประมาณจัดซื้อยางรถยนต์ 8เส้น 3.4ล้านบาท ได้ตรวจสอบจากกรมประชาสัมพันธ์ชี้แจงเป็นข่าวจริง แต่ไม่ประสงค์เผยแพร่ เพราะไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล มั่นใจว่าหากข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม จะถูกเผยแพร่โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแน่นอน ทำให้หายสงสัย ทำไมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจึงตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานราชการเท่านั้น เพราะการส่งเรื่องให้หน่วยงานราชการ ไม่ใช่การขอให้ตรวจสอบ แต่คือการขออนุญาตหน่วยงานราชการจะยอมให้เผยแพร่หรือไม่ ศูนย์ฯมีหน้าที่แค่ทำตามนั้น ไม่ต้องติดตามหรือทวงถาม สงสัย ไม่สนใจ นี่คือหลักฐานชัดเจนว่า ตลอด 4 ปี 5 เดือน ตั้งแต่ก่อตั้งศูนย์ฯ ไม่เคยมีความเป็นกลาง ไม่มีอิสระ เป็นแค่เครื่องมือรัฐผูกขาดความจริง แบบที่รัฐอยากให้ประชาชนรู้ ปกปิดความจริงที่รัฐไม่อยากให้ประชาชนเห็น โครงการแบบนี้ไม่ควรได้รับภาษีประชาชนแม้แต่บาทเดียว
จากนั้นเข้าสู่การพิจารณามาตรา 17 งบประมาณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กมธ.ตัดลดงบประมาณเหลือ 15,025,964,400บาท จากที่เสนอมา 15,064,053,400บาท โดยเนื้อหาการอภิปรายส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่กระทรวงฯไม่ให้ความสำคัญ ทำให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการเกลี่ยงบประมาณภายในหน่วยงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ให้งบประมาณอย่างเพียงพอกับหน่วยงานที่มีหน้าที่แก้ปัญหาภัยแล้ง โดยนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า งบกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ถูกปรับลดลงเหลือ 870ล้านบาท ถูกตัดทิ้ง ทั้งที่ประเทศมีวิกฤติเรื่องน้ำ แต่กลับไม่ติดอาวุธให้หน่วยงาน ขณะที่งบกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่วแวดล้อมมีความทับซ้อนกับกรมควบคุมมลพิษ มีแต่งบงานอีเวนเป็นตัวตั้ง ที่ไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ควรเน้นเป้าหมายเรื่องการบรรลุยุทธศาสตร์ในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ชัดเจน
นายจักรวาล ชัยวิรัตน์กูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯเกลี่ยงบไม่สมดุล กรมอุทยานแห่งชาติฯได้งบ 5,600ล้านบาท ทั้งที่มีรายได้จากการเก็บค่าเช่าอุทยานมากอยู่แล้ว มีรายได้ต่อปี 1,000 ล้านบาท แต่กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่มีส่วนสำคัญแก้ปัญหาภัยแล้ง กลับได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ อย่างกรมป่าไม้ มีอุปกรณ์ดับไฟป่าแค่ไม้กวาด เครื่องเป่าลม ควรได้รับงบเพิ่มเพื่อไปซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่าที่ทันสมัย
ขณะที่นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกมธ.ชี้แจงว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาฝุ่นPM2.5 แก้ไขปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องฝุ่นPM2.5เป็นเรื่องส่วนรวม ประชาชนต้องให้ความร่วมมือ ถ้าให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงฯเพียงอย่างเดียว การแก้ปัญหาจะใช้เวลานาน หลังจากสส.อภิปรายมาตรา 17ครบถ้วน แล้วที่ประชุมลงมติเห็นชอบมาตราดังกล่าว