"ศาล รธน." ยังไม่สั่งรับคำร้อง "กกต." ยื่นยุบพรรคก้าวไกล หลังพบเอกสารบางรายการไม่ชัดเจน แจ้งยื่นใหม่ภายใน 7 วัน และมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง "เรืองไกร" วินิจฉัย ปม "เพื่อไทย" หาเสียงแก้ ม.112 เริ่มแล้ว! สภาผู้แทนราษฎร ถก ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 67วาระสอง วันแรก ด้าน ภูมิธรรม เผยปรับลดลง 9,204 ล้านบาท

 เมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันเดียวกันนี้มีการประชุมประจำสัปดาห์ตามปกติ เพื่อพิจารณาวาระและคำร้องต่างๆ สำหรับกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยุบ พรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.ป.ว่าพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมานั้น


 ล่าสุด สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญออกเอกสารเผยแพร่ข่าวระบุว่า คำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ยังมีเอกสารบางรายการไม่ชัดเจน จึงให้ผู้ร้องส่งเอกสารฉบับที่ชัดเจนต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในกำหนดระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันได้รับหนังสือ


 นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพรรคเพื่อไทย ตามคำแถลงการณ์ของ นายชัยเกษม นิติสิริ เมื่อวันที่ 31 ต.ค.64 เกี่ยวกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีตราพรรคเพื่อไทย อยู่ด้วย  มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการกระทำที่อาจนำไปสู่การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในลักษณะที่ไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ  และนายเรืองไกรอ้าง ตรวจสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมพบว่า พรรคเพื่อไทยยังคงไว้ซึ่งคำแถลงการณ์ของนายชัยเกษม ในสื่อโซเชียลของผู้ถูกร้องจนถึงปัจจุบัน   เป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 


 โดยศาลฯเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ไม่ปรากฏว่านายชัยเกษม นิติสิริ  ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคและไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนพรรคเพื่อไทย และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นได้ว่า    พรรคเพื่อไทยมีความมุ่งหมายหรือการกระทำใด ๆ ที่น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง 


        วันเดียวกัน นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล)กล่าวถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ในวาระ 2 และ 3 ของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า เชื่อมั่นว่าไม่น่าจะมีปัญหา การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านและรัฐบาลทุกฝ่ายจะร่วมกันทำงาน วัเชื่อว่าการพิจารณา 3 วันไม่น่าจะมีปัญหา


 เมื่อถามถึงข้อวิจารณ์นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรี(ครม.)ไม่มาฟังการอภิปราย นายวิสุทธิ์ กล่าวว่าก็วิจารณ์กันไป แต่ทราบว่ารัฐมนตรีบางคนมาถึงสภาฯ และะพร้อมชี้แจงแล้ว โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เป็น กรรมาธิการงบ ฯ ก็ต้องเข้ามา แต่บางท่านอาจเพิ่งกลับจากประชุมครม. ที่จ.พะเยา เชื่อว่ารัฐมนตรีจะมาแทบทุกคน และหน่วยงานที่มาให้ข้อมูลพร้อมที่สุดไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และตามข้อเท็จจริงแล้วกรรมาธิการฯต้องเป็นผู้ชี้แจง


 ส่วนได้เก็งข้อสอบการอภิปรายงบฯไว้อย่างไรบ้างนั้น นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาล แต่คนที่เป็นกรรมาธิการฯ ต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอด ซึ่งมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล และพอจะรู้ทางว่าจะมามุมไหนไม้ไหน เมื่อวาน(19 มี.ค.)ประชุมที่พรรคเพื่อไทยก็เตรียมข้อมูลเต็มที่ จึงมั่นใจว่างบ67 จะผ่านฉลุย เพราะทุกฝ่ายอยากให้งบประมาณ 67ได้ออกมาใช้เสียทีเพราะรอมานานแล้ว และทุกคนก็ทราบดีว่า เป็นงบที่จัดทำโดยรัฐบาลชุดก่อน


 จึงทำให้ตัดได้เพียงแค่กว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งจะนำเข้าไปอยู่ในงบกลางของสำนักนายกรัฐมนตรี จึงไม่ได้มีความกังวลอะไร แต่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 อาจจะต้องมีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เดือนมิถุนายนเพื่อพิจารณา ซึ่งรัฐบาลเตรียมการไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ ตามความต้องการของประชาชนและเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลตั้งไว้ ซึ่งตนก็ไม่เข้าใจกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่มีผลงาน ทั้งที่จริงๆแล้วงบประมาณ ปี 67 ยังอยู่ที่สภาฯ ดังนั้นเมื่องบผ่านวาระ 3 ก็จะมีการประกาศใช้ในต้นเดือนเมษายน ถือว่าเป็นประโยชน์ ต่อทุกภาคส่วนที่รองงบประมาณอยู่


 นายวิสุทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่กรรมาธิการ ตัดงบประมาณในส่วนของเรือฟริเกต ของกองทัพเรือ ว่า ที่ประชุมคงต้องมีการอภิปรายกัน ตนมองเป็นความสวยงามตามระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่า ประชาชนที่ติดตามจะได้ข้อมูลต่างๆ ก็ขอให้ติดตามการประชุมด้วย


 ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 20 มี.ค.67 ในการประชุมสภาผุ้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ในวาระที่สอง เรียงตามรายมาตรา จำนวน 41 มาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว


 โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกมธ.วิสามัญฯ กล่าวสรุปรายงานของคณะกมธ. ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เริ่มพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ถึงวันที่ 13 มี.ค.67 ซึ่งถือว่าดำเนินการได้รวดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 2 สัปดาห์ เป็นการพิจารณารายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ รวม 737 หน่วยรับงบประมาณ โดยในการดำเนินงานของ กมธ.วิสามัญฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกมธ.วิสามัญ พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายฯ จำนวน 8 คณะ ได้ปรับลดงบประมาณลง 9,204 ล้านบาท


 นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กมธ.วิสามัญฯ ได้พิจารณาอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แผนงานบุคลากรภาครัฐ รายการบุคลากรภาครัฐ จำนวน191 ล้านบาท ไปเป็นงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นเงินอุดหนุน สำหรับสนับสนุนการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด 43 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ตนและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยินดี และพร้อมที่จะชี้แจงข้อซักถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติในแต่ละมาตราต่อไป


 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีจำนวน 41 มาตรา โดนมีกรรมาธิการสงวนความเห็นจำนวน 26 คน และมี สส. สงวนคำแปรญัตติ จำนวน 220 คน.