วันนอร์เผยศึกซักฟอกรัฐบาลตาม ม.152 หากอภิปรายโยงคนนอกกระทบ 'ทักษิณ' ต้องยึดตามข้อบังคับและเกี่ยวข้องกับเนื้อหาญัตติ รังสิมันต์ยันก้าวไกลพร้อมรับมือคดียุบพรรค สู้ทุกรูปแบบ  พร้อมปฏิเสธเข้าพบลุงป้อม เชื่อไม่มีเด็กก้าวไกลเข้าพบ ลั่นไม่อยากเห็นมีงูเห่ารอบใหม่

     ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 14 มี.ค.67 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ไม่มีปัญหาจึงส่งไปให้รัฐบาลได้พิจารณาเพื่อสอบถามความพร้อมแล้ว โดยได้รับรายงานจากประธานวิปทั้ง 2 ฝ่ายว่าตกลงกันเรียบร้อยแล้วให้การประชุมในวันที่ 3-4 เม.ย.นี้ รวมเวลา 2 วัน

     เมื่อถามถึงกรณีหากมีสมาชิกอภิปรายพาดพิงไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นั้น  นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า หากอภิปรายพาดพิงถึงคนนอก ก็มีข้อบังคับการประชุมสภาอยู่แล้ว หากอยากกล่าวถึงบุคคลที่ 3 โดยไม่จำเป็น ประธานการประชุมคงไม่อนุญาตให้ แต่ถ้าบุคคลนั้นเกี่ยวข้องกับญัตติการอภิปรายก็จะพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป

     สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วาระ 2 และวาระ 3 ได้มีการตกลงกันอีกครั้งว่าจะพิจารณาในวันที่ 20-22 มี.ค. เนื่องจากวันที่ 25 มี.ค. ตรงกับวันอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ของทางวุฒิสภา ซึ่งทางวุฒิสภาไม่อยากให้มีการประชุมซ้ำซ้อน เนื่องจากจะมีผลกระทบกับการถ่ายทอดสด คาดว่า จะสามารถลงมติวาระ 3 ในร่างพ.ร.บ.งบฯปี 67 ได้ในเวลาไม่เกิน 18.00 น. ของวันที่ 22 มี.ค. ทั้งนี้ เมื่อวิปทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันแล้วว่า ในแต่ละวันจะต้องอภิปรายได้กี่มาตรา เพราะการพิจารณาครั้งนี้ มีผู้ขอสงวนคำแปลญัตติไม่มาก เชื่อว่าจะจบการพิจารณาได้ภายใน 3 วัน

     ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวส.ส.พรรคก้าวไกล เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่บ้านมีนบุรี ว่า ไม่มีทางเป็นตนแน่นอน และตนยังไม่ทราบว่ามีคนของพรรคก้าวไกลไปหรือไม่ ต้องไปตรวจสอบก่อน แต่เบื้องต้นยังไม่ได้รับแจ้งอะไรว่ามีการไปพบพล.อ.ประวิตร แต่เชื่อว่าคงไม่มีใครไป และตอนนี้ตนไม่แน่ใจว่าส.ส.พลังประชารัฐไปบ้านพล.อ.ประวิตรครบหรือไม่ด้วยซ้ำ
     
ก่อนที่จะไปพูดถึงว่าส.ส.พรรคไหนไปบ้านลุงป้อม ต้องบอกมาก่อนว่าส.ส.พรรคพลังประชารัฐอยู่ครบที่จะไปบ้านลุงป้อมหรือเปล่า ขอยืนยันว่าผมยังไม่ได้ยินและยังไม่เห็นเรื่องนี้
    
 นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีการถามเพื่อนส.ส.ก้าวไกลหรือไม่ว่ามีใครแตกแถวไปบ้าง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เห็นข่าวแล้วก็มีการพูดคุยกันบ้าง แต่ก็ยังไม่ทราบคนที่ไป แต่การที่มีคนคิดว่าตัวเองจะเป็นส.ส.สมัยเดียว รอบนี้ได้มาเพราะกระแส อาจไปพบพล.อ.ประวิตรได้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ไม่มี ต้องบอกว่าตอนหาเสียงเราเหนื่อยกันมาก ดังนั้นคงไม่คิดแค่ว่าจะเอาความสบายเข้ามา หลายคนที่หาเสียงก็เชื่อจริงๆ ว่าต้องการที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง และก็พยายามคัดผู้สมัครอย่างดีที่สุด พยายามมีการทอดสอบในทุกรูปแบบ มีการใช้ระยะเวลากับผู้สมัครมากที่สุดว่าเป็นคนที่มีอุดมการณ์จริงๆ ตนเชื่อว่า เพื่อนร่วมพรรค ร่วมการต่อสู้ก็ยังคงยึดมั่นในสิ่งที่ทำให้ตัวเองทำก่อนที่มาอยู่จุดนี้ได้ แต่เมื่อมีกระแสข่าวออกมาตนก็พยายามถามและตรวจสอบเหมือนกัน ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลที่หน้าเชื่อถือว่ามี สส.ของพรรคก้าวไกลไปบ้านของพล.อ.ประวิตร
    
