วันที่ 20 มี.ค.2567 ต่อมาเวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระ 2 โดยเป็นการพิจารณามาตรา 4 เกี่ยวกับงบรวม

ต่อมา น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จะขอปรับลดในมาตรา 4 จำนวน ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพราะงบประมาณเบิกจ่ายล่าช้าไม่ใช่งบออกล่าช้า แต่มีการอนุมัติงบไปพลางก่อนแล้วของผอ.สำนักงบประมาณจำนวน 1.8 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือสภาฯสามารถพิจารณาได้จริงๆโดยไม่ต้องโอนเปลี่ยนแปลงคืนและผอ.สำนักงบประมาณไม่ต้องทักท้วงมีมูลค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งคือ 1.68 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้ามีใครบอกว่างบประมาณไม่ถูกนำออกมาใช้ 2 ไตรมาสแรก ไม่เป็นปัญหาที่สภาฯ แต่ที่เบิกจ่ายล่าข้าเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เบิกจ่ายไปแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค.รายประจำเบิกไปแล้ว 79 เปอร์เซ็น

แต่สิ่งที่เรากังวลคือรายจ่ายลงทุนมีการอนุมัติไปแค่ 155,000 ล้านบาท ซึ่งปกติเราจะอนุมัติรายจ่ายลงทุนทั้งปีจำนวน 6 แสนล้านบาท แต่เบิกจ่ายได้เพียง 55 เปอร์เซ็น เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาตอบว่ามีการก่อหนี้ผูกพัน มีการใช้จ่ายไป 70 เปอร์เซ็นการเบิกจ่ายเท่านั้นถึงจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังติดหล่มอยู่ทุกวันนี้ ถ้ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบประมาณขนาดนี้ 6 เดือนเบิกจ่ายเงินแค่ 55 เปอร์เซ็นก็ไม่สมควรนำงบไปถึงจำนวน 3.48 ล้านล้านลาท

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า การประมาณการรายได้อาจจะผิดพลาด เพราะรัฐบาลออกนโยบายที่จะกระทบกับรายได้ของประเทศหลายส่วน เช่นไม่มีการเก็บภาษีการขายหุ้น นโยบายลดหย่อนกองทุน ESG ลดการส่งรายได้ของกฟผ.ลดไปแล้ว 8 พันล้านบาท และการลดสรรพสามิตน้ำมัน เพราะฉะนั้น 4 เดือนแรกก็ต่ำกว่าประมาณการ 2 หมื่นล้านบาท และการจัดเก็บรายได้อาจจะได้น้อยลงเพราะเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงประมาณปี 67 จำนวน 3.2 เปอร์เซ็น ดังนั้นมีประเมินความเสี่ยงที่ประมาณการรายได้สูงกว่าความเป็นจริง จัดเก็บจริงได้ต่ำแค่ 1 แสนล้านเศษ เพราะตอนนี้มีการกู้เงินชดเชยการขาดดุลไปแล้วที่ตั้งไว้ 693,000 ล้านบาท ถ้าไม่สามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมาย จำนวน 110,000 ล้าน เราสามารถจะกู้เงินชดเชยเต็มเพดานได้แค่ 796,056 ล้านบาท มีช่องว่างที่จะกู้ได้ไม่ถึง 1 แสนล้านบาทแล้ว

ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำอย่างไรถ้าเก็บภาษีได้ไม่ตรงตามเป้า  เพราะฉะนั้นใครของบก่อนก็ได้ก่อน ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอย่างนั้น หน่วยงานไหนทำงบประมาณก่อนได้ก่อน หน่วยงานไหนทำทีหลังได้งบประมาณทีหลัง ดังนั้นควรจะมาจัดสรรลำดับความสำคัญกันใหม่ ปรับลดงบประมาณสักเล็กน้อย เพื่อไม่ให้สถานะทางการคลังของประเทศสะดุดหยุดลง หรือมีปัญหา

“การที่นายกรัฐมนตรี ได้เสนอตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นสำหรับปี 68 ได้แก่ งบประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมและดูงาน ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ ลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ แต่ตอนนี้งบประมาณปี 68 หน่วยรับงบประมาณได้ส่งคำขอไปตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 67 ดิฉันยังงงอยู่ว่าทำไมนายกฯ เพิ่งทราบจากกมธ.ว่าเราจำเป็นที่จะต้องลดงบที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ แล้วมาสั่งวันที่ 3 มี.ค.67 ออกหนังสือวันที่ 6 มี.ค.67 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราไม่มีนโยบายแบบนี้ตั้งแต่การมอบนโยบายงบ 68 ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.67 อย่างไรก็ตามเราจะติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับงบปี 68 ซึ่งจะเผยโฉมหน้าให้ประชาชนทราบ ที่จะเข้าครม.ในสัปดาห์หน้า” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

ต่อมานายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะกมธ. ชี้แจงว่า การใช้งบประมาณไปพลางก่อน ๆไม่ใช่อำนาจของผอ.สำนักประมาณฝ่ายเดียว แต่มีเป็นเรื่องกลไกตามข้อกฎหมาย และรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอนุมัติผ่านความเห็นชอบของนายกฯและผอ.สำนักงบประมาณ ซึ่งหลักหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนั้นหลายเดือนที่ผ่านมาเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ซึ่งครม.ก็รับทราบในการใช้งบไปพลางก่อน เนื่องด้วยกลไกลและเวลาการทำงบประมาณประจำปีไม่ทัน จึงมีความจำเป็นต้องใช้งบไปพลางก่อน จะตั้งโครงการใหม่ หรือเขียนโครงการใหม่ซึ่งไม่ได้บรรจุไว้ในงบประมาณปีก่อนหน้า

ข้อดีของการใช้งบพลางก่อนคือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในปีก่อนหน้ามาเรียบร้อย ทางผอ.สำนักงบฯจะกำหนดไว้สามารถใช้เงินได้ไม่เกิน 2ใน3 ของแผนงาน ปีนี้จะใช้เงิน กลางหรือปลายเดือนเม.ย. ส่วนการทำงบประมาณของปี 67 ได้ปรับให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาลเรียบร้อย ให้หน่วยรับงบประมาณได้ปรับปรุงคำขอให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย และรายจ่ายในปี 67 ประกอบ 1.ค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ 2.ค่าใช้จ่ายผูกพัน และ3.ค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐาน

“รัฐบาลนี้เข้ามาเราได้มีการอนุมัติแผนการคลังปี 68-71 โดยให้ความสำคัญของการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 68 จำนวน 7.13 แสนล้านบาท  หากระยะต่อไปเราสามาถทำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวได้เต็มศักยภาพ อย่างที่วางเป้าไว้ที่ 5 เปอร์เซ็น ภาครัฐก็สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของการคลังได้ทั้งด้านรายได้และหนี้สาธารณะ ก็สามารถบริหารได้เหมาะสมเพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายการคลังในระยะยาวได้ และสามารถเดินหน้าทำงบประมาณสมดุลได้ในเวลาที่เหมาะสม

ยืนยันว่าโครงการของรัฐบาลทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล วอลเลต หรือโครงการใดก็ตามยังจะเดินหน้า เรายังยืนยันว่าอาจจะต้องมีความจำเป็นจะต้องกู้ผ่านพ.ร.บ. แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็คงจะมาผ่านการพิจารณาการให้ความเห็นของจากสมาชิกอีกครั้ง ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าแน่นอน” นายจุลพันธ์ กล่าว