ดีเดย์ 10 โมงวันนี้ ฝ่ายค้าน ลุยยื่นญัตติ ประธานสภาฯ ซักฟอก มาตรา152 พร้อมเปิดรายชื่อ 30 สว. จองกฐินซักฟอกรัฐบาล ม.153 ปัญหา 7 ด้าน เศรษฐกิจ-ปากท้องมากที่สุด ตามด้วย ดิจิทัลวอลเล็ต-แลนด์บริดจ์-หนี้นอกระบบ แก้รธน.-กระบวนการยุติธรรมพร้อมโยงถึง ทักษิณ ด้านทวี ไม่กังวล สว.พุ่งเป้าซักฟอก ปม ทักษิณ ลั่นคนเป็น รมต.ต้องมาตรฐานเดียว ส่วน จุลพันธ์ ชี้ สส. -รมต. พบทักษิณเป็นสิทธิส่วนตัว ไม่ได้ห้าม หากไปวันหยุดราชการ ขณะที่ สมศักดิ์ ตอกกลับ เสรี แค่วาทกรรม หลังเย้ย เศรษฐา อยู่ให้ถึง 25 มี.ค.อย่าไปถือสาอนุทินลั่นทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้ว
ที่รัฐสภา วันที่ 12 มี.ค.2567 นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี การเตรียมยื่นอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า ขณะนี้ตัวร่างญัตติอยู่ที่นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยได้นัดหมายกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ในวันพรุ่งนี้ (13 มี.ค.)เวลา 10.00 น.เพื่อยื่นญัตติดังกล่าว ส่วนสัดส่วนการอภิปรายนั้นต้องรอดูว่าเราจะได้วันและเวลาอภิปรายของแต่ละฝ่ายก่อน
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะพูดเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่ปฏิบัติต่อนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ด้วยหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า มีอยู่ในหัวข้อที่วางเอาไว้ ส่วนจะเป็นเจ้าภาพหลักเองหรือไม่นั้นตนคิดว่าในแต่ละเรื่อง อาจไม่ได้มีใครเป็นเจ้าภาพโดยตรง เพียงแต่เราต้องคุยกันเพื่อไม่ให้ซ้ำกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า ในการยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไป ของสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงแนวทางปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ซึ่งการอภิปรายจะใช้เวลาทั้งหมด 15 ชั่วโมง แบ่งเป็นส.ว. 12 ชั่วโมง และรัฐบาล 3 ชั่วโมงนั้น ล่าสุดพบว่ามีส.ว. แสดงความจำนงอภิปรายฯแล้วกว่า 30 คน โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมการ(กมธ.)พัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มล่ารายชื่อส.ว.เพื่อยื่นญัตติอภิปราย จะเป็นคนแถลงต่อที่ประชุมเป็นลำดับแรก โดยใช้เวลา 45 นาทีและจะเป็นผู้แถลงสรุปเป็นคนสุดท้าย 15 นาที
สำหรับ หัวข้อในการอภิปราย 7 ประเด็นปัญหา ที่ส.ว. ได้ลงชื่อประกอบด้วย 1. ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งหัวข้อนี้มีส.ว. ลงชื่ออภิปรายมากที่สุดถึง 10 คน คือนายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธ์ นายอนุศักดิ์ คงมาลัย นายพลเดช ปิ่นประทีป พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร พล.อ.สราวุฒิ ชลออยู่ นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน น.ส.ภัทราภร วรามิตร นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ และนายสมชาย แสวงการ โดนเนื้อหาในประเด็นนี้ นอกจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง การสร้างอาชีพสร้างรายได้แก้ความยากจน ยังมีเรื่องแลนด์บริดจ์ และนโยบายเติมเงินหมื่นบาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ด้วย
2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย หัวข้อนี้มี นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ นายถวิล เปลี่ยนศรี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายอุปกิตปาจรียางกูร นายรณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล นายประพันธุ์ คูณมี และว่าที่ร้อยตรีวงศ์สยาม เพ็งพาณิชภักดี แสดงความจำนงอภิปราย ซึ่งหัวข้อนี้นอกจากเรื่องกระบวนการยุติธรรมและบังคับใช้กฎหมาย ที่น่าจะเป็นหัวข้อที่อภิปรายเชื่อมโยงไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นยังมีเรื่องปัญหาการปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน รวมไปถึงกรณีเปลี่ยนที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดด้วย
