งานวิวาห์ หรือพิธีมงคลสมรส หรืองานแต่งงาน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆ จนฮิตติดปากว่า “งานแต่ง” ก็ถือเป็นงานๆ หนึ่งที่สามารถวัดได้ถึงสถานการณ์และบรรยากาศ ที่เลวร้าย เช่น จากโรคระบาด สงคราม หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ได้หวนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หรืออย่างน้อยก็ดีขึ้นจากเดิมไปมากแล้ว
อย่างกรณีพิธีมงคลสมรส หรืองานแต่งงาน ใน “สหรัฐอเมริกา” ที่กำลังจะกล่าวถึงนี้ เป็นต้น
โดยตลอดช่วงปี สองปี ที่ผ่านมา ปรากฏว่า การแต่งงานของชาวอเมริกันเป็นไปอย่างคึกคัก
ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานของคู่บ่าว-สาว ที่เป็นคนต่างเพศ หรือคู่สมรส ที่เป็นคนเพศเดียวกัน ทั้งหญิงกับหญิง หรือชายกับชาย ก็ตาม ถูกนับเข้าเป็นพิธีวิวาห์อย่างสุดชื่นมื่นนี้ด้วย
ว่ากันตามตัวเลขที่รายงานและเผยแพร่โดย “ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อแห่งชาติสหรัฐฯ” หรือ “ซีดีซี” ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ อันเกี่ยวพันกับการจัดงาน อีเวนต์ (Event) ต่างๆ ของผู้คนด้วยนั้น ก็ระบุว่า พิธีมงคลสมรสของชาวอเมริกัน เริ่มมีอัตราเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2021 (พ.ศ. 2564) เป็นต้นมา ภายหลังจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยความที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นนั้น ก็หลังจากที่ก่อนหน้านี้อัตราการแต่งงานของชาวอเมริกันลดต่ำลงในช่วงการแพร่ระบาดของโรคร้ายดังกล่าวเป็นไปอย่างรุนแรง ซึ่งสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ ก็ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อสะสม และผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2020 (พ.ศ. 2563) โดยความรุนแรงของวิกฤติโรคร้ายนี้ ก็ทำให้กำหนดการแต่งงานของว่าที่คู่บ่าว-สาว ต้องล่มกันไปเป็นแถวๆ เนื่องจากคู่สมรสหลายราย ไม่อยากให้งานแต่งของตน กลายเป็นสถานที่ที่ถูกจัดว่า พบการติดเชื้อของโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยแบบเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ (Cluster) กอรปกับต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เช่น การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือโซเชียลดิสแทนซิง การหลีกเลี่ยงเข้าไปในพื้นที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก และการให้ผู้คนต้องอยู่แต่ในบ้าน จากมาตรการปิดพื้นที่ หรือล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งแน่นอนงานแต่ง ก็ย่อมต้องมีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมากอย่างแน่นอน ทั้งญาติสนิทมิตรสหายของคู่มงคลสมรส ที่ต้องมารวมตัวร่วมงานเป็นจำนวนมาก สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ติดโรค กลับบ้านไป แล้วไปแพร่ให้คนอื่นๆ เป็นอย่างมาก ด้วยประการฉะนี้หลายคู่จึงล้มเลิกงานแต่งของตนไปเป็นการดีที่สุด
เพราะเหตุนี้ จึงส่งผลให้ในปี 2020 ซึ่งเป็นปีแรกที่โควิด-19 เข้าแพร่ระบาดในสหรัฐฯ อย่างสาหัส ทำให้งานวิวาห์ในประเทศมีจำนวนเพียง 1.7 ล้านคู่เท่านั้น หรือคิดเป็นอัตราส่วน 5.1 คนต่อจำนวนประชากร 1,000 คน โดยตัวเลขนี้ ทาง “ซีดีซี” บอกว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1963 (พ.ศ. 2506)
กระทั่งเข้าสู่ปี 2021 (พ.ศ. 2564) พิธีมงคลสมรสในสหรัฐฯ เริ่มหวนกลับมาคึกคักกันอีกครั้ง เมื่อตัวเลขหวนกลับมาเพิ่มขึ้นที่จำนวน 1.99 ล้านคู่ ตามการเปิดเผยของซีดีซี
