ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกระแสดรามาในโลกโซเชียลเรื่อง ‘#แบนเที่ยวเกาหลีใต้’ เป็นระยะ ๆ จากเสียงสะท้อนของนักท่องเที่ยวไทยที่ไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เกาหลีใต้ จนทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ และกล่าวโทษว่าเป็นผลพวงมาจากแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในแดนโสมหรือ ‘ผีน้อย’ นั่นเอง
แม้การเดินทางไปแสวงหาโชค หาโอกาสใหม่ที่ดีกว่า หรือต้องการหนีจากความยากจนของผีน้อย มักถูกเดิมพันกับความเสี่ยงจากการได้งานไม่ตรงปก ถูกนายจ้างโกงค่าแรง หรือถูกทำรายร่างกายจนอาจถึงขั้นเสียชีวิต แต่ข้อมูลล่าสุดจากกรมการจัดการงาน กระทรวงแรงงาน พบว่ามีแรงงานไทยในเกาหลีใต้ไปทำงานอย่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงหลังการแพร่ระบาดของโควิด -19 ปัจจุบันมีแรงงานอยู่ราว 1.5 แสนคน โดย 2 ใน 3 เป็นผีน้อยไทยที่เข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมาย แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ “ผีน้อยยังมีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ในเกาหลีใต้” (อ้างอิงจากข้อมูลของ สำนักข่าว KBS ของเกาหลีใต้ และ www.impeternews.com)
ข้อมูลจากการพูดคุยกับผีน้อย พบว่าการเดินทางผ่าน ตม.เกาหลีใต้ไม่ยากอย่างที่คิด และไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัวว่าต้องทำตัวแบบไหนถึงจะรอดหรือถูกจับส่งกลับไทย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ตม.ที่จะจับสังเกต ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเหยื่อ ถูกจับส่งกลับไทยโดยไม่มีคำอธิบาย แต่ช่วงไหนขาดแคลนแรงงาน มาตรการต่าง ๆ เหมือนถูกปิดตาไปข้างหนึ่ง ส่งผลกระทบกับบริษัททัวร์โดยตรง เนื่องจากการเดินทางไปเกาหลีใต้ต้องได้รับอนุมัติ K-ETA หรือ Korea Electronic Travel Authorization ระบบอนุมัติการเดินทางออนไลน์สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าประเทศเกาหลีใต้โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพื่อวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยว การเข้าร่วมกิจกรรม ประชุม เป็นต้น (ยกเว้นทางพาณิชย์) โดยใบอนุญาตเที่ยวเกาหลีใต้ใน 3 ปีเข้าออกกี่ครั้งก็ได้ แต่ละครั้งอยู่ได้ 90 วัน กลายเป็นช่องโหว่ที่ผีน้อยเข้าไปทำงานผิดกฎหมาย เพราะหากยังไม่ครบ 90 วัน แม้จะหนีทัวร์แต่นำตำรวจไปจับไม่ได้ ตม.ก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าเอเจนซี่มีประวัติคนหายจากทัวร์บ่อย จะถูกขึ้นแบล็คลิสต์ และกระทบกับรายได้ของทัวร์ เพราะค่าใช้จ่ายที่จ่ายเต็มไปแล้วไม่สามารถเรียกคืนได้
