เอ่ยถึง “มือถือ” หรือชื่อเป็นทางการ คือ “โทรศัพท์เคลื่อนที่อัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทโฟน (Smartphone)” ปัจจุบันถือว่า มีความสำคัญ จนถูกยกให้เป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์เราเลยทีเดียวก็ว่าได้ ต่อจากปัจจัย 4 ที่มีมาแต่เดิม คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
โดยความสำคัญของ “มือถือ” ก็มีเป็นประการต่างๆ
ทั้งการใช้เป็นอุปกรณ์สื่อสารทั้งทางใกล้ และทางไกล ซึ่งมือถือสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
การเก็บบันทึกและส่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งในรูปแบบข้อความ ภาพถ่าย ภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว
การใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งหลายรุ่นได้รับการพัฒนา จนใกล้เคียงกับเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งเลยทีเดียว
การใช้อุปกรณ์ฟังเพลง หรือฟังเสียงต่างๆ ที่ถูกบันทึกไว้
การใช้เป็นนาฬิกาดูเวลา เป็นนาฬิกาปลุก และเป็นเครื่องคิดเลขได้
การใช้เป็นอุปกรณ์การเรียน การสอบ และเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก สำหรับ นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนผู้สนใจค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบหนังสือแบบอีบุ๊ก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม “มือถือ” แม้จะมีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์อีกเช่นกัน หากผู้ใช้ใช้มันอย่างไม่เหมาะสม หรือใช้มือถือกันแบบติดงอมแงม รวมผู้ที่ติดเกมในโทรศัพท์มือถือด้วย จนเกิดอาการผิดปกติ ทั้งทางจิตใจ อารมณ์ ตลอดจนทางร่างกาย รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ในทางสังคม ดังที่เรียกว่า “สมาร์ทโฟนซินโดรม (Smartphone syndrome)” อาทิเช่น
การทำให้เสียสมาธิ หรือทำให้เกิดสมาธิสั้น
การทำให้เกิดอารมณ์เครียด อารมณ์แปรปรวนโดยบางรายถึงขั้นมีพฤติกรรมก้าวร้าวขึ้น หรืออาจก่อให้เกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวลต่างๆ ได้
รบกวนการนอนหลับ หรือทำให้นอนหลับไม่สนิทดี ซึ่งเป็นผลกระทบจาก “แสงสว่างของมือถือ” ต่อสายตาของเรา ทำให้มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า “เมลาโทนิน (Melatonin)” ที่ช่วยควบคุมการนอนหลับ โดยถ้าหากร่างกายไม่หลั่ง หรือหลั่งได้ไม่ดีของฮอร์โมนดังกล่าวขึ้นมา ก็ทำให้เกิดการหลับยาก หลับไม่สนิท หรือหลับได้ไม่ลึกเท่าที่ควรจะเป็น อันจะส่งผลทำให้อารมณ์ไม่แจ่มใส สมองปลอดโปร่ง หลังจากตื่นขึ้นมา
การก่อปัญหาให้กับสายตา อันเป็นผลจาก “แสงสีฟ้า (Blue light)” จากมือถือ ที่สามารถทำลายจอประสาทตา หรือเรตินา (Retina) จนนำไปสู่โรคจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบบางรายต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล จนถึงขั้นผ่าตัดกันเลยก็มี
นอกจากนี้ การใช้มือถือมากเกินไป ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางร่างกาย หรือกายภาพอื่นๆ ได้แก่
การปวดคอและบ่า อันเป็นผลจากการก้มมองจอโทรศัพท์มากและนานเกินไป เช่น การอ่านข้อความ การพิมพ์ข้อความ ซึ่งจากการศึกษาติดตาม พบว่า ผู้ใช้มือถือมักจะก้มคอมากถึง 60 องศา อันเป็นท่าที่ไม่เหมาะสมกับสรีระโดยทั่วไป และจะก่อให้เกิดอาการปวดคอและบ่าตามมา หากอยู่ในท่านี้เป็นเวลานานๆ
