กกต. มีมติเอกฉันท์ยื่นคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ผ่าน E-filing ถึงศาลรธน.แล้ว ลุ้น 20 มี.ค. ศาลฯรับวินิจฉัยหรือไม่ 'ธรรมนัส'การันตรีพปชร.ไม่มีปรับเก้าอี้รมต.  บอกไม่ตื่นเต้นศึกซักฟอก รัฐบาลแจงได้ "คารม"  ซัด"พิธา"ไม่รู้กาลเทศะ อย่าด้อยค่านายกฯ ทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาล  
       
     เมื่อวันที่ 18 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองซึ่งได้รับมอบหมายจากกกต.ให้เป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทนกกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคตามพ.ร.ป.ว่าพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) จากเหตุมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกลกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแล้วเมื่อช่วงก่อนเที่ยงที่ผ่านมา โดยเป็นการยื่นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-filing ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด
   

 โดยคำร้องดังกล่าวเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยเป็นมติเอกฉันท์ ว่าการที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่) พ.ศ... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
 

   ซึ่ง นายธีระยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ และนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ยื่นคำร้องขอให้กกต.ดำเนินการเอาผิดกับพรรคก้าวไกลตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเมื่อวันที่12 มี.ค. กกต.ได้มีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และสำนักงานฯได้ดำเนินการยกร่างคำร้องก่อนที่กกต.ทั้ง 6 คน จะลงนาม ก่อนยื่นคำร้องในวันนี้ ซึ่งจากนี้ต้องรอดูว่าการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปกติจะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธนั้น ในวันพุธที่ 20 มี.ค.นี้ จะมีคำร้องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่ และศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้วินิจฉัยหรือไม่ หากจะมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป
 

   ที่ศาลากลางจังหวัดพะเยา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐไม่มีการปรับเปลี่ยนใดๆ เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าครม.มีการพูดคุยกันอย่างราบรื่นแล้วใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เรื่องของพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคพลังประชารัฐไม่มีการปรับ
 

   ผู้สื่อข่าวถามถึงการเตรียมพร้อมสำหรับการชี้แจงในกรณีที่จะมีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่มีการลงมติ ของส.ส.และของสว. ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า การอภิปรายดังกล่าวเป็นเวทีที่ให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงได้แก้ไขหรือชี้แจงข้อสงสัยต่างๆให้ประชาชนได้รับทราบ จึงเป็นเวทีปกติ ตนไม่ได้ตื่นเต้นอะไร เมื่อถามว่า อาจมีการหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาใช้ในการอภิปรายดังกล่าวด้วย ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการชี้แจง
   

 ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าบ้าน คิดว่าการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ที่จ.พะเยา จะราบรื่นและไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า เราเตรียมตัวมานาน 3 เดือน ไม่มีปัญหา และตนเชื่อมั่นว่าจะไม่มีคนมาก่อกวน และในส่วนของคนพะเยาไม่มีแน่นอน
   

 ด้าน นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไป ครม. โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของวุฒิสภา ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ว่า ส่วนตัวเตรียมที่จะอภิปรายเรื่องการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ขุมทรัพย์ใต้อ่าวไทย 20 ล้านล้านบาท กับกัมพูชา เพื่อชี้ให้เห็นว่ามีข้อควรระวังอะไร แนวความคิดที่จะมีการเจรจาแยกกันระหว่างการแบ่งปันผลประโยชน์กับการเจรจาแบ่งเขตแดนมีความอันตรายอย่างไร ขัดกับเอ็มโอยู ปี 2544 อย่างไร ทางเลือกที่ดีที่สุดควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งตนจะใช้เวลาชี้แจงเรื่องนี้ให้มีความกระจ่างอย่างน้อยเพื่อเป็นการบันทึกไว้แม้จะไม่เสร็จในเร็ววัน แต่จะเป็นข้อมูลเพื่อให้รัฐบาลได้ฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
   

 เมื่อถามถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เดินทางไปกัมพูชาในวันที่ 18 มี.ค.นี้ จะมีผลอะไรหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายถือว่าการเจรจายังไม่เริ่มต้นขึ้น การเจรจาจะเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการเจทีซี (JTC) ฝ่ายไทยขึ้นมา ขณะนี้ยังไม่มีการตั้งก็ยังไม่มีการเจรจา แน่นอนว่าการที่ผู้นำพบปะกันอย่างเป็นทางการอาจจะมีการพูดคุยกันเรื่องนี้หรือไม่ก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติในทางกฎหมายก็ต้องถือว่าการเจรจายังไม่เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นก็ไม่น่าจะต้องกังวลอะไร ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่จะไปมุบมิบเจรจากันได้ง่ายๆ เพราะเมื่อจะต้องทำเป็นข้อตกลงก็จะเข้าข่ายเป็นข้อตกลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ดังนั้นเรื่องนี้ในทางปฏิบัติน่าจะอีกยาวพอสมควร
   