“ทั้งผีน้อยและ ตม. ต่างก็พัฒนาเทคนิคของตัวเอง ส่วนตัวคิดว่า K-ETA เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดจุด เพราะมีคนที่ผ่านแล้วไปโดด แต่คนที่จะไปเที่ยวจริง ๆ ไม่ผ่าน จึงอยากให้มีความละเอียดมากขึ้น เช่น มีประวัติการเดินทาง การทำงาน ส่วนใหญ่กรอกเป็นข้อมูลทั่วไปมากกว่า ล่าสุดสถานทูตได้เรียกประชุม นักท่องเที่ยวที่ผ่าน K-ETA มีจำนวนลดลง แต่คนที่โดดไปทำงานเทียบกับก่อนที่จะมี K-ETA ไม่ได้ลดลง จึงเสนอผ่านสถานทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทยไปว่าเป็นการแก้ปัญหาผิดจุดหรือไม่ ควรให้คนที่จะไปเที่ยวจริง ๆ ได้เที่ยว และคัดกรองผีน้อยให้ได้จริง ๆ” ปัทมา รักษาเกียรติ ผู้จัดการทั่วไป Korea Thailand Communication Center (KTCC) หนึ่งในเอเจนซี่ทัวร์ที่ได้รับผลกระทบกล่าว
ท่ามกลางสถานการณ์ผีน้อยไทยในเกาหลีใต้ที่จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการมีอิสระในการทำงาน ค่าตอบแทนที่สูงกว่า สามารถย้ายงานได้ตามต้องการ ไม่ต้องผูกติดกับนายจ้างที่มีสิทธิชี้เป็นชี้ตายชีวิต
นายดนย์ ทาเจริญศักดิ์ ผู้จัดการโครงการมูลนิธิศักยภาพชุมชน สะท้อนถึงต้นตอของปัญหาที่มีมานานกว่านั้น ว่าที่ผ่านมาเกาหลีใต้เน้นสร้างคนลักษณะเดียว คือคนที่เป็นผู้บริหารหรือคนระดับสูงของประเทศ เด็กเกาหลีใต้ไม่มีใครทำงานแรงงานที่เสี่ยงอันตราย สกปรก และยากลำบาก สุดท้ายจึงต้องให้แรงงานต่างประเทศเข้าไปทำ ทั้งที่จริงเกาหลีใต้เองก็ขาดแรงงานไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะอุตสาหกรรมของประเทศใหญ่มาก สามารถสร้างเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า K-POP จึงจำเป็นต้องมีแรงงานมาเติมเต็มอยู่ตลอด
“ถ้าแรงงานไปแบบถูกกฎหมาย ต้องเข้าระบบ Employment Permit System (EPS) หรือระบบการอนุญาตจ้างงานแรงงานต่างชาติ ที่รัฐบาลเกาหลีใต้คิดขึ้นมา ผ่านข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของประเทศต้นทาง ขณะเดียวกันก็มีความกลัวกับแรงงาน จึงพยายามควบคุมแรงงานให้อยู่หมัดในมือ แต่ไม่ได้ให้สิทธิแรงงานให้เหมาะสม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมายังต้องอยู่ภายใต้รัฐหรือนายจ้างตลอด หลายคนต้องยอมหนีออกมา เลือกที่จะไปเป็นผีน้อยแทน เพราะไม่สามารถต่อรองอะไรได้ สถานการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะไทย แต่กัมพูชาและเวียดนามก็มีตัวเลขผีน้อยเพิ่มขึ้นเช่นกัน”
นายดนย์ยังกล่าวเสริมว่า สถานการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้อง เมื่อสถานการณ์ยังไม่ดี ไม่อยู่ในระดับมั่นคง แรงงานไทยก็ต้องเปลี่ยนประเทศไปเรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหามาตั้งแต่อเมริกา ยุโรป จนมาถึงเกาหลีใต้ การไปเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในภาพทั้งหมดของการอพยพของคนไทย “คนไทยไปทุกที่ที่มีโอกาส แต่โลกนี้ไม่ควรมีแรงงานผิดกฎหมายโดยธรรมชาติ แรงงานทุกคนเมื่อได้โอกาสสิทธิในการทำงาน ควรเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ซึ่งถ้าจะแก้ให้คนไทยได้ไปทำงานถูกกฎหมาย ก็ต้องแก้ตั้งแต่เรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ปากท้อง สวัสดิการ เพราะเรื่องพวกนี้ต่อให้วันหนึ่งเกาหลีใต้ไม่มีงานให้ทำแล้ว ก็จะเกิดเกาหลีใต้สองขึ้นมา”
