นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมแผนการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยรองรับการเดินทางของประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ได้สั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมทุกด้าน โดยมีเป้าหมายให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ เนื่องด้วยมีประชาชนจำนวนมาก ที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลและใช้บริการขนส่งสาธารณะ ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 รวม 7 วัน พร้อมทั้งให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนแผนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เพื่อให้ประชาชนเดินทางถึงที่หมายได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยเตรียมความพร้อม กำกับดูแลการให้บริการ มาตรฐานความปลอดภัย และแจ้งข้อมูลข่าวสารประชาชนล่วงหน้าเพื่อให้ใช้ในการวางแผนการเดินทาง โดยมีหัวข้อการรณรงค์คือ “เดินทางทั่วไทย คมนาคม สะดวก ปลอดภัย ใส่ใจให้บริการประชาชน” พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรองรับและอำนวยความสะดวกต่อประชาชน โดยเบื้องต้นให้ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียม เป็นเวลา 7 วัน (วันที่ 11 - 17 เมษายน 2567) สำหรับมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ หมายเลข 7 (กรุงเทพมหานคร - เมืองพัทยา) และหมายเลข 9 (สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ถนนกาญจนาภิเษก ตอนบางปะอิน - บางพลี และตอนพระประแดง - บางแค ช่วงพระประแดง - ต่างระดับบางขุนเทียน) และทางพิเศษ 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษบูรพาวิถี และกาญจนาภิเษก รวมถึงทางพิเศษ 3 เส้นทาง ได้แก่ ทางพิเศษศรีรัช อุดรรัถยา และเฉลิมมหานคร ยกเว้นค่าธรรมเนียมเป็นเวลา 3 วัน (วันที่ 13 - 15 เมษายน 2567) ส่วนอีก 2 เส้นทางที่เหลือนั้นขณะนี้เตรียมนำเข้า ครม. เพื่อพิจารณา เปิดให้ประชาชนได้ใช้ฟรีในช่วงเทศกาลต่อไป
นอกจากนั้นยังเปิดให้ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 6 ช่วงปากช่อง - เลี่ยงเมืองนครราชสีมา 4 ช่องจราจร (ไป - กลับ) ระยะทาง 77 กิโลเมตร และเปิดใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์หมายเลข 81 ช่วงด่านนครปฐม ฝั่งตะวันตก - ด่านกาญจนบุรี ระยะทาง 50 กิโลเมตร รวมถึงบริการที่จอดรถฟรี ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริเวณลานจอดรถยนต์ระยะยาว โซน C ตั้งแต่วันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 โดยการประชุมครั้งนี้ยังได้ให้นโยบายเพิ่มเติม ได้แก่ 1) มอบให้กรมทางหลวงบริหารจัดการการจราจรบนถนนพระราม 2 โดยเฉพาะจุดที่เป็นคอขวด หรือจุดที่มีการจราจรติดขัดและชะลอตัว เพื่อให้การจราจร มีความคล่องตัว รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการรถบรรทุกไม่นำรถบรรทุกวิ่งในวันที่คาดว่าจะมีการเดินทางของประชาชนเป็นจำนวนมาก 2) มอบให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย กำชับสายการบินเพื่อมิให้เที่ยวบินล่าช้า รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารรับทราบสิทธิ์ของผู้โดยสารในกรณีสายการบินเลื่อนหรือยกเลิกเที่ยวบิน และ 3) มอบให้กรมเจ้าท่าตรวจสอบความปลอดภัยของท่าเรือทุกแห่งเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน และมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอเส้นสายรองเพื่อเป็นทางเลือกรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาล
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ในช่วง 7 วันของเทศกาลสงกรานต์นั้น คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะรวม 15.45 ล้านคน-เที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2566 โดยการเดินทางในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะ การเดินทางระหว่างจังหวัดเป็นรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ และเครื่องบิน ตามลำดับ สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศเป็นการเดินทางโดยเครื่องบิน ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงสั่งการให้จัดเตรียมระบบขนส่งสาธารณะทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีรถโดยสาร สถานีรถไฟ ท่าเรือ และท่าอากาศยาน เพื่อให้บริการแก่พี่น้องประชาชนอย่างเพียงพอ เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความสะดวกและปลอดภัยมากที่สุด