 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหา เพื่อนำไปพูดในสภาฯ ว่า ตามหน้าที่นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่นายพิธาต้องเปิดใจให้กว้างและรับฟังข้อเท็จจริงจากรัฐบาล ขณะนี้งบประมาณปี 2567 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาฯ แต่รัฐบาลก็สามารถบริหารงบประมาณในการแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ดีระดับหนึ่ง ความจริงการที่นายพิธาลงพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือ ในขณะที่นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติภารกิจอยู่ในพื้นที่นั้น แม้ไม่ผิดอะไร แต่ในทางการเมืองก็คือการแย่งซีนกับนายกรัฐมนตรี และความไม่รู้กาลเทศะ จุดประสงค์ชัดเจนเพื่อด้อยค่านายกรัฐมนตรี ทำลายความน่าเชื่อถือรัฐบาล ไม่ใช่อยากลงพื้นที่ดูปัญหาที่แท้จริง เพื่อนำไปพูดในสภาฯ เพราะข้อมูลเหล่านี้ หาได้ไม่ยากจาก ส.ส.ของพรรคก้าวไกลในพื้นที่จ.เชียงใหม่ ที่มีข้อมูลอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องวุฒิภาวะ หรือไม่รู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะสม

     นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ว่า ไม่แน่ใจว่าสังคมมองกรณีของนายทักษิณอย่างไร แต่ส่วนตัวตนถูกสอนมาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาว่าการโกหกเป็นเรื่องไม่สมควรทำ ถ้าในทางพุทธก็ต้องบอกว่าผิดศีล และเชื่อว่าทุกศาสนาก็กำหนดในลักษณะนี้ด้วย จึงไม่แน่ใจว่าสังคมไทยจะยอมรับได้แค่ไหน เมื่อเห็นนายทักษิณ บางวันก็มีเฝือกดามคอ บางวันก็ไม่มี บางวันก็ถอดเฝือกคอออกให้เห็น สรุปแล้วนายทักษิณเป็นบุคคลที่ป่วยร้ายแรงหรือไม่ หรือป่วยมากกว่านักโทษคดีการเมืองคนอื่นหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเราไม่เห็นเอกสารทางการแพทย์ที่จะออกมายืนยันได้ เราจึงสงสัย
   

 สำหรับการชี้แจงของหน่วยงานราชการเกี่ยวกับอาการป่วยของนายทักษิณ ก็ไม่สามารถทำให้สังคมสิ้นข้อสงสัยได้ อย่างที่โฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาแถลงอาการของนายทักษิณเป็นเส้นเอ็นเปื่อยยุ้ย เช่นเดียวกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มาระบุว่านายทักษิณต้องพักรักษาตัวเป็นเวลานาน แต่สุดท้ายนายทักษิณก็ดูแข็งแรงดีในการลงพื้นที่ สามารถนั่งยองคุยกับประชาชนที่มารอรับได้ ดังนั้นสังคมไทยต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามนายทักษิณ ว่าเราจะยอมรับได้แค่ไหนที่จะเห็นนักการเมืองพูดมุสา
   

 ขอเรียกร้องให้นำเอกสารทางการแพทย์มายืนยันอาการป่วย ไม่ต้องไปอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ขอให้นายทักษิณมายืนยันด้วยตัวเอง และอย่ามาบอกว่านายทักษิณไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้ว เพราะการลงพื้นที่เชียงใหม่ในครั้งนี้คึกคักกว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสียอีก จึงต้องยอมรับว่านายทักษิณมีความไม่ธรรมดาอยู่แล้ว สังคมไทยก็ต้องตอบตัวเองว่าจะยอมรับได้แค่ไหน เกี่ยวกับการโกหก
   

