“ปดิพัทธ”แจงยิบปัดบุกทำเนียบ ยันประสานคนมารับแต่ไม่เป็นไปตามนั้น ”ครูมานิตย์” สอนไม่เหมาะเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายนิติบัญญัติบุกฝ่ายบริหาร ถูกสส.ก้าวไกลประท้วงวุ่น
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.67 เวลา 15.53 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)คุ้มครองแรงงาน นั้น นายปดิพัทธ์สันติภราดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้ชี้แจงพร้อมเอกสารประกอบ กรณีที่นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ตำหนิการทำหน้าที่รองประธานฯ บุกไปทำเทียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทวงถามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ว่า ไม่ได้เป็นการบุก ท่านใดที่คิดว่าตนบุกทำเนียบฯ ซึ่งบุกเป็นคำพูดที่สื่อมวลชนใช้เอง แต่ตนทำเรื่องขอเข้าพบ โดยหนังสือฉบับแรกที่ตนขออนุญาตถามรายละเอียด พ.ร.บ.การเงิน เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. เพราะตนอยากทราบว่าเริ่มต้นปีใหม่ สภาฯจะพิจารณากฎหมายได้กี่ฉบับ เป็นร่างรัฐบาลกี่ฉบับ ร่างการเงินกี่ฉบับ ไม่เป็นการเงินกี่ฉบับ โดยสอบถามสถานะของกฎหมายทั้งหมด เพราะรอหน่วยงานในการให้ความเห็น ตนไม่ทราบรายละเอียดว่าหน่วยงานไหนให้แล้ว หน่วยงานไหนยังไม่ให้ จึงได้สอบถามไปทั้งหมด 35 ร่าง
นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า วันที่ 26 ม.ค.มีหนังสือจากเลขาธิการนายกฯ ตอบ กว้างๆว่า กำลังรอความเห็นจากหน่วยงานอยู่ และวันที่ 31 ม.ค.ทางเลขาธิการสภาฯ จึงทำหนังสือไปอีกรอบเพื่อสอบถามในรายละเอียดว่าตกลงแล้วคำว่ารอความคิดเห็นของหน่วยงานนั้นเป็นไปตามที่ตนต้องการรายละเอียดหรือไม่ ถัดมาวันที่ 7 ก.พ.ตนทำหนังสือขอเข้าไปดูขั้นตอน เพราะตนคิดว่าสำหนักเลขาธิการทั้งสองสำหรับ มีโอกาสต้องประสานงาน จึงอยากทราบว่ากระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานนั้นเป็นอย่างไร แล้วเราจะมีตัวชี้วัด มีกรอบเวลาให้กับหน่วยงานต่างๆอย่างไรบ้าง และมีหนังสือตอบกลับวันที่ 14 ก.พ. ซึ่งยังไม่ให้รายละเอียดเหมือนเดิม ให้เพียงกรอบกว้างๆ ว่ากฎหมายการเงินพิจารณาอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ตนถาม เพราะคำตอบที่ตนถามคือค้างอยู่ที่หน่วยงานใด จำนวนเท่าไหร่ และมีกรอบเวลาในการติดตามอย่างไรบ้าง
นายปดิพัทธ์กล่าวอีกว่า วันที่้ 21 ก.พ.ตนจึงทำหนังสืออีกรอบ ว่าตนจำเป็นต้องเข้าพบเลขาธิการสำนักนายกฯ เพื่อจะจัดการปัญหาเรื่องนี้ให้โปร่งใสให้ได้ เพราะตนผลักดันในเรื่องสภาโปร่งใส เมื่อเราโปร่งใสในฝั่งสภาฯแล้ว เราก็อยากจะเห็นความโปร่งใสของฝั่งบริหารด้วย และวันที่ 29 ก.พ. เป็นวันที่มีหนังสือส่งกลับมา ใจความคือ ไม่ต้องไป เดี๋ยวเขาจะมาชี้แจงเอง ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตนจำเป็นต้องปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก เพราะร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดเป็นกฎหมายของทุกพรรคการเมือง มีทั้งของพรรคก้าวไกล เพื่อไทย ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และประชาชาติ