อย่างไรก็ตาม ทางซีดีซี ระบุว่า ตัวเลขของคู่มงคลสมรสในปี 2021 นั้น ก็ยังน้อยกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยตัวเลขของคู่วิวาห์ที่เพิ่มสูงขึ้นจนสามารถเทียบได้กับในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้น ทางซีดีซี ระบุว่า ก็เป็นปี 2022 (พ.ศ. 2565) ที่ปรากฏว่า มีคู่รักลั่นระฆังเข้าสู่ประตูวิวาห์มากถึง 2.1 ล้านคู่ หรือคิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ที่ร้อยละ 4 ซึ่งถือเป็นอีกครั้งที่สหรัฐฯ มีตัวเลขของคู่วิวาห์ทะลุมากกว่า 2 ล้านคู่ต่อปี
เมื่อว่าถึงในแต่ละรัฐที่มีอัตราการแต่งงานคึกคักเป็นอย่างสูง ปรากฏว่า รัฐนิวยอร์ก รัฐฮาวาย และพื้นที่ดิสตริกต์ออฟโคลัมเบีย หรือดี.ซี. ซึ่งหมายถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ นั่นเอง ที่มีอัตราการแต่งงานของคู่รักเพิ่มมากขึ้นในปี 2021 และในปี 2022
เช่นเดียวกับ รัฐเนวาดา ซึ่งเป็นรัฐที่มีโบสถ์คริสต์ เลื่องชื่อในด้านสถานจัดพิธีวิวาห์ของประเทศอยู่ในนครลาสเวกัส ก็หวนกลับมาเป็นสถานที่จัดพิธีมงคลสมรสสูงที่สุดของสหรัฐฯ กันอีกครั้ง หลังจากที่ต้องซบเซาไป เพราะวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำพิษ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตัวเลขการแต่งงานของชาวอเมริกันในปี 2022 หวนกลับมาเพิ่มขึ้นจนเทียบได้กับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ก็จริง แต่ทว่า เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนต่อจำนวนประชากรทั้งหมดแล้ว ก็ยังต่ำกว่าในช่วงคริสต์ศตวรรษก่อนหน้า
โดยในปี 2022 นั้น สัดส่วนของผู้เข้าพิธีวิวาห์คิดเป็น 6.2 ต่อ 1,000 น้อยกว่าเมื่อคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ที่จำนวนสัดส่วนมากกว่า 10 ต่อ 1,000 และในปี 1946 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 สัดส่วนในครั้งนั้นอยู่ที่ 16.4 ต่อ 1,000 เลยทีเดียว
ทางซีดีซี ยังได้เปิดเผยตัวเลขที่เป็นที่น่ายินดีต่อสังคมชาวอเมริกันอีกประการหนึ่งก็คือว่า อัตราการหย่าร้างของคู่สามีภรรยาก็ลดลงเช่นกัน สำหรับ ตัวเลขในปี 2022 ที่เป็นปีที่การแต่งงานได้หวนกลับมาคึกคักจนเทียบได้กับเมื่อช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2022 เดียวกันนั้น อัตราการหย่าร้างของคู่สามีภรรยาชาวอเมริกันลดลงที่สัดส่วน 2.4 ต่อ 1,000 ซึ่งอัตราการหย่าร้างดังกล่าวนั้น เริ่มมีแนวโน้มว่าจะลดลงในปี 2021 แล้ว ด้วยสัดส่วนที่ 2.3 ต่อ 1,000
สำหรับ การแต่งงานในสหรัฐฯ นั้น ก็มีขั้นตอนที่แตกต่างจากประเทศไม่เหมือนใคร
เริ่มจากการไปขอ “ใบอนุญาตแต่งงาน (Marriage Iicense)” จาก “เคาน์ตี” ที่เมืองของตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งการไปขอ ก็ต้องไปพร้อมคู่ที่จะแต่งงานด้วย ห้ามไปคนเดียว เพื่อแสดงหลักฐานทางเอกสารต่างๆ เป็นหลักฐาน เช่น ไอดีการ์ด พาสปอร์ต เป็นต้น ซึ่งในการขอก็มีค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียด้วย โดยใบอนุญาตแต่งงานนั้น มีผลหลังจากอนุมัติแล้ว 3 วัน และมีกำหนดหมดอายุภายใน 60 วันด้วย ส่วนในการประกอบพิธีบางรัฐ ก็มีการกำหนดว่าให้ใช้พยานกี่คน และกำหนดว่าใครที่มีสิทธิทำพิธีให้ได้ ต้องนัดแนะกันให้ดีๆ ปิดท้ายกันที่การขอใบทะเบียนสมรส จากเคาน์ตีด ก็จะมีทั้งแบบไปขอด้วยตนเองและให้ทางเคาน์ตีส่งเอกสารมาให้ โดยมีค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียด้วยเช่นกัน