วันที่ 26 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯ ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 ที่สภาฯมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา และรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 ของวุฒิสภา ต่อมาเวลา 09.50 น.พล.อ.ชาติอุดม ติดถะสิริ สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ(กมธ.)พิจารณาศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ของวุฒิสภา รายงานว่า การประชุมได้ให้ความสำคัญเรื่องของผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายงบฯในช่วงเวลาที่ผ่านมา และการใช้จ่ายงบฯปี 67 กมธ.ฯ มีการประชุมทั้งสิ้น 45 ครั้ง โดยเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในปี 67 มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2566 แต่มีปัจจัยเสี่ยงทางด้านการคลังในการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการอุปโภคบริโภค และการพื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง ซึ่งมีสาเหตุมาจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ปี 2567  ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบลงทุนภาครัฐปี 2567 และแนวโน้มการลดลงของพื้นที่การคลังจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลผลิตมวลรวม และภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น

พล.อ.ชาติอุดม กล่าวต่อว่า อาจทำให้รัฐบาลขาดความยึดหยุ่นในการก่อหนี้ใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเกิดวิกฤตครั้งใหม่ รวมทั้งการขาดศักยภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่สำคัญ โดยเฉพาะหากรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่นดิจิตอลวอลเล็ต โครงการพักหนี้เกษตรกร การปรับเงินเดือนข้าราชการ รวมทั้งการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อภาระการคลังที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ภาระดอกเบี้ยและการชำระคืนต้นเงินกู้ จากการดำเนินโครงการกระเป๋าตังค์ดิจิตอล ซึ่งจะต้องมีระยะเวลาในการใช้หนี้เป็นระยะเวลานานเมื่อเทียบกับผลที่ได้รับในช่วง1-2 ปี ภาระทางการคลังที่ต้องชดเชย ให้แก่สถาบันการเงินในโครงการพักหนี้เกษตรกร ปรับเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการประเมิณว่าในการที่รัฐบาลมีการดำเนินโครงการดิจิตอลวอลเล็ต ซึ่งจะมีการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะทำให้พื้นที่การคลังเหลือเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นอาจไม่เพียงพอในการรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

พล.อ.ชาติอุดม กล่าวต่อว่า การเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บรายได้ กมธ.ฯมีช้อเสนแนะดังนี้ 1.การจัดเก็บภาษีทุกชนิด โดยเฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลจะต้องขยายการจัดเก็บทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรมจะต้องไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน มีมาตรการจัดการกับผู้หลบเลี่ยงภาษีอย่างจริงจัง อย่างเป็นรูปธรรม และมีมาตรการลงโทษที่รวดเร็ว เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าสู่รัฐบาลที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 2.รายได้จากรัฐวิสาหกิจ ประกอบไปด้วยรัฐวิสาหกิจที่ไม่ขอรับงบประมาณ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้มากกว่ารายจ่าย เพิ่มจำนวนการนำส่งเงินเป็นรายได้ให้รัฐมากขึ้น โดยไม่ให้กระทบกับประชาชน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่ของรับงบฯ ควรให้การลงทุนในโครงการเสร็จทันตามเวลาที่กำหนด เพื่อสามารถเปิดกิจการและมีรายได้จากการบริการประชาชน จะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายชองรัฐบาล หากมีผลประกอบการที่ดีจะช่วยส่งรายได้ให้รัฐบาล