“ผมจึงตัดสินใจเดินทางไปทำเนียบฯ ตอนไปถึงทำเนียบฯผมให้เลขาฯกับตำรวจไปประสานงานก่อนในช่วงเช้าว่าผมมาตามคำยืนยัน แต่ปรากฎว่ามีตอบแชทไลน์ ตำรวจรับทราบแล้วว่าจำมีคนมาต้อนรับผม ชื่ออะไรบ้าง ตำแหน่งใดบ้าง แต่เมื่อผมไปถึงสถานที่จริงก็ไม่ได้รับการปฏิบัติแบบที่ประสานไว้ เพราะฉะนั้นภาพอาจจะดูทุกลักทุเลไม่สักนิด แต่ผมยืนยันว่าเป็นการเข้าพบโดยกระบวนการที่ถูกต้องและประสานงานล้วงหน้า ไม่ได้เป็นการบุก ไม่ได้เข้าไปก้าวล้วงหรือก้าวล้ำเข้าไปในการตัดสินใจของนายกฯ นี่คือข้อเท็จจริง”นายปดิพัทธ์ กล่าว
จากนั้นนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า ที่ผ่านมาตนไม่เคยก้าวล่วงท่านเลยแม้แต่เรื่องเดียว ไม่ว่าจะเรื่องเชียร์เบียร์ หมูกระทะ หรือการไปประเทศสิงคโปร์ แต่การไปทำเนียบฯของท่านเป็นหน้าที่ตามข้อบังคับข้อไหน เพราะหน้าที่ของประธานตามข้อบังคับหมวด 2 ข้อ 9 ระบุชัดเจน และฐานันดรท่านเป็นทั้งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ สส.และตามข้อ 10 มีหน้าที่ช่วยประธานสภาฯ หรือปฏิบัติตามที่ประธานสภาฯ มอบหมาย ซึ่งถามว่าประธานสภาฯ มอบหมายท่านหรือไม่ และเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีรถตำรวจนำ เปิดไฟโร่ไปบนถนนเพื่อไปทำเนียบฯ ซึ่งตนอยากทราบเจตนาของท่าน
นายครูมานิตย์ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 133 ที่เกี่ยวกับกฎหมายการเงินการคลัง นั้น เอาจริงๆ ต่อให้ไม่ใช่กฎหมายการเงิน การคลัง ผู้ที่บังคับใช้คือคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผู้รับผิดชอบในการเสนอกฎหมายและรับสนองพระบรมราชโองการเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาก็คือนายกฯ ทั้งนี้กฎหมายบางฉบับอย่างเช่นเรื่องเงินนอกงบประมาณของพรรคก้าวไกล ที่ให้ดูเรื่องเงินนอกงบประมาณซึ่งเกี่ยวข้องกับ 20 กระทรวง ตนก็เห็นด้วย แต่จะให้ทำออกมาเป็น พ.ร.บ.ทันทีทันใดเลยก็ไม่ได้
ทั้งนี้นายปดิพัทธ์ ได้เบรกนายครูมานิตย์ว่าอภิปรายพอสมควรแล้ว ทำให้นายครูมานิตย์ กล่าวว่า ยังพูดไม่จบ ขอให้ตนได้พูดเพราะตนไม่ได้เกเรกับท่านประธาน ทำให้ สส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ซึ่งนายปดิพัทธ์ได้กล่าวตอบว่าอย่าประท้วงเลย ด้านนายครูมานิตย์ กล่าวต่อทันทีว่า “อย่าประท้วงเลย ไม่มีประโยชน์หรอกน้อง เอาความจริงมาพูด นั่งเถอะไอ้หนู” จากนั้นนายครูมานิตย์อภิปรายต่อสักพัก ทำให้ สส.พรรคก้าวไกลลุกขึ้นประท้วงประธาน ขอให้ควบคุมการอภิปราย เพราะยังมีสมาชิกรออภิปรายร่าง พ.ร.บาง.คุ้มครองแรงงานอีกจำนวนมาก
จากนั้นนายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงประธานขอให้ควบคุมการประชุม เพราะตอนนี้มีสมาชิกอีกหลายคนรออภิปรายอยู่ และทางนายครูมานิตย์ก็พูดไปพอสมควรแล้ว เรื่องพาดพิงตนคงไม่อะไร แต่จริงๆ เมื่อสักครู่นายครูมานิตย์ได้พาดพิงหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยแล้วขึ้นไอ้เลย จึงอยากให้ถอนเพราะเป็นการไม่สมควร
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ตนขอชี้แจงเลย เพราะใช้เวลาพอสมควร เรื่องแรกไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาฯ หรือไม่