พร้อมคาดปริมาณจราจรขาเข้าและออกกรุงเทพมหานครบนทางหลวงสายหลัก 5 เส้นทางในสายเหนือ อีสาน ตะวันออก ตะวันตก และใต้ รวม 4.39 ล้านคัน จึงแนะนำให้ประชาชนวางแผนการเดินทางล่วงหน้า เลี่ยงการเดินทางช่วงที่คาดว่าจะมีปริมาณการเดินทางสูงช่วงขาออกและขาเข้าในวันที่ 11 และวันที่ 15 เมษายน 2567 สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะขอให้วางแผนการเดินทางโดยสามารถจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทางและแจ้งอุบัติเหตุได้ที่ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม สายด่วน 1356 และ Application สายด่วน และ Website ของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มว่า ส่วนด้านความปลอดยภัย สั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้าตรวจสอบ ปรับปรุง และจัดอุปกรณ์ความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อน และรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ และขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย รักษาวินัยจราจร รวมถึงระมัดระวังเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเน้นการลดพฤติกรรมเสี่ยง “ไม่ขับเร็ว - คาดเข็มขัดนิรภัย - สวมหมวกนิรภัย - ดื่มไม่ขับ - รักษาวินัยจราจร - ง่วงไม่ขับ - ไม่ขับย้อนศร” รวมถึงการสวมเสื้อชูชีพทุกครั้งที่สัญจรทางน้ำ และเพิ่มความระมัดระวังเมื่อเดินทางผ่านจุดเสี่ยง เช่น บริเวณจุดตัดรถไฟ/ทางลักผ่าน เขตทางรถไฟ เป็นต้น
นอกจากนั้นต้องมีการกำกับดูแลและบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด อาทิ ตรวจความพร้อมและมาตรฐานความปลอดภัยของพนักงานขับขี่ ยานพาหนะ และสถานีขนส่งสาธารณะทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ การนำเทคโนโลยี เช่น กล้อง CCTV ระบบ GPS กำกับดูแลความปลอดภัยทางถนน นำระบบ AIS/VMS กำกับดูแลความปลอดภัยทางน้ำ อีกทั้งยังได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางในระดับท้องถิ่น อาทิ การรณรงค์ให้ชุมชนในพื้นที่ดูแลซึ่งกันและกัน การให้สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ และห้ามปรามป้องกันไม่ให้ประชาชนที่เมาสุราออกจากบ้านมาขับขี่รถจักรยานยนต์ และมอบหมายเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นประสานงานกับเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังบริเวณจุดตัดทางรถไฟกับถนนและทางลักผ่าน รวมทั้งมอบหมายเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลถนนบริเวณจุดเสี่ยง (Black Spot) เช่น จุดกลับรถ ทางแยก ทางข้าม ทางโค้ง/ทางลาดชัน พื้นที่ก่อสร้าง (Work Zone) และบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง อาทิ ไฟฟ้าแสงสว่าง ป้ายเตือน และติดตั้ง/ซ่อมแซมอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยตลอดเวลา รวมทั้งการตั้งจุดตรวจ (Check Point) และประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่รถจักรยานยนต์โดยเฉพาะการสวมหมวกนิรภัย ดื่มไม่ขับ ไม่ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน และได้เตรียมมาตรการซอฟต์พาวเวอร์ด้านความปลอดภัยในการเดินทาง โดยมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง และเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ หรือการนำซอฟต์พาวเวอร์ที่น่าสนใจมาปรับใช้ รวมทั้งสื่อสังคมออนไลน์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเฝ้าระวังถึงความปลอดภัยในการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้การมอบหมายและกำหนดแนวทางให้กับทุกหน่วยทั้งหมดในครั้งนี้ จะมีการประชุมอีกครั้งช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 เพื่อสรุปแผนงานทั้งหมดอีกครั้งให้ชัดเจน หากมีความคืบหน้าจะมีการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันต่อไป
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เสริมต่อว่า การเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ต้องการให้ทุกหน่วยงานถอดบทเรียนเดิมเพื่อนำมาใช้ให้มีประสิทธิภาพเชิงบวกสูงสุด พร้อมให้ทาง สนข.เสนอเส้นสายรองเพื่อเป็นทางเลือกรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลนอกเหนือจากการเสนอเพียงเส้นทางสายหลัก เพื่อระบายการจราจรของเส้นทางหลัก รวมถึงการตั้งด่านตรวจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในช่วงเทศกาลบางจุดอาจเป็นจุดเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ขอให้พิจารณากำหนดจุดตั้งด่านในบริเวณที่มีความเหมาะสมและปลอดภัย และให้กระจายบุคลากรตามจุดอย่างเหมาะสม