สอดคล้องกับมุมมองผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ ที่มองว่าหากจะแก้ปัญหาผีน้อยต้องเริ่มต้นจาก ‘การคลายปมปัญหาในประเทศ’ ตั้งแต่การพัฒนาทักษะแรงงาน เร่งสร้างตลาดแรงงานใหม่เพื่อให้แรงงานไทยมีพื้นที่ในตลาดโลกมากขึ้น โดย ว่าที่ ร.ต.เสกสรร อานันทศิริเกียรติ ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ สมาคมไทยคดีศึกษาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้ มองว่ารัฐต้องมองโจทย์แรงงานในฐานะนโยบายเศรษฐกิจส่วนหนึ่งของไทย ไม่ใช่ทำแค่เรื่องการเติบโตเท่านั้น เพราะคุโณปการสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่มีต่อประเทศต่าง ๆ คือ การส่งเงินโอนกลับเข้ามา ช่วยเพิ่ม GDP ให้ประเทศ คนไทยเองนอกจากจะมีสถานะเกียรติภูมิ มีแบรนด์ที่ดี ต้องมีรายได้พอมีพอกินด้วย ดังนั้นจึงควรเพิ่มทักษะทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ภาษา เพื่อจะได้สามารถต่อรองให้ได้เงินมากขึ้น หรือทักษะอื่น ๆ เพื่อให้ทำงานได้มากกว่า 1 อาชีพ ซึ่งต้องอาศัยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการยกระดับศักยภาพความสามารถของแรงงานไทย
มีข้อมูลน่าสนใจว่าจำนวนช่วงอายุที่มีการจ้างแรงงานสูงมากในเกาหลีใต้ กลายเป็นคนช่วงอายุประมาณ 60 ปี ที่ไม่เลือกงานและพร้อมจะทำงาน จึงมีช่องว่างว่างานที่เป็นงานที่ยาก เสี่ยงอันตราย และสกปรก ไม่มีคนรุ่นใหม่ของเกาหลีไปทำงาน จึงเกิดช่องว่างให้แรงงานจากประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว เมียนมา ปากีสถาน เนปาล อุซเบกิสถาน มองโกเลีย บังกลาเทศ รวมประมาณ 16 ประเทศ เห็นตรงนี้เป็นโอกาสว่ามีความต้องการจากภายในเกาหลีเอง นอกจากนี้ว่าที่ ร.ต.เสกสรรยังเห็นว่าระบบภายในของเกาหลีใต้ค่อนข้างจะมีปัญหา ระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์ไม่มีมาตรฐาน บางครั้งนายจ้างกับลูกจ้างคุยกันเอง กลายเป็นว่าทำให้ทุกอย่างต่อรองกันไปมาและอยู่ห่างไกลจากมาตรฐานมาก และระบบ EPS ซึ่งเป็นระบบจ้างงานที่ถูกต้องก็มีข้อจำกัดในตัว เพราะไม่ระบุว่าพอได้ไปแล้วจะได้เป็นงานแบบไหน ต้องไปลุ้นที่หน้างานว่าจะได้นายจ้างแบบไหน ได้งานประเภทไหน
“เกาหลีใต้คงไม่ใช่ตลาดเดียวที่จะเป็นเป้าหมายอนาคตของตลาดแรงงานไทยเท่านั้น ยังมีประเทศและดินแดนอื่น ๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ อิสราเอล จอร์แดน คูเวต โอมาน ซาอุดิอาระเบีย ต้องมองอนาคตข้างหน้าด้วยกัน เพราะตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เกาหลีใต้เองเห็นแล้วว่าสังคมสูงวัยจะลดอะไรที่ใช้คน เค้าโตมาจากประเทศที่เป็นเกษตรกรรมแล้วพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเบามาเป็นอุตสาหกรรมหนัก แรงงานไทยในอนาคตอันใกล้จึงต้องวางแผน ในระยะ 2-3 ปีนี้เริ่มมีรายงานข่าวอัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตายในเกาหลีใต้อย่างเห็นได้ชัด เค้าเริ่มคิดที่จะเริ่มนำคนเข้ามา แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายว่าอาจจะไม่ใช่คนที่เข้ามาเป็นแรงงาน แต่ต้องเข้ามาช่วยคิดช่วยทำ ช่วยสร้างเทคโนโลยี ต้องการทักษะแรงงานขั้นสูงมาช่วยพัฒนานวัตกรรม ลดการพึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลไทยและแรงงานไทยที่ต้องกลับมาทบทวน” ว่าที่ ร.ต.เสกสรรระบุ