 ขณะที่กระแสข่าวมีส.ส.ที่ไปบ้านพล.อ.ประวิตร ประมาณ 10 คน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ถ้าเป็นหลัก10 คน ตนน่าจะรู้ ถ้าเป็นจริง ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ดังนั้นเบื้องต้นจะสรุปว่ามีส.ส.ไปบ้านพล.อ.ประวิตรไม่ได้ เพราะมีแค่กระแสข่าวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีส.ส.ก้าวไกลไปจริงๆ ก็คงต้องคุยกัน เพราะ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ใช่รัฐมนตรี อยู่ๆ จะไปหาก็ต้องชี้แจงว่าไปด้วยสาเหตุอะไร ปัญหาตอนนี้อย่าเพิ่งไปสรุปว่ามีเลย เพราะยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
    
 เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลมีปัญหาเรื่องงูเห่า ครั้งนี้ถ้าต้องเจอปัญหางูเห่าอีกจะตอบประชาชนอย่างไร นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตั้งแต่การเมืองรอบที่แล้ว ไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกลที่จะปัญหาเรื่องนี้ หลายพรรคก็เจอปัญหาคล้ายๆ กัน แม้แต่พรรคเพื่อไทย ดังนั้นเรื่องงูเห่าเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น เราไม่ต้องการเห็นคนที่ทรยศต่อประชาชน และตนคิดว่าบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เราจะพบว่าคนที่เป็นงูเห่า สอบตกทั้งหมด ถือเป็นบทเรียนแล้วว่า งูเห่าจะไม่มีทางมีพื้นที่ในสังคมไทยได้ การเป็นงูเห่าเท่ากับว่าได้ตัดอนาคตของตัวเอง และทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตทางการเมืองได้อีกแล้ว ประชาชนจะไม่มีทางไว้ใจคุณอย่างเด็ดขาด นี่คือราคาที่คนที่เป็นงูเห่าต้องจ่าย และทุกครั้งที่มีเรื่องการยุบพรรค ก็จะมีข่าวเรื่องการซื้อตัวเข้ามาอยู่แล้ว ก็เป็นธรรมชาติของข่าว ผมจึงยังฟังหูไว้หู มองบนพื้นฐานข้อเท็จจริง
    
 นายรังสิมันต์ ยังได้กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุดหากมีการยุบพรรคก้าวไกล ส.ส.ทั้ง 148 คน จะยังคงจับมือไปด้วยกันหรือไม่ ว่า ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการเตรียมรับมือทุกรูปแบบ อยากโฟกัสต่อสู้เรื่องการยุบพรรคก่อน และพยายามชี้ให้เห็นถึงองค์กรที่มีอำนาจได้เข้าใจว่าการยุบพรรคไม่ได้ช่วยอะไร การยุบพรรคไม่ได้ทำให้การเมืองดีขึ้น แต่การยุบพรรคทำให้การเมืองไทยอยู่กับที่ หล้าหลัง เรามีบทเรียนมาแล้วหลายครั้ง อยากชวนให้ทุกคนคิดไม่ใช่แค่การยุบพรรค แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเราด้วย อย่างกรณีของพรรคก้าวไกลที่มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค กกต.ควรต้องถามเราก่อน ให้สิทธิ์ในการโต้แย้ง ชี้แจง อยู่ๆ มารวบรัดตัดความไม่ขึ้น ถ้าไม่ให้กระบวนการแบบนี้กับเรา สุดท้ายสังคมไทยจะอยู่อย่างไร ท้ายที่สุดแล้ว ทำไมกรณีของพรรคก้าวไกลกับพรรคภูมิใจไทยจึงต่างกัน คนจึงมองว่าทำไมก้าวไกลถูกปองร้าย แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล แต่รวมถึงฝ่ายค้านทั้งหมด เพราะโลกจะมองว่านี่คือ กระบวนการทำลายฝ่ายค้านหรือไม่
   
  จึงอยากให้มองถึงผลดีผลเสียถึงความพยายามยุบพรรคก้าวไกล และขอยืนยันว่าสิ่งที่เราได้ทำในการเสนอกฎหมายและนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ได้ยื่นกกต.และได้รับการรับรองเป็นนโยบายของพรรค ถ้าในกฎหมายบอกว่าห้ามแก้มาตรา 112 เราก็คงไม่ทำ แต่กฎหมายไม่ได้มีเขียนแบบนี้ เราจึงพยายามใช้กลไกของสภา พรรคการเมืองไหนไม่เห็นด้วยก็ไปโหวตในสภา แต่พอใช้มาตรา 49 เรื่องของการล้มล้างการปกครอง ก็ยิ่งสร้างความไม่แน่นอนของระบบการเลือกตั้ง
    
 สำหรับกรณีคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการจัดทำกฎหมายนิรโทษกรรม จะมีเรื่องกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่ได้พูดถึงกรณีนี้ แต่กำลังหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร เพื่อวางกรอบการนิรโทษกรรม ซึ่งก็มีหลายแนวคิด เช่น การแยกกลุ่ม แยกประเภทหรือรวมกันเป็นแพ็กเกจเดียวกัน แต่สิ่งสำคัญเราต้องถามตัวเราว่าตกลงแล้ว มีกรรมาธิการฯชุดนี้ไป ทำไมถ้าในที่สุดไม่สามารถแก้นิรโทษกรรม และมีคนบางกลุ่มถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทางการเมือง ส่วนจะรวมไปถึงกรณียุบพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คงเป็นคนละกรณี เพราะไม่สามารถไปรวมถึงเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ประธาน กกต.ระบุหลักฐานสำคัญในการยื่นยุบพรรคก้าวไกลคือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยกรณีการล้มล้างการปกครอง ส่วนหนึ่งเป็นการใช้ตามมาตรา 49 แต่ไม่ได้วินิจฉัยให้ยุบหรืออะไร ซึ่งขั้นตอนที่ทำนั้นแยกส่วนกัน และ กกต.ก็ต้องรับฟังเหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วเหตุที่วินิจฉัยออกมาจะนำไปสู่เหตุการณ์ยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน เพราะถ้าเป็นกรณีเดียวกันกับการล้มล้างการปกครองแล้วต้องยุบพรรค ทำไมไม่ใส่ในมาตราเดียวกัน ทำไมไม่ใช้อำนาจหน้าที่เดียวกัน ทำไมต้องแบ่งกัน กกต.ต้องฟังแต่แรก ตนเข้าใจว่ากกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 92 แต่เหตุใดไม่การพิจารณาตามมาตรา 93 เพราะเปิดช่องจะสร้างความเป็นธรรมได้ แต่กลับไม่ทำ ใช้อำนาจกรณีของพรรคก้าวไกลไปใช้อำนาจตามมาตรา 92 ส่งผลให้กรณีของพรรคก้าวไกลเร็วกว่ากรณีร้องยุบพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังและน่ากังขามาก
    
 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม ในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล  กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติส่งคำร้องยุบพรรคก้าวไกลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจากการใช้นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หาเสียงเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งในขณะนั้น นายปดิพัทธ์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหาร(กก.บห.)พรรคก้าวไกล ซึ่งก็จะเข้าข่ายถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นเวลา 10 ปีด้วย หากศาลวินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล โดย นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะคุยเรื่องยุบพรรค วันนี้สิ่งที่ต้องตั้งหลักก็คือในหลักนิติรัฐและนิติธรรมของประเทศนี้เป็นอย่างไร ทำไมถึงมองว่าเรื่องยุบพรรคเป็นเรื่องปกติ ถ้าเอาเวลาไปทุ่มเท ก็จะเสียเวลากับการคิดว่าทำไมถึงยุบพรรค แล้วไปอยู่ที่ไหนอย่างไรมันเสียสมาธิทำงาน ดังนั้นตอนนี้เดินหน้าทำงานเต็มที่ รู้ข้อจำกัดของกฎหมาย เพราะฉะนั้นใช้เวลาเวลาที่เหลืออยู่ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวให้ดีที่สุด เท่านั้นพอแล้ว หากมีคำวินิจฉัยจริงๆ มีเดทไลน์ค่อยเตรียมตัว
  
   เมื่อถามว่า กรณีที่มีการวิเคราะห์ว่าสามารถใช้คำวินิจฉัยเมื่อครั้งที่แล้วได้เลย นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ต้องถามกลับว่าศาลที่ไม่ต้องไต่สวนคือศาลอะไร ตนคิดว่าศาลที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ถ้าย้อนไปได้มีแค่ 2 ศาลเท่านั้นก็คือศาลทหารกับศาลศาสนา ดังนั้นหากระบบศาลไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง ก็คงต้องมีการตั้งคำถาม กับระบอบความยุติธรรม การจะกล่าวหาข้อกล่าวหาที่รุนแรงขนาดนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่พิสูจน์ด้วยหลักฐาน เช่นไม่ได้ขับรถเร็วเกินอัตรา แต่บอกว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง แล้วบอกไม่ต้องมาชี้แจง นั่นผิดทันที เรื่องนี้ทั้งประชาคมโลกและสังคมไทยจะมีคำถามกับระบบยุติธรรมมากมาย