วันที่ 19 มี.ค. 2567 เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง กล่าวถึงการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (IPU) Assembly of the Inter – Parliamentary Union and Related Meetings) ครั้งที่ 148 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 22-29 มี.ค.นี้ ว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ตนได้รับมอบหมายจากนายวันมูฮะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ดูแลด้านต่างประเทศ ซึ่งตนได้เล็งเห็นถึงการทูต ที่ทางรัฐสภาไทย สามารถหาความร่วมมือของประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในระดับทวิภาคี รวมถึงการสานสัมพันธ์ระดับพหุภาคี ตลอดจนระดับโลกได้ ซึ่งเราเห็นว่า ยังคงมีพื้นที่ให้แก่รัฐสภาไทยที่จะสามารถยกระดับงานด้านต่างประเทศให้สอดรับกับภารกิจหลักของสภาได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็น ภารกิจการออกกฎหมาย, ภารกิจการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล, ภารกิจการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี
โดยการประชุมครั้งนี้ จะร่วมมือทั้งภารกิจการออกกฎหมาย ซึ่งในเวลา 17.00 น.ของวันนี้ จะมีการประชุมออนไลน์ เพื่อหารือภารกิจการออกกฏหมายต่อสู้กับวิกฤตสภาวะอากาศ โดยเรียนรู้จากประเทศที่ทำสำเร็จแล้ว เช่น เยอรมนี และนิวซีแลนด์
อีกทั้งยังมีภารกิจการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเรียนรู้จากโครงสร้างของประเทศอื่น ๆ และภารกิจการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรไทยจะมีการปรับปรุงโครงสร้างครั้งใหญ่ เพื่อยกฐานะให้สามารถพิจารณา ติดตาม และตรวจสอบงบประมาณได้ดีขึ้น ดังนั้น นโยบายการขับเคลื่อนของประเทศไทย เช่น พันธกรณีต่างๆ จะต้องกลับมาทบทวนถึงตัวตนทางด้านการทูตด้วย
รองประธานสภาฯ กล่าวต่อว่า ถือโอกาสนี้ เข้าร่วมกับคณะผู้แทนรัฐสภา 10 คน ได้แก่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะหัวหน้าคณะ นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สว. ในฐานะที่ปรึกษาคณะ ส่วน สส.ฝั่งรัฐบาล น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม. พรรคเพื่อไทย น.ส.สรัสนันท์ อรรณนพพร สส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย นายอัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ และ สส.ฝ่ายค้าน มีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สำหรับ สว. ประกอบด้วย นางสุวรรณี ศิริเวชภัณฑ์ นายไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล และเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ จะผลักดันหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) วาระปี 2025-2027 ซึ่งเป็นวาระเดียวกันกับที่รัฐบาลพยายามเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลก ซึ่งจะร่วมกันผลักดันโดยไม่แยกฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สส. สว. และจะเสนอชื่อนายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม เข้าชิงตำแหน่งกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (Comittee to Promote Respect of the International Humanitarian Law หรือ IHL) ในนามของประเทศไทย สัดส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย
ทั้งนี้ ไทยอยากมีส่วนร่วมในการปรับปรุงนโยบายผ่านกลไกทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR) ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ภารกิจรอบนี้จะมีโอกาสเสนอความเห็นและหาแนวทางปฏิบัติระหว่างรัฐสภากับกระบวนการทำ UPR
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะช่วงชิงตำแหน่งคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ยังมีข้อคอรหาจากประชาชนเรื่องสิทธิมนุษยชนในไทย จะทำให้ไทยเสียเปรียบหรือไม่นั้น นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เราจำเป็นที่ต้องใช้เวทีนานาชาติไปฟังฟีดแบค เพื่อรับทราบว่าต่างชาติมีข้อกังวลอะไรบ้าง แล้วจะส่งผลกระทบต่อการช่วงชิงตำแหน่งอย่างไร เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องฟังเสียงสะท้อนจากทั้ง สส. ประชาชน และสังคมโลก คงไม่มีความสมบูรณ์แบบก่อนแล้วถึงจะท้าชิงได้ เราอาจจะต้องเข้าชิง แล้วดูจุดที่บกพร่องของตนเองเพื่อปรับปรุง ซึ่งตนเองก็หวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอที่มีการปรับปรุงไปพิสูจน์ความจริงใจในการเข้าชิงตำแหน่งนี้