3.ปัญหาด้านพลังงานมี พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ และนายคำนูณ สิทธิสมาน ลงชื่ออภิปราย โดยเน้นประเด็นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทยระหว่างไทยกับกัมพูชา 4.ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม มีนายวันชัย สอนศิริ นายออน กาจกระโทก นายเฉลา พวงมาลัย นางนิสดารก์ เวชยานนท์ พล.อ.อ.เฉลิมชัย เครืองาม นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ นายจัตุรงค์ เสริมสุข ลงชื่ออภิปราย มีเนื้อหาเน้นการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ยาเสพติด และหนี้นอกระบบ
5.ปัญหาด้านการต่างประเทศและท่องเที่ยว มีนายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ ลงชื่ออภิปราย มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการวางตัวเป็นกลางและการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ 6.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ลงชื่ออภิปราย และ7.ปัญหาการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ มีผู้ลงชื่ออภิปรายคือ นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านพุ่งเป้าเป็นรัฐ มนตรีอันดับหนึ่ง ของการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 ของวุฒิสภา ในประเด็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯโดยยืนยันว่า ไม่ได้กังวลแต่อย่างใดและคิดว่า ไม่มีปัญหา เพราะในรัฐธรรมนูญ กำหนดหน้าที่ของรัฐมนตรีต้องสร้างความปรองดองให้กับคนในประเทศด้วย
ยืนยันว่าคงต้องชี้แจง และถือเป็นโอกาสดีที่ได้ชี้แจง ในส่วนของคนที่เป็นรัฐมนตรีจะต้องมีมาตรฐานเดียว ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า รัฐต้องปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องดูไปถึงเจตนารมย์และต้องดูหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติ
ส่วน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย(พท.)ในฐานะรมช.คลัง ให้สัมภาษณ์จะมีสส.ไปพบกับนายทักษิณ ที่จะเดินทางไปจ.เชียงใหม่หรือไม่ว่า ไม่ทราบ เพราะตนเดินทางไปกับคณะนายกฯในช่วงเย็นวันที่ 15 มี.ค.แต่ไม่ได้มีนัดหมายกับนายทักษิณ แต่ถ้าได้พบก็ดี
เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับก๊วนส.ส.หรือไม่ว่า จะไปพบกับนายทักษิณ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า คิดว่าคนที่อยากพบท่านมีเยอะ เป็นสิทธิของแต่ละคน อย่างไรก็ตามประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฏร(วิปรัฐบาล) ได้แจ้งแล้วในวันประชุมสภา หรือแม้แต่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องเข้าร่วมประชุมสภา คงไม่มีโอกาสได้พบนายทักษิณ แต่หากเป็นวันหยุดราชการ ถ้าสมาชิกท่านใดอยากไปพบก็เป็นสิทธิไม่ได้ห้าม
เมื่อถามถึงกรณีที่ประธานวิปรัฐบาลสั่งห้ามไม่ให้สส.ไปพบกับนายทักษิณ นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีคำสั่งห้าม เพราะเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน ความเป็นส.ส. สิ่งสำคัญที่สุดคือสภาฯ
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จาก ส.ว.ว่าการเดินทางไปต่างประเทศของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและ รมว.คลัง ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอันกลับมา ขณะที่ผลงานในประเทศก็ไม่เห็นเช่นกันว่า ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งใช่หรือไม่ที่เป็นผู้ตั้งประเด็นคำถามนี้ ตนคิดว่าเป็นการมองไม่รอบด้าน ซึ่งเราไม่ได้แก้ปัญหาอย่างง่ายๆ ต้องใช้ความพยายามในการจัดการ โดยวันแรกที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เรามีผลงานทันที คือลดราคาพลังงาน เช่นค่าไฟฟ้า พักหนี้เกษตรกร
นพ.พรหมินทร์ กล่าวว่า จากนั้นก็มีผลงานอื่นๆตามมา เช่นการพัฒนาการให้บริการสาธารณสุข บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ การแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตร ที่ปรับขึ้นเฉลี่ย 40% คงไม่ฟลุค รวมถึงราคายางที่ขึ้นไป 80 บาท จาก 50 บาท เหล่านี้เกิดจากการบริหารจัดการ ราคาข้าวดีขึ้น ส่วนเรื่องต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้สำพันธ์กัน ถ้ามองแคบๆมองเป็นจุดๆ คอยแต่หาจุดผิด แต่ถ้ามองกลับกัน รัฐบาลมองแบบยุทธศาสตร์ การที่นายกฯไปเปิดประเทศให้คนรู้จัด ให้เขาเข้ามาติดต่อค้าขายกันมากขึ้น ทำให้เกิดความมั่นใจขึ้นถือเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจ และอย่าลืมวันนี้งบประมาณยังไม่ผ่านสภาฯ ที่ผ่านมาเราใช้วิธีบริหารจัดการเป็นหลักสามารถเพิ่มโอกาสได้มากมาย
นพ.พรหมินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ต้องใช้สำหรับการปรับโครงสร้างสำคัญที่ยังติดกรอบในเรื่องกฎหมายต่างๆ ถือเป็นข้อจำกัดที่เราพยายามฝ่าและดำเนินการอย่างเต็มที่ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ถามว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความพยายามหรอกหรือ และไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปต่างประเทศของนายกฯหรือ
วิธีการคิด นักวิจารณ์หลายคนบอกว่าไปภาคใต้เกาไม่ถูกจุด ไม่ถึงรากฐานของปัญหา ก็เพราะแก้แบบเดิมๆมาเกือบ 20 ปี ตอนนี้เราแก้แบบเดิมบวกวิธีใหม่เพิ่มเรื่องเศรษฐกิจ เห็นหรือไม่ผ้าขาวม้าที่นายกฯใช้เป็นผ้าพันคอไปปรากฎอยู่ต่างประเทศได้ ไม่ใช่ของใหม่ คงจำภาพผ้าพันคอยี่ห้อจากอาหรับที่ตีตรายี่ห้อหลุยส์วิตตองปรากฎตามห้าง ถือเป็นตัวอย่างเล็กน้อยที่ปรากฎผล
นพ.พรหมินทร์ กล่าวอีกว่า ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว คือการลงทุน นักลุงทุนต่างๆจะเข้ามา ตอนนี้เราแก้กฎระเบียบให้เกิดความสะดวกเกิดความมั่นใจหลังจากนี้ก็จะเข้ามาชัดเจน รวมถึงการสร้างอีเว้นสำคัญในประเทศ เช่นง่ายที่สุดเอานักแสดงระดับโลกเข้ามา
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มองการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ขอให้อยู่ถึงวันที่ 25 มี.ค. เพื่อให้ทันการซักฟอก ถือว่ามีนัยทางการเมืองอะไรหรือไม่ ว่า ถ้าพูดตรงนี้ส่วนตัวถือว่านายกฯผ่านและชนะแล้ว แค่วันที่ 25 มี.ค.เป็นเรื่องของวาทกรรมที่พูดเพื่อให้น่าสนใจก็ว่ากันไปอย่าไปถือสา เพราะการที่จะมีการอภิรายแบบไม่ลงมติของ ส.ว. หรือพูดอะไรก็จะต้องมีการนำเสนอให้น่าสนใจ เป็นไปไม่ได้อย่างที่กล่าวกันมา เพราะวันที่ 25 มี.ค. ก็จะถึงอยู่แล้ว อีกทั้งนายเสรีไม่ได้เป็นหมอดูด้วย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เตรียมเปิดอภิปรายเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 153 ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ขอให้นายกรัฐมนตรี อยู่ถึงวันประชุมคือวันที่ 25 มี.ค.นี้ ว่า ทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้วว่าวันที่ 25 มี.ค. รัฐบาลต้องไปฟังสว. ดังนั้น วันที่ 22-24 มี.ค. รัฐบาลจึงต้องเร่งพิจาณาร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ให้จบ เพื่อที่วันที่ 25 มี.ค.จะได้ไปฟังการอภิปรายของสว.