ด้านผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐเช่น นายอำนาจ พละพลีวัลย์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็นว่าในสายตาของตลาดแรงงานโลกหลายประเทศมองแรงงานไทยมีฝีมือ โดยเฉพาะก่อสร้าง เกษตร และงานบริการ รวมถึงชื่นชมว่าแรงงานไทยขยัน อดทน แต่ข้อจำกัดของภาษาที่ใช้เป็นใบเบิกทางของการทำงานกลายเป็นอุปสรรค ทำให้ขาดพลังในการต่อรอง หลายประเทศมีกฎระเบียบว่าอย่างน้อยจะต้องผ่านเกณฑ์ภาษา สื่อสารได้รู้เรื่องระดับหนึ่ง แม้ไทยอยากส่งออกแรงงานแต่ทักษะภาษาอาจเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้แรงงานไทยไม่สามารถได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่
ปัญหาผีน้อยถือว่ากระทบภาพลักษณ์ของไทย ทั้งไทยและเกาหลีใต้พยายามจะหาทางออกร่วมกันในการคัดกรองคนเข้าออกประเทศ รัฐบาลปัจจุบันพยายามจะเพิ่มความเข้มแข็งเรื่องหนังสือเดินทางของไทย เพราะว่าประเด็นพวกนี้ทั้งหมดไม่ใช่แค่เป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ เพราะหากมีคนไทยไปแล้วหนี ประเทศอื่น ๆ อาจลังเลเรื่องการให้ความร่วมมือกับไทย และส่งผลกระทบในวงกว้างเป็นลูกโซ่ ไม่ใช่แค่ว่าเป็นผีน้อยไทยเกาหลีใต้ เพราะประเทศต่าง ๆ ก็จับตามอง
“กระทรวงการต่างประเทศพยายามส่งแรงงานมีทักษะหรือกึ่งทักษะไป เช่น แทนที่จะส่งแรงงานไปเลี้ยงหมู แต่เราเน้นส่งแรงงานไปดูแลฟาร์มระบบปิด จริง ๆ แล้วแทบทุกประเทศ โดยเฉพาะซาอุดีอาระเบีย เราเพิ่งเปิดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ เขาต้องการแรงงานไทยจำนวนมาก เพียงแต่ว่าตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐเราไม่ต้องการส่งแรงงานที่ไม่มีทักษะไป อย่างเมื่อ 30-40 ปีก่อน เราก็พยายามจะส่งแรงงานที่มีทักษะกึ่งทักษะไป หรือในภาคบริการของเรา”
นอกจากการเพิ่มทักษะที่เพิ่มมูลค่าให้แรงงานแล้ว บทบาทของกรมการจัดหางานก็มีส่วนสำคัญในการขยายโอกาสให้กับแรงงานไทยสู่ตลาดโลก นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลว่า กรมการจัดหางานเร่งสร้างตลาดแรงงานใหม่เพื่อให้แรงงานไทยมีพื้นที่ในตลาดแรงงานโลกมากขึ้น ในปี 2567 นี้ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมีนโยบายที่จะขยายตลาดแรงงานเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานไทยเดินทางไปทำงานในประเทศที่มีอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง โดยจะเจรจาส่งแรงงานไทยไปทำงานในออสเตรเลีย และลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพิ่มเติมเพื่อส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาลไปทำงาน แก้ไขปัญหาแรงงานที่ถูกผลกระทบภัยสงครามจนต้องกลับมาจากอิสราเอลด้วยค่าจ้างที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม กระบวนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของไทยยังมีจุดที่ต้องปรับปรุง เพราะล่าช้ากว่าประเทศอื่น การจัดส่งแรงงานต้องรวดเร็วเพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดต่างประเทศ