ขณะที่นายปดิพัทธ์กำลังจะชี้แจงต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ได้ประท้วงขึ้นว่า ตนมีข้อสังเกตในเรื่องที่นายปดิพัทธ์ได้ไปตามเรื่องกฏหมายทางการเงิน ต้องเรียนว่าทำไมกฏหมายจึงกำหนดให้นายกฯ เป็นผู้พิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการเงิน เพราะหลายครั้งที่เราไปออกกฎหมายจนกระทั่งงบประมาณที่มีอยู่กลายเป็นรายได้ของหน่วยงานนั้น วันนี้เม็ดเงินนอกงบประมาณมีมากกว่างบประมาณ 5.9 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเราแยกหน้าที่กัน และเราเคารพการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร เราไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ท่านตัดสินใจอย่างไรเป็นเรื่องของท่าน แต่อะไรที่กำหนดเป็นหน้าที่ของนายกฯ เราอย่าไปยุ่ง ตนก็เคยเป็นฝ่ายบริหารแต่ก็ไม่เคยทำเช่นนี้ การไปถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับกฎหมายอะไร ขอให้เป็นหน้าที่ของนายกฯ เราเสนอกฎหมายไปก็จริง แต่ขอให้เป็นนายกฯ เป็นคนตัดสินใจ ขอให้ท่านหยุดอยู่แค่นี้
ด้านนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงว่า ตอนนี้เรากำลังอภิปรายร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอยู่ และตอนนี้มีผู้อภิปรายเยอะมาก คิดว่าเราควรกลับเข้าสู่การอภิปราย
นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า เมื่อเช้าตนถูกไล่ให้ไปลาออกเลย เรื่องนี้สำคัญ ฉะนั้นตนต้องชี้แจง ใช้เวลาชี้แจงไม่นานแน่นอน
ทำให้นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงว่า เมื่อช่วงเช้าประธานในที่ประชุมได้วินิจฉัยว่าขอให้พูดอย่างจำกัด และนายครูมานิตย์ก็สงวนไว้ว่าจะพูดหากนายปดิพัทธ์ขึ้น ซึ่งตนไม่ได้ติดใจ แต่ตอนนี้นายปดิพัทธ์ขึ้นแล้วหากจะอนุญาตก็ขอให้อนุญาตเฉพาะคนที่ขอไว้เมื่อช่วงเช้า จึงขอให้นายปดิพัทธ์พอได้แล้ว และช่วงเช้าที่ผ่านมานายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ปิดให้ลงชื่อตอน 13.00 น. แล้วนายวรวัจน์มาลงชื่อตอนไหน จึงขอให้นายปดิพัทธ์วินิจฉัยได้แล้ว และขออย่าให้ใครมาบอกว่าอยู่มานาน คนอื่นที่อยู่ใหม่ๆ ไม่มีสิทธิ์จะพูด แบบนี้ไม่ถูกต้อง
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงว่า นายครูมานิตย์พูดถึงสส.หลายสมัย แต่ใช้คำว่าไอ้หนูกับเพื่อนสส.ในห้องประชุมนี้ได้อย่างไร ตนรู้จักกับนายครูมานิตย์มานาน แต่การใช้คำว่าไอ้หนูแบบนี้เป็นการไม่เคารพกัน สส.จะ 1 สมัย 5 สมัย 10 สมัยก็เท่ากัน นายครูมานิตย์จะมาใช้คำพูดหยาบคายเพื่อด้อยค่าเรื่องคุณวุฒิเช่นนี้ไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ประธานต้องวินิจฉัยและให้นายครูมานิตย์ถอนคำพูด
ทำให้นายปดิพัทธ์วินิจฉัยว่า เรื่องนี้ตนเข้าใจเพราะช่วงเช้าตนไม่ได้มาฟังด้วยตนเอง จึงขอฟังจากนายครูมานิตย์และนายวรวัจน์ให้ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนเรื่องการใช้คำพูดไม่สุภาพว่าไอ้หนูนั้น ขอให้นายครูมานิตย์ถอนคำพูดด้วย ซึ่างนายครูมานิตย์ก็ยินดีถอน และกล่าวว่า ต้องกราบขออภัยนายรังสิมันต์และคณะด้วย
นายปดิพัทธ์ ได้ชี้แจงอีกครั้ง ย้ำว่าไม่ได้เป็นการบุกทำเนียบและไม่ได้เป็นการกดดันให้นายกฯ เซ็นหรือไม่เซ็น แต่เป็นการติดตามความคืบหน้าของหน่วยงานที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการตรากฏหมาย ส่วนที่ถามว่าตนได้รับมอบหมายจากนายวันมูหะมัดนอร์หรือไม่นั้น ประธานสภาฯ มอบหมายให้ตนดูแลกิจการของสภาฯ ในเรื่องการตราและบรรจุกฎหมาย ฉะนั้น ตนทำตามข้อบังคับข้อที่ 9(2) กำกับดูแลการดำเนินงานของสภาฯ ท่านอาจจะไม่เห็นด้วยกับตนแต่ขอยืนยันว่าตนทำตามข้อบังคับ และเจตนาที่จะให้กฎหมายของทุกคนได้พิจารณาเท่าเทียมกัน
จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานตามเดินต่อไป