การเกิดอาการนิ้วล็อก อันเป็นผลจากการใช้นิ้วมือ นิ้วใดนิ้วหนึ่ง พิมพ์ข้อความ หรือเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือมากจนเกินไป ซึ่งการเกิดอาการนิ้วล็อกที่ว่า ก็มาจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการงอนิ้ว จนเกิดการนิ้วล็อกขึ้น ตามการรายงานก็ระบุว่า นิ้วล็อกจากการใช้มือถือมากเกินไปนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วโป้ง ซึ่งใช้กด หรือทัชสกรีน หน้าจอของมือถือ เป็นหลักใหญ่ มากกว่านิ้วอื่นๆ
การเกิดอาการ “เซลล์โฟน เอลโบว์ (Cellphone elbow)” คืออาการปวดชา หรือเหน็บชาบริเวณปลายแขนและมือ อันสืบเนื่องจากการถือโทรศัพท์มือถือด้วยท่าที่งอแขน หรืองอข้อศอก เป็นมุมแคบกว่า 90 องศานานเกินไป ทั้งนี้ หากใครที่เกิดอาการดังกล่าว แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ปล่อยให้อาการเรื้อรัง ก็อาจส่งผลทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือนิ้วนาง นิ้วก้อย งอติดแข็งตามมาก็เป็นได้
อาการปวดศีรษะ อันเป็นผลมาจากผู้ใช้มือถือเป็นเวลานานๆ ทำให้ได้รับรังสีจากคลื่นโทรศัพท์ที่แผ่ออกมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งรังสีจากมือถือ ส่งผลต่อระบบประสาท ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมา เช่น ปวดศีรษะ และปวดไมเกรน เป็นต้น
นอกจากนี้ จากผลการศึกษาติดตามในกลุ่มตัวอย่างเด็กที่ใช้มือถือที่ไม่เหมาะสมมากเกินไป ในลักษณะติดกันงอมแงม เช่น ติดเกมส์ ติดโซเชียลมีเดีย เป็นต้น ก็ทำให้เด็กๆ มีการเรียนรู้ที่ต่ำลงด้วย
โดยในเรื่องของผลกระทบจากมือถือที่มีต่อเด็กๆ นั้น หลายประเทศก็เกิดกระแสสนับสนุนให้มีมาตรการควบคุมการใช้มือถือในเด็กกันมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การห้ามเด็กๆ ใช้มือถืออย่างไม่เหมาะสมในชั้นเรียน ถึงขนาดองค์การการศึกษา วิทยศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ก็ยังร่วมประสานเสียงออกมาด้วยเหมือนกัน
ล่าสุด ในการสำรวจความคิดเห็นของวัยรุ่นชาวอเมริกัน โดย “ศูนย์วิจัยพิว” ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองและเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐฯ ก็ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างวัยรุ่นชาวอเมริกันที่ตอบแบบสอบถามจำนวนถึงร้อยละ 69 หรือเกือบ 3 ใน 4 มีความคิดเห็นว่า พวกเขารู้สึกมี “ความสุข (Happy)” และหรือรู้สึกว่า “สงบสุข (Peaceful)” ในช่วงพวกเขาปราศจากโทรศัพท์มือถือ หรือสมาร์ทโฟน
กลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้ยังบอกว่า ถึงแม้ว่าในช่วงที่พวกเขาไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ ก็ยังสามารถสมาคม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างได้เป็นอย่างดี และอาจจะดีกว่าในช่วงที่อยู่กับโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาขาดการสมาคม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนรอบข้างไป จากการที่ต้องใจจดใจจ่อกับโทรศัพท์มือถือ
พร้อมกันนี้ ในสำรวจความคิดเห็นข้างต้น ยังพบด้วยว่า พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีมาตรการจำกัดเวลาการใช้โทรศัพท์มือถือของเด็กๆ ในครอบครัวด้วยเหมือนกัน โดยเสียงสนับสนุนที่จะให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำกัดเวลาการใช้โทรศัพท์ของเด็กๆในครอบครัวมีจำนวนถึงร้อยละ 47 หรือเกือบครึ่งหนึ่ง เพื่อมิให้เด็กๆ ต้องใช้โทรศัพท์มือถือมากหรือนานเกินไป ซึ่งยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่ดีกว่า เช่น เล่นกีฬา หรือการนันทนาการเพื่อความบันเทิงต่างๆ สามารถสร้างความสุขได้มากกว่าการติดโทรศัพท์มือถือกว่ากันเป็นไหนๆ