“ณ วันนี้ตลาดแรงงานของเราต้องยอมรับว่าเราถูกแย่งตลาดแรงงานจากประเทศอื่น ๆ หลายประเทศไปเยอะพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บังกลาเทศ เพราะบางประเทศต้องการจ้างแรงงานต่างชาติในอัตราค่าจ้างที่ถูก ซึ่งถูกกว่าบ้านเราจนไม่แรงงานไทยไม่สามารถรับได้ นอกจากนี้ยังมีโฆษณาในสื่อโซเชียลว่าขณะนี้มีการเปิดรับสมัครแรงงานไปทำงานต่างประเทศทั้งในออสเตรเลียหรือประเทศอื่น ๆ ที่มีอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูงค่อนข้างมาก ดังนั้นขอให้ฟังข่าวจากหน่วยงานราชการของไทยแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น” อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว
ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศสะท้อนถึงโจทย์สำคัญของประเทศไทยที่ต้องเร่งดำเนินการวางแผนในระยะยาว รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ รองคณะบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มองว่าปัญหาผีน้อยสะท้อนถึงโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศไทยเรื่องค่าแรงของไทยที่น้อยมากเมื่อเทียบเกาหลีใต้ จึงไม่แปลกที่แรงงานไทยหลั่งไหลไปเกาหลีใต้ แม้ว่าจะเป็นอาชีพที่ไทยเองขาดแคลนเหมือนกัน
“ไทยเองก็กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในระยะยาวจะทำให้ไทยขาดแคลนแรงงาน ภาครัฐต้องหันมาทบทวน จะทำอย่างไรให้แรงงานเหล่านี้อยู่ในประเทศ เพื่อช่วยกันสร้างเศรษฐกิจ ให้คนเข้าถึงงานที่ดี และมีค่าตอบแทนที่สามารถดูแลครอบครัวได้ ภาครัฐควรผลักดันให้เรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ทำอย่างไรให้แรงงานไทยไม่ย้ายออกนอกประเทศ มีความเชื่อมั่นว่าสามารถมีงานที่ดี ดูแลครอบครัวได้แม้อยู่ในไทย เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงขาดแคลนแรงงานในอนาคต โดยกระทรวงแรงงานต้องเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ เร่งทำงานเชิงรุก เจรจาต่อรองเพื่อรักษาสิทธิให้แรงงานไทยมากกว่านี้ เช่น การเพิ่มจำนวนโควต้า เพิ่มกลุ่มอาชีพใหม่ ๆ โดยเฉพาะอาชีพสงวนของเกาหลีใต้ เพื่อให้แรงงานไทยสามารถเข้าไปทำงานได้ถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น”
เสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายถึงทางแก้ ทางออก ทางสว่าง ยิ่งตอกย้ำว่า ปัญหา “ผีน้อย” ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงแค่จากหน่วยงานใดแต่เพียงหน่วยงานเดียว แต่ต้องอาศัยการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน ในการแก้ทั้งจากที่ต้นตอและปลายทาง รวมทั้งต้องใช้ความร่วมมือทั้งจากไทยและเกาหลีใต้ เพราะหากไม่เช่นนั้นแล้ว เมื่อความจนทำคนไร้ตัวตน ปรากฎการณ์ ‘ผีน้อย’ ก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป
ขอบคุณข้อมูลสมาชิกกลุ่ม 5 หลักสูตร โครงการ "เพิ่มองค์ความรู้สื่อมวลชนเรื่อง:โลกาภิวัฒน์ในกระบวนทัศน์ใหม่ของสื่อ"
ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม (สกสว.) และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