   ส่วนที่นายพิธาลงพื้นที่เชียงใหม่ถูกหามือไม่พายเอาเท้าราน้ำ หรือการไม่มีมารยาท ผมว่าอย่าพูดแบบนี้ดีกว่า เข้าใจว่าส.ส.ที่พูดแบบนี้อยู่ฝั่งรัฐบาล แทนที่จะว่าฝ่ายค้าน เอาเวลาไปกระทุ้งรัฐบาลให้แก้ปัญหาให้จริงจังดีกว่า เพราะรัฐบาลไม่ใช่มือใหม่ บริหารงานมาหลายเดือนแล้ว ควรใช้โอกาสตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ดีกว่า หากคิดว่าเชียงใหม่ เป็นเมืองหลวงและฐานที่มั่นสำคัญของรัฐบาล ก็ช่วยดูแล อย่างน้อยสภาพอากาศต้องดีขึ้น"นายรังสิมันต์ กล่าว
   

 นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายพิธาให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายทักษิณระบุเศรษฐกิจขณะนี้แย่กว่าช่วงต้มยำกุ้ง ว่า ขอชี้แจงว่าสิ่งที่นายทักษิณให้สัมภาษณ์ที่เชียงใหม่ในขณะที่พบปะพี่น้องนั้น ท่านพูดในฐานะคนที่ห่วงใยบ้านเมือง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง และการพูดก็ไม่ได้หมายความว่าต้องการให้เห็นว่าเศรษฐกิจวิกฤตเพื่อใช้เป็นข้ออ้างนำไปผลักดันนโยบายดิจิตอลวอลเล็ตแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะดำเนินการ แต่ท่านพูดด้วยเจตนาบริสุทธิ์ และนายพิธาเอง ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจนั้นซึมลึกมาร่วม 10 ปี และปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งไม่มีสงครามหลายจุดทั่วโลก ซึ่งกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจเช่นขณะนี้ถามประชาชนรู้คำตอบว่าเศรษฐกิจตอนนี้กระทบตั้งแต่คนยากจนไปจนถึงบริษัทใหญ่
 

   ส่วนประเด็นที่นายพิธาเตือนรัฐบาลอย่าบริหารเศรษฐกิจแบบหยดน้ำอย่างที่เคยชิน แต่ควรบริหารเศรษฐกิจแบบฐานรากว่า ความจริงนายพิธาน่าจะรู้ดีว่าจุดแข็งของเพื่อไทยคือเราเน้นเศรษฐกิจฐานราก เน้นการรดน้ำที่ราก นโยบายในอดีตสมัยพรรคไทยรักไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดค่าใช้จ่าย และความเหลื่อมล้ำให้ประชาชน เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค การเข้าถึงแหล่งทุนเช่นกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนเอสเอ็มแอล ล้วนนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจฐานราก และลดความเหลื่อมล้ำ ความจริงนายพิธา เคยไปทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลสมัยที่ท่านทักษิณเป็นนายกฯ น่าจะเข้าใจประเด็นนี้ดี
 

   นายนพดล ยังกล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณได้สัมภาษณ์คนไม่ชอบหน้าให้ต่างคนต่างอยู่นั้น ว่า นัยยะของคำพูดคือแม้มีความเห็นต่างแต่อยู่ในสังคมกันได้ ไม่ต้องขัดแย้งกัน และที่เดินทางไปเชียงใหม่ก็ไปไหว้บรรพบุรุษและพบปะประชาชนตามตลาดบ้าง เยี่ยมชมผลงานสมัยที่เป็นนายกฯ บ้าง การให้ความเห็นเรื่องฝุ่น P.M. 2.5 ก็เพราะรักและเป็นห่วงประชาชน การไปเชียงใหม่ไม่ใช่การรณรงค์ทางการเมือง
   

 นายนพดล กล่าวอีกว่า แต่การที่ น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีตส.ส.ก้าวไกล โพสต์พาดพิงในทางที่เสียหาย ว่านายทักษิณ เห็นแก่ตัว ไหนบอกจะเลี้ยงหลาน ไม่ปลง มักใหญ่ใฝ่สูง อยากเป็นสมเด็จแบบฮุนเซนนั้น ตนถือว่าล้ำเส้นไปมาก เป็นการใช้จินตนาการและใส่ร้ายอย่างไม่เป็นธรรม การวิจารณ์เช่นนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร และสังคมประชาธิปไตยไม่ควรใช้เฮทสปีชหรือวาทกรรมสร้างความเกลียดชัง และพรรคเพื่อไทยได้กำชับลูกพรรคแล้วว่าเวลาวิจารณ์ใครควรตั้งบนข้อเท็จจริงให้ความเป็นธรรม และอย่าไปใส่ร้ายหรือใช้เฮทสปีช เพราะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตย