สถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาหลายประเทศทั่วโลกเริ่มตื่นตัวและพยายามให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยตั้งเป้าหมายที่จะมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับประเทศไทยได้มีเป้าหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) หรืออีก 26 ปีข้างหน้า และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประกาศกำหนดนโยบายและเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035)

ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน นับว่ามีบทบาทสำคัญหนึ่งที่จะสนับสนุนเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของโลกและประเทศไทย ทั้งในส่วนของการที่ต้นไม้ช่วยดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ และต้นไม้ยังเป็นแหล่งเก็บกักคาร์บอน (carbon sink) ไว้ในรูปของเนื้อไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ดังนั้น การส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมไม้จากไม้ที่ปลูกภายใต้การกำหนดกลยุทธ์ แนวทางและมาตรการเชิงรุกที่เหมาะสม จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ การปลูกไม้แล้วตัดไปใช้ประโยชน์แล้วปลูกขึ้นมาใหม่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ที่ปลูกขึ้นมาใหม่ที่อยู่ในช่วงการเติบโตและสร้างเนื้อไม้ได้ดีกว่าไม้อายุมากที่แก่เต็มที่แล้ว การส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมจากไม้ปลูกยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกไม้ ภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมไม้อีกด้วย

ในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 62 สาขาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคณะวนศาสตร์ และ คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์การเรียนรู้ไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร จึงได้จัดให้มีการเสวนาพิเศษ “พลิกโฉมการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมไม้...สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” วันที่ 7 มีนาคม 2567  เวลา ณ ห้องประชุมจงรักปรีชานนท์ ชั้น 2 อาคารวนศาสตร์ 72 ปี คณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เพื่อนำเสนอมุมมองการใช้ประโยชน์ผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมไม้เพื่อช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจกและขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน นอกจากนี้ เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์จากไม้ที่เพิ่มขึ้นนอกจากจะมีการกักเก็บคาร์บอนในเนื้อไม้แล้ว ยังมีส่วนช่วยให้มีการเพิ่มขึ้นของการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งก็จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจก การเสวนาครั้งนี้มีวิทยากรร่วมเสวนา ได้แก่ รศ.ทรงกลด จารุสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ คณะวนศาสตร์ นายประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ผศ. ดร.รังสรรค์ วงศ์จีรภัทร รองหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ดร.ศุภพงศ์  สอนสังข์  กรรมการผู้จัดการบริษัท เจิดดีไซน์แกลเลอรี่ จำกัด และ นายณัฐณรงค์ เอี่ยมมี บริษัท ทรีเทคโนโลยี จำกัด โดยมี รศ.ดร.สาพิศ ดิลกสัมพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ผู้สนใจ สามารถเข้าร่วมฟังการเสวนาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือรับฟังทางออนไลน์ ผ่านทาง NontriLive ที่ https://live.ku.ac.th   และผ่านระบบ Cisco Webex ติดตามข้อมูลการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 62  ได้ที่ https://annualconference.ku.